คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2530

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4064/2530

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 49 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ม. ,

การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 นั้นจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นมูลเลิกจ้างว่าเป็นสาเหตุที่สมควรหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ เพราะการจ่ายค่าชดเชยเป็นผลตามมาภายหลังการเลิกจ้าง

อ.แอบกระโดดขึ้นรถโดยสารที่โจทก์ขับและมีเงินค่าโดยสารไม่พอโจทก์จึงเรียกเก็บเพียงครึ่งราคาโดยไม่ได้มีเจตนาทุจริตหรือเจตนาทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4062/2530

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 406, 407 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 10, 12 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 56 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 นั้น หากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมายังไม่เพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงเอง แต่ต้องให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่คู่ความอุทธรณ์ต่อไป

เดิมโจทก์ซึ่งทำงานเป็นกะจะได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดเฉพาะที่ทำงานตรงกับวันหยุด ต่อมาจำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะ กำหนดอัตราเงินเพิ่มให้แก่ผู้ปฏิบัติงานกะทุกคนโดยให้ทุกคนมีสิทธิได้รับทุกวันที่มาปฏิบัติงาน แม้จะไม่ตรงกับวันหยุดและโจทก์ได้รับเงินเพิ่มเป็นจำนวนมาก ดังนี้ แสดงว่าจำเลยมีเจตนาที่จะจ่ายเงินเพิ่มค่ากะดังกล่าวเป็นค่าทำงานในวันหยุดไปในตัวทั้งมิได้มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้กำหนดการจ่ายเงินค่ากะโดยให้รวมค่าทำงานในวันหยุดไว้ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยอีกได้.

โจทก์ได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีตามข้อบังคับเดิมจากจำเลยไปแล้วจำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะโดยให้มีผลบังคับย้อนหลังไปด้วย และโจทก์ได้รับเงินเพิ่มสำหรับผู้ปฏิบัติงานกะไปตามข้อบังคับใหม่ครบถ้วนแล้วซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับเงินที่ได้รับไปแล้วเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าทำงานในวันหยุดที่จ่ายตามข้อบังคับเดิมพร้อมดอกเบี้ยคืนจากโจทก์ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4033

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4033/2530

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 204, 537 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

แม้โจทก์ผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากเจ้าของเดิมยังไม่เคยเข้าครอบครองตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เช่าเลย แต่จำเลยผู้ครอบครองตึกแถวพิพาทได้ทำสัญญากับโจทก์ว่าจะยอมออกจากตึกแถวพิพาทภายในเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ยอมออก จึงเป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญานั้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2530

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 52, 123 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54

การที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า นายจ้างมีกิจการขนาดใหญ่ หากจะต้องยุบหน่วยงานที่ผู้ร้องซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ ก็สามารถโอนผู้ร้องไปหน่วยงานอื่นได้จึงไม่มีเหตุเพียงพอจะเลิกจ้างผู้ร้องได้นั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีหน่วยงานอื่นที่เหมาะสมแก่พนักงานหน่วยนี้รวมทั้งผู้ร้อง ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 54

การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์เป็นการคุ้มครองนายจ้างและลูกจ้างมิให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันแม้ตามมาตรา 123ซึ่งมุ่งหมายมิให้นยจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างจะได้กำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ 5ประการด้วยกันแต่ก็มิได้หมายความว่าเมื่อนายจ้างมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างไม่ได้

เมื่อการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยให้นายจ้างเลิกกิจการจำหน่ายและให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในบริเวณท่าอากาศยาน โดยมอบหมายให้บริษัทอื่นดำเนินการแทน นายจ้างจึงจำเป็นต้องยุบหน่วยงานนั้นและนายจ้างไม่มีตำแหน่งอื่นที่เหมาะสมแก่ลูกจ้างที่ประจำอยู่ในหน่วยงานดังกล่าว การที่นายจ้างขอเลิกจ้างลูกจ้างจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2530

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 608, 617, 618

จำเลยเป็นตัวแทนในประเทศไทยของบริษัท น. ผู้ขนส่งสินค้ารายพิพาทจากประเทศโรมาเนีย เมื่อเรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าเรือแห่งประเทศไทย ทางเรือได้แจ้งรายการสินค้าเสียหายให้บริษัท จ. ผู้ซื้อสินค้าทราบไม่ได้แจ้งจำเลยด้วย และบริษัท จ.เป็นผู้ว่าจ้างผู้อื่นไปขนถ่ายสินค้าจากเรือดังกล่าวเอง จำเลยมีหน้าที่เพียงแจ้งการมาถึงของเรือสินค้าให้บริษัท จ. ทราบเท่านั้น จำเลยไม่เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้ารายพิพาท โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้ากับบริษัท จ. จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยรับผิดได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4037

