คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2532
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 291, 420, 575 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8, 31 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 10
คำฟ้องของโจทก์ได้ บรรยายว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งห้าเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยแต่ละคนมีตำแหน่ง อะไร มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตาม กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์อย่างไร และจำเลยทั้งห้าได้ กระทำผิดระเบียบข้อบังคับในเรื่องอะไรเมื่อใด และทำอย่างไร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในการกระทำแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่มีข้อความใด เคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่เข้าใจข้อหา ทั้งตาม คำให้การของจำเลยทั้งห้าก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าไม่เข้าใจข้อหาในตอน ใด จึงเป็นคำฟ้องที่ได้ บรรยายโดย แจ้งชัดถึง สภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้ากับบุคคลอื่นเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งในมูลละเมิด แต่ ศาลแพ่งได้ จำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะ จำเลยทั้งห้าออกจากสารบบความ เพราะได้ มีคำวินิจฉัยของอธิบดี ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง เช่นนี้ โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีใหม่ต่อ ศาลแรงงานกลางในเรื่องใด ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ ไม่มีกฎหมายใด บัญญัติไว้ว่าต้อง ฟ้องตาม เรื่องเดิม คำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการจ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจ โดยร่วมกันทำเรื่องเสนอและอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจให้แก่ ว. เป็นการไม่ชอบด้วย ข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนิน ธุรกิจ พ.ศ. 2518ที่แก้ไขแล้ว จึงเป็นการฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ข้อตกลงแห่งการจ้างซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนิน ธุรกิจ พ.ศ. 2518ข้อ 5 กำหนดให้จ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจแก่พนักงานเดินตลาดและบุคคลอื่นในกรณีที่เป็นผู้ติดต่อแนะนำลูกค้ามาสั่งซื้อ ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ เมื่อการสั่งซื้อ สั่งจ้าง ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปตามฟ้องจากโจทก์ของหน่วยงานในกองทัพบก เป็นการสั่งซื้อ สั่งจ้าง โดยตรงไม่ผ่านการติดต่อ ของ ว. ว. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าดำเนิน ธุรกิจ การที่จำเลยทั้งห้าได้ ร่วมกันเสนอและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจให้แก่ ว. จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าว ข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยเงินค่าดำเนิน ธุรกิจ พ.ศ. 2518นอกจากกำหนดไว้ในข้อ 5 ดังกล่าวแล้ว ในข้อ 7 กำหนดไว้ว่า ให้พนักงานเดินตลาดหรือบุคคลอื่นนำหลักฐานขอซื้อ ผลิตภัณฑ์ของลูกค้าซึ่งตน เป็นผู้ติดต่อแนะนำนั้นเสนอต่อ แผนกขายเพื่อพิจารณาตรวจสอบการที่จำเลยที่ 4 ซึ่ง เป็นหัวหน้าแผนกขายได้ ทำบันทึกข้อความเสนอเรื่องให้จ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจโดย ไม่มีผู้มาขอรับ และจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ซึ่ง เป็นคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจพิจารณาเสนอให้จ่ายเงินดังกล่าวได้ โดย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความชัดเจนก่อนว่า การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่ละครั้งตามฟ้อง ได้มีผู้มาติดต่อ แนะนำลูกค้ามาซื้อ จริงหรือไม่ และ ว. มีสิทธิได้รับเงินค่าดำเนิน ธุรกิจหรือไม่ทั้ง ว. ก็ไม่เคยทำเรื่องเป็นหลักฐานขอรับเงินค่าดำเนิน ธุรกิจเลยและตาม หลักฐานที่เสนอขออนุมัติเบิกเงินดังกล่าวส่วนหนึ่งระบุให้จ่ายแก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของกองทัพบกผู้สั่งซื้อ สั่งจ้างผลิตภัณฑ์ อาหารสำเร็จรูปตามฟ้องของโจทก์ อีกส่วนหนึ่งก็ระบุเพียงว่าให้จ่ายแก่ผู้ดำเนินการติดต่อ โดย ไม่ได้ระบุชื่อ ผู้มีสิทธิรับเงิน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 5 ซึ่ง รักษาการผู้อำนวยการโจทก์สั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าดำเนิน ธุรกิจให้ไปโดย ความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัด และไม่ปฏิบัติตาม ข้อบังคับของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งห้าจึงต้อง ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาให้แก่โจทก์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208 วรรคสอง
คำขอให้มีการพิจารณาใหม่ ต้องมีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 คำร้องของจำเลยระบุเพียงว่า ขณะจำเลยถูกโจทก์ฟ้อง จำเลยทำงานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จำเลยจึงขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา หากจำเลยไม่ขาดนัดพิจารณาจำเลยอาจสืบพยานถึงข้อเท็จจริงและศาลคงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ดังนี้คำร้องขอของจำเลยไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสอง ส่วนคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยอีกฉบับที่อ้างเหตุว่าจำเลยไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแสดงว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดเท่านั้นจำเลยมิได้อ้างเหตุผลที่จะแสดงให้เห็นเลยว่า หากมีการพิจารณาใหม่แล้วจำเลยอาจชนะคดีได้อย่างไร จึงยังคงเป็นคำร้องที่มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้ง ซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลอยู่นั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2089/2532
ประมวลรัษฎากร ม. 118
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีแทน โดยปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนแต่ไม่ได้ขีดฆ่า ย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จะใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานฟังว่าโจทก์มอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2088/2532
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86, 87, 95 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 10 วรรคสอง พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2503 ม. 7
จำเลยนำสินค้าคาร์บอลสตีลราวน์บาร์ล โลหะเหล็กกล้าชนิดแอลลอยประเภทพิกัดที่73.15ง. เข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2517 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ผ่านใบขนสินค้าและรับชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 จำเลยนำสินค้าโลหะเหล็กกล้าชนิดแอลลอยที่มีชื่ออย่างเดียวกันเข้ามาในราชอาณาจักรอีก เจ้าหน้าที่โจทก์ได้ตรวจสอบวิเคราะห์สินค้าดังกล่าว แล้วเรียกเก็บอากรขาเข้าในประเภทพิกัด73.10 โจทก์จะเอาผลการวิเคราะห์สินค้าที่จำเลยนำเข้าในปี พ.ศ. 2518 ไปเรียกให้จำเลยชำระอากรเพิ่มเติมในพิกัดที่ 73.10 สำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2517 หาได้ไม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 137, 267, 268 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 28 (2)
จำเลยที่1กู้เงินโจทก์โดยนำโฉนดที่ดินของจำเลยที่1ที่2มาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันต่อมาจำเลยที่1ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวถูกไฟไหม้หายไปแล้วจำเลยที่1ได้คัดรายงานประจำวันไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนโฉนดและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำยืนยันต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินถูกไฟไหม้สูญหายไปซึ่งเป็นความเท็จความจริงโฉนดดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ดังนี้การแจ้งความเท็จดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่กระทำต่อเจ้าพนักงานและตามคำแจ้งความก็มิได้แจ้งเจาะจงกล่าวถึงโจทก์อันจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงอีกทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมายโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 72, 80, 288
จำเลยแทงผู้เสียหายเนื่องจากจำเลยโกรธผู้เสียหายที่ไม่ยอมรับผิดชอบต่อ จำเลยและไม่ยอมเจรจากับจำเลยโดยดี ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว กรณีที่เกิดแทงกันขึ้นจึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยถูก ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วย เหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการบันดาลโทสะ การที่จำเลยใช้ อาวุธมีดปลายแหลม ซึ่ง มีความยาวส่วนใบมีด5 นิ้วครึ่ง ความกว้างตรง ส่วนกลางของใบมีด 1 นิ้วแทงถูก ผู้เสียหายที่ท้องลึก 2 เซนติเมตร ซึ่ง ความลึกส่วนนี้แม้ไม่ถึงอวัยวะภายในที่จะเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้ ก็ตาม แต่ เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยไปล้มนอนหงาย จำเลยได้ ติดตาม ไปนั่งคร่อมผู้เสียหายแล้วเงื้อมีดจะแทงผู้เสียหายอีก แต่ ผู้เสียหายจับมือของจำเลยไว้ทันแล้วแย่งมีดกัน โดย มีบุคคลอื่นได้ มาช่วย แย่งมีดด้วยซึ่ง หากผู้เสียหายจับมือของจำเลยไม่ได้ จำเลยจะต้อง แทงผู้เสียหายที่บริเวณอก และอาจทะลุถึง อวัยวะภายในซึ่ง เป็นอวัยวะที่สำคัญและอาจเป็นผลให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายและบุคคลอื่นมาช่วย แย่งเอามีดไปจากจำเลยได้ ทันทำให้การกระทำของจำเลยไม่บรรลุผลดัง เจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐาน พยายามฆ่า.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2083/2532
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 204, 387
โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยตามสัญญาซื้อขายกิจการและทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลย แต่สัญญาดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดให้สัญญาเลิกกันทันทีในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้จำนวนใดจำนวนหนึ่ง จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นถ้าโจทก์ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยก็บอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 387 สัญญาจึงยังไม่เลิกกัน ต่อมาโจทก์นำแคชเชียร์เช็คไปชำระหนี้ให้จำเลยแต่ไม่พบ จึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์นัดให้จำเลยพบกับโจทก์ แต่จำเลยไม่มาตามนัด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนี้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาได้ และโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่สถานะ เดิม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 4, 13, 62, 89, 106
เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ชนิดเม็ด จำนวน 9,300 เม็ดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายนั้นเป็นจำนวนเดียวกัน ส่วนเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงจำนวน7 ถุงนั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ชนิดเม็ดผลิตโดยใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อัดเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงให้เป็นเม็ดขณะเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมปรากฏว่าเครื่องจักรผลิตยากำลังทำงานอยู่ดังนั้น เมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดและชนิดผงดังกล่าว จำเลยทั้งสองมีไว้เพื่อผลิตเป็นชนิดเม็ดเพื่อขายนั่นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2072/2532
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 69, 288
ผู้ตายมาขอเงินจำเลยซึ่งเป็นภริยาไปซื้อสุราแล้วครั้งหนึ่งต่อมาผู้ตายกลับมาขอเงินไปซื้อสุราอีก เมื่อจำเลยบอกว่าไม่มีให้ผู้ตายก็บีบคอจำเลยและพูดว่า ไม่ให้จะฆ่า จำเลยหายใจไม่ออกจึงดิ้นไปมาและหยิบเอามีดโต้ซึ่งวางอยู่แถวหัวนอนฟันผู้ตาย เพื่อป้องกันขัดขวางไม่ให้ผู้ตายบีบคอจำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันตัว แต่การที่จำเลยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่ฟันผู้ตายที่ศีรษะ 4 แผล กะโหลกศีรษะแตกและถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2532
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 12, 13 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515
ตามข้อบังคับของจำเลยผู้เป็นนายจ้างว่าด้วยกองทุนบำเหน็จกำหนดว่า 'พนักงาน' หมายถึง พนักงานประจำตามอัตรากำลังขององค์การทอผ้า และ 'อายุการทำงาน' หมายความว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่พนักงานเข้าประจำทำงานจน ถึงวันพ้นตำแหน่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้บรรจุโจทก์เป็นนักเรียนอบรมโดยได้รับเบี้ยเลี้ยงในระหว่างเป็นนักเรียนอบรมตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม2512 และโจทก์ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำรายวันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ดังนั้นโจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานตามข้อบังคับดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2517 ก่อนหน้านี้โจทก์ยังมิได้เป็นพนักงานประจำของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธินำระยะเวลาระหว่างที่เป็นนักเรียนอบรมมารวมคำนวณเงินบำเหน็จได้
ในการคำนวณเงินบำเหน็จ ข้อบังคับของจำเลยมิได้กำหนดว่าค่าจ้างเดือนสุดท้ายของพนักงานที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างกี่วัน เพียงแต่ให้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือน หรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของอายุการทำงานเท่านั้น จึงต้องถือจำนวนค่าจ้างที่ได้รับจริง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทำงานเดือนละ 23 วัน แม้ระเบียบใหม่ของจำเลยจะระบุให้คิดเดือนหนึ่ง 26 วัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยออกใช้บังคับสำหรับพนักงานใหม่ที่ได้รับการบรรจุตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2519 โดยเฉพาะโดยจำเลยมีสิทธิที่จะกำหนดเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับพนักงานใหม่ได้หาใช่จำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างกับโจทก์ไม่โจทก์จึงมีสิทธิคำนวณค่าจ้างรายวันโดยคิดได้เพียงจำนวน 23วันเป็นหนึ่งเดือนเท่านั้น
จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์เดือนละ 400 บาท เป็นจำนวนแน่นอน ค่าครองชีพจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของพนักงานเช่นเดียวกับค่าจ้างเมื่อข้อบังคับของจำเลยไม่ได้ยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งว่าค่าจ้างไม่รวมถึงค่าครองชีพค่าครองชีพจึงเป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จให้โจทก์ด้วย.(ที่มา-ส่งเสริม)