คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2530
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 9, 108, 108 ทวิ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2518 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2527 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้อง โจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติให้ถูกระเบียบและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามความในมาตรา108 ไม่ เพราะจำเลยเข้ายึดถือ ครอบครอง ที่ดินภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ใช้บังคับแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1719 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 254 (2), 260 (2), 264, 271
การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ตามที่โจทก์ขอแต่สั่งให้งดการบังคับคดีไว้ก่อนจนกว่าจะสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์และจำเลยมิได้ขอให้ทุเลาการบังคับคดีนั้น แม้จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นอันมีผลให้คำสั่งที่ให้งดการบังคับคดีดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่เมื่อโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260(2) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์ก่อนพิพากษาตามมาตรา 254(2) โดยการห้ามโอน ขาย ยักย้ายทรัพย์มรดกพิพาทนั้นย่อมมีผลอยู่ต่อไป
การบังคับคดีนั้นเป็นอำนาจของคู่ความที่ชนะคดีจะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์อุทธรณ์และโจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาทเป็นจำนวนเงินเท่าใด โจทก์ย่อมมีสิทธิรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนจึงดำเนินการบังคับคดีต่อไป ทั้งการที่โจทก์ขอให้ห้ามโอนขาย ยักย้ายทรัพย์มรดกพิพาททั้งหมดก็เพราะโจทก์อ้างว่ามีสิทธิได้รับมรดก 1 ใน 3ส่วนทุกรายการจึงไม่เป็นการห้ามเกินความจำเป็น
คำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลสั่งจำหน่ายและแบ่งทรัพย์มรดกพิพาทซึ่งศาลได้มีคำสั่งห้ามโอน ขาย ยักย้าย ดังกล่าวอันพออนุโลมได้ว่าเป็นการร้องขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 นั้น เมื่อไม่มีเหตุผลเพียงพอ ศาลย่อมสั่งยกคำร้องโดยไม่จำต้องไต่สวน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 28, 162
แม้พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องจำเลยข้อหายักยอกแล้ว โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายก็มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดเดียวกันเป็นคดีใหม่ต่างหากได้ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และเมื่อศาลสั่งรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันแล้ว คดีของโจทก์ร่วมก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตาม ป.วิ.อ. มาตรา 162.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4011/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 1367, 1375, 1378 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 249
โจทก์ทำสัญญาขายที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าให้จำเลยและได้มอบที่พิพาทให้จำเลยเข้าครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาย่อมถือได้ว่ามีการส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้วจำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวแม้ต่อมาจะมีการทำสัญญาเพิ่มราคาที่ดิน แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบการครอบครองคืนโจทก์ สิทธิครอบครองในที่พิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่ นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายถึงวันฟ้องเกินกว่า 1ปี โจทก์จึงหมดสิทธิในที่พิพาท
การที่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญากันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น หมายถึงสัญญาวางเงินมัดจำตามฟ้องโจทก์ ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าเกิดจากการข่มขู่เป็นโมฆียะ การที่โจทก์นำสืบว่าสัญญาซื้อขายฉบับก่อนสัญญาวางเงินมัดจำเป็นโมฆียะและสามีโจทก์บอกล้างแล้วเป็นการนำสืบนอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4002/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 173 (1)
คดีแรก พ.ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินกับโจทก์และส. ได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมออกจากห้องแถวพิพาทและเรียกค่าเสียหายจำเลยในคดีนี้ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวโดยถูกศาลเรียกให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วยคนหนึ่งฟ้องว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ได้มาโดยซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขัดขวางไม่ให้โจทก์เก็บค่าเช่าห้องแถวพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับในคดีทั้งสองแตกต่างกันจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ฟ้องโจทก์ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 173(1).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4010/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 654 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ม. 3, 4 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืม รับจำนอง เดิมชื่อบริษัท ท.จำกัดต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเป็นบริษัทเงินทุน ท.จำกัด มีรายละเอียดตามหนังสือรับรองท้ายฟ้องดังนี้ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบริษัทเงินทุนและเป็นสถาบันการเงินตามพ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ.2523 อันจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้เป็นพิเศษ กรณีจึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 654 ที่ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีมาปรับแก่คดี
โจทก์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพุทธศักราช 2475 ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์หมดสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามสัญญา แต่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยโดยเหตุผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007 - 4008/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 28, 162
แม้พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องจำเลยข้อหายักยอกแล้ว โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายก็มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดเดียวกันเป็นคดีใหม่ต่างหากได้ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และเมื่อศาลสั่งรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันแล้วคดีของโจทก์ร่วมก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3966/2530
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ม. , ,
ลูกจ้างตกลงยินยอมให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของลูกจ้างในธนาคารและได้รับเงินเดือนโดยวิธีการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารตลอดมา เช่นนี้ เมื่อนายจ้างโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีของลูกจ้างที่ธนาคารในเดือนใดแล้ว นายจ้างก็หมดหน้าที่ในการจ่ายค่าจ้างในเดือนนั้น และเป็นการจ่ายเงินค่าจ้างโดยชอบแล้ว ลูกจ้างจะใช้สิทธิเบิกถอนเงินจากธนาคารเมื่อใดเป็นเรื่องส่วนตัวและมิใช่เป็นการปฏิบัติงานให้นายจ้าง แม้นายจ้างจะอนุญาตให้ลูกจ้างไปเบิกถอนเงินค่าจ้างจากธนาคารได้ก็เป็นเรื่องที่มิให้ลูกจ้างถูกกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่เท่านั้นการที่ลูกจ้างประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายขณะเดินทางไปเบิกเงินค่าจ้างจากธนาคารจึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