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4036 - 4037/2530

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 535 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 86, 88, 105, 145, 156

ในชั้นไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถา โจทก์และจำเลยต่างระบุสำนวนคดีที่เคยฟ้องร้องกันมาก่อนเป็นพยาน โดยจำเลยขอให้ศาลนำคดีดังกล่าวมารวมกับคดีนี้เพื่อประกอบการซักค้านด้วย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว และได้นำข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยและยกคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ดังนี้ เห็นได้ว่าสำนวนคดีก่อนนั้นได้เข้าสู่สำนวนคดีนี้ตั้งแต่ชั้นไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัย ศาลจึงงดชี้สองสถานและงดสืบพยาน แล้วหยิบยกเอาข้อเท็จจริงในสำนวนคดีก่อนมาประกอบการวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ในชั้นพิจารณาได้ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานนอกสำนวน

คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทคืนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า ฝากไว้กับจำเลยเป็นการชั่วคราว คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังว่าโจทก์โอนทรัพย์พิพาทให้จำเลยเนื่องในการสมรสคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวนี้ ย่อมผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนนั้นแม้คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทคืนจากจำเลยโดยอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า ยกให้โดยเสน่หา และขอถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณคดีก็ต้องฟังตามคำพิพากษาคดีก่อนว่า โจทก์ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยเนื่องในการสมรส เพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 535(4)โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลจึงชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ โดยไม่จำต้องชี้สองสถานและสืบพยานต่อไป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4028

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4028/2530

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46

ความเห็นของพนักงานสอบสวนที่วินิจฉัยว่าเหตุเกิดขึ้นเป็นการสุดวิสัยนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4036

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4036/2530

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 535 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 87, 104, 145

ในชั้นไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถา โจทก์และจำเลยต่างระบุสำนวนคดีที่เคยฟ้องร้องกันมาก่อนเป็นพยาน และจำเลยขอให้ศาลนำคดีดังกล่าวมารวมกับคดีนี้เพื่อประกอบการซักค้าน โจทก์เบิกความยอมรับว่าเคยฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทจากจำเลยตามคดีนั้น ทั้งศาลชั้นต้นได้นำสำนวนคดีดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัย ดังนี้ สำนวนคดีนั้นได้เข้าสู่สำนวนคดีนี้ตั้งแต่ชั้นไต่สวนคำร้องขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาแล้ว ศาลจึงชอบที่จะหยิบยกเอาข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยคดีนี้ได้ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานนอกสำนวน คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทคืนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่าฝากไว้กับจำเลยเป็นการชั่วคราว ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์ยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยเนื่องในการสมรส ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนนั้น โจทก์จึงฟ้องขอถอน คืนการให้เพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 535(4) เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นได้โดยไม่จำต้องชี้สองสถานและสืบพยานต่อไป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2530

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯได้กำหนดไว้ตาม ข้อ 45 โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวด้วยข้อ 36 ถึงข้อ 42ข้อ 43 และข้อ 44 ประการใด สิทธิของลูกจ้างตามข้อ 45จะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งต่างกว่าค่าทำงานในวันหยุดประเภทอื่นที่ลูกจ้างอาจเรียกร้องได้ในระหว่างทำงาน ดังนั้น ตำแหน่งหน้าที่ของลูกจ้างที่เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่มีเกณฑ์จำกัดสิทธิตามตำแหน่งหน้าที่ไว้ดังวันหยุดประเภทอื่น แม้โจทก์จะเป็นลูกจ้างชั้นผู้บังคับบัญชาก็มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2530

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 213, 1523 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 272

การที่จำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวนั้น โจทก์จะขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ระงับการมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีโจทก์ด้วยไม่ได้ เพราะโจทก์เพียงแต่มีสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสองทั้งโดยสภาพของคำขอดังกล่าวไม่เปิดช่องให้ศาลบังคับคดีได้.

« »
ติดต่อเราทาง LINE