คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2530
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2688/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 337
จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายได้ลักเอาสติกเกอร์ของห้างซึ่งจำเลยมีหน้าที่ช่วยดูแลกิจการอยู่ไป การที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับให้ห้าง 30 บาท ถ้าไม่ยอมจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้เงิน 30 บาทเพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการของห้างชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ได้การที่จำเลยให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับเท่ากับเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อตกลงเลิกคดีกัน จำเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2682 - 2683/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 25, 39 (4), 158 (5) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 5 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2510
โจทก์ระบุในฟ้องว่าเหตุเกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอคีรีรัฐนิคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตำบลดอนยางอำเภอปะทิวจังหวัดชุมพรเมื่อได้ปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม (ฉบับที่2) พ.ศ.2510 ซึ่งกำหนดไม้ชาเรียน หรือทุเรียนป่าเป็นไม้หวงห้าม ณ ที่ว่าการอำเภอปะทิวและที่ทำการกำนันตำบลดอนยาง อันเป็นที่เกิดเหตุแห่งหนึ่งแล้ว ถือได้ว่าได้มีการปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามดังกล่าวในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา5 แล้ว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 สองสำนวนในความผิดต่างกรรมกันศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณา มิใช่กรณีศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยอีกในการกระทำอันเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฟ้องซ้ำ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2682/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 25, 39 (4), 158 (5) พระราชบัญญัติป่าไม้ ม. 5 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2510
โจทก์ระบุในฟ้องว่าเหตุเกิดที่ตำบล ใด ไม่ปรากฏชัด อำเภอคีรีรัฐนิคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตำบลดอนยางอำเภอปะทิวจังหวัดชุมพร เมื่อได้ปิดประกาศสำเนา พ.ร.ฎ. กำหนดไม้หวงห้าม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2510 ซึ่งกำหนดไม้ชาเรียนหรือทุเรียนป่าเป็นไม้หวงห้าม ณ ที่ว่าการอำเภอปะทิวและที่ทำการกำนันตำบลดอนยางอันเป็นที่เกิดเหตุแห่งหนึ่งแล้ว ถือได้ว่าได้มีการปิดประกาศสำเนาพ.ร.ฎ. กำหนดไม้หวงห้ามดังกล่าวในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 5 แล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1336 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 85, 86, 104, 183, 243
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยคืนรถยนต์ที่โจทก์นำไปซ่อมท่อไอเสียแล้วหายไป หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคากับค่าเสียหาย จำเลยปฏิเสธความรับผิดว่าเพียงแต่รับจ้างทำท่อไอเสีย ไม่ได้รับฝากทรัพย์ โจทก์ประมาทเลินเล่อไม่นำรถยนต์กลับไปเอง แม้โจทก์และจำเลยจะรับกันว่าร้านรับทำท่อไอเสียของจำเลยอยู่ริมถนนซึ่งต้องทำท่อไอเสียที่ริมถนนจนเสร็จ และจอดรถยนต์รอโจทก์ทิ้งค้างคืนไว้แล้วถูกคนร้ายลักไปก็ตาม การวินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ครบถ้วนตามที่คู่ความนำสืบให้ยุติเสียก่อนตามประเด็นข้อพิพาทว่า เหตุที่รถยนต์หายไปเป็นความผิดของจำเลย และจำเลยจะต้องรับผิดหรือไม่ เพียงใด เมื่อโจทก์สืบพยานได้เพียง 3 ปาก ข้อเท็จจริงที่ปรากฏยังไม่ครบถ้วนที่จะฟังเป็นยุติตามประเด็นดังกล่าวได้ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้วพิพากษาคดีไปจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 496
ข้อตกลงที่ผู้รับซื้อฝากยินยอมที่จะขายทรัพย์คืนให้แก่ผู้ขายฝากเมื่อทรัพย์ที่ขายฝากได้หลุดเป็นสิทธิของผู้รับซื้อฝากแล้ว เข้าลักษณะเป็นคำมั่นจะขายทรัพย์ซึ่งบังคับกันได้ มิใช่เป็นการขยายเวลาไถ่ทรัพย์อันต้องห้ามตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2647/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 1299, 1304, 1337
เจ้าของที่ดินคนเดิมได้แสดงเจตนายกที่ดินพิพาทของตนบางส่วนให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ไปแล้วก่อนที่โจทก์ซื้อมา การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้าของเดิมปลูกสร้างอาคารและรั้วในที่พิพาทจึงเป็นการกระทำโดยปราศจากสิทธิที่จะอ้างได้โดยชอบ และทำให้โจทก์เสียหายเพราะปิดบังหน้าที่ดินและทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ที่จะไปสู่ถนนใหญ่ จึงต้องรื้อถอนออกไป.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2530
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 69, 6 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69วรรคสามขยายความมาตรา69 วรรคสอง เฉพาะความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ซึ่งเป็นมอร์ฟีน ฝิ่นหรือโคคาอีนที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม
จำเลยมีมูลฝิ่นหนัก 8.5 กรัม ไว้ในครอบครอง จึงต้องวางอัตราโทษตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ศาลล่างวางโทษจำเลยตามมาตรา 6แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่2) พ.ศ.2528 ซึ่งเป็นบทแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 69 วรรคสามและวรรคสี่ด้วยนั้นไม่ถูก ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเป็นไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่2)พ.ศ.2528 มาตรา 6.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2598/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 49, 84, 138
โจทก์จำเลยตกลงท้ากันว่า หาก ป. หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์สาบานได้ว่า จำเลยนำเช็คตามฟ้องมาแลกเงินสดจากโจทก์ตามฟ้องจำเลยยอมแพ้คดีหากป.ไม่ยอมสาบานไม่ว่าแห่งหนึ่งแห่งใดโจทก์ยอมแพ้คดี ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลได้รายงานต่อศาลว่าได้กล่าวคำสาบานและ ป. กล่าวคำสาบานตามที่คู่ความตกลงกันไว้แล้ว เมื่อจำเลยซึ่งไปฟังการสาบานได้ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ปรากฏข้อทักท้วงต่อเจ้าหน้าที่ศาลว่า ป. กล่าวถ้อยคำนอกเหนือจากที่มีการตกลงกัน จึงถือได้ว่าจำเลยรับรองความถูกต้องของรายงานเจ้าหน้าที่นั้นแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 509, 1330 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 296, 306
ที่ดินตาม ส.ค.1 ที่โจทก์นำยึดมาขายทอดตลาดปรากฏว่าจำเลยได้ขอออกโฉนดไปแล้ว และได้มีการโอนขายต่อไปอีกหลายทอดส่วนที่ดินที่โจทก์นำชี้ให้ยึดและนำออกขายทอดตลาดอยู่ถัดมาทางทิศใต้ของที่ดินตาม ส.ค.1 ที่โจทก์นำยึดและเป็นที่ดินของผู้อื่น กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชี้และให้ยึดที่ดินผิดแปลง ดังนั้นการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการขายที่ดินที่จำเลยไม่เคยมีสิทธิครอบครองและเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดินนี้ได้จากการขายทอดตลาดได้ยื่นคำร้องแสดงเจตนาขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดและขอให้คืนเงินแก่ผู้ร้อง ไม่ได้ขออ้างสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 การที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดและคืนเงินแก่ผู้ร้องจึงชอบแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2530
ประมวลรัษฎากร ม. 19, 71 (1)
มาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้หมายความถึงกับว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องมิได้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานใด ๆ มาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเลย เจ้าพนักงานประเมินจึงจะใช้อำนาจประเมินตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวได้เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากผู้ยื่นรายการนำเอกสารหลักฐานแต่เพียงบางส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของแบบรายการที่ยื่นมาแสดง เจ้าพนักงานประเมินก็ไม่มีโอกาสที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 71(1) ได้
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเพื่อตรวจสอบ โจทก์นำส่งแต่แฟ้มใบสำคัญคู่จ่ายเพียง 30 แฟ้ม ส่วนสมุดบัญชี สำเนาใบเสร็จรับเงินและสัญญาต่าง ๆ โจทก์ไม่ยอมส่งมอบอ้างว่าสูญหายโดยไม่อาจรับฟังได้ ลำพังใบสำคัญจ่ายไม่เพียงพอที่จะตรวจหากำไรสุทธิ และคำนวณภาษีที่โจทก์จะต้องเสียได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินอาศัยมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายจากโจทก์จึงชอบแล้ว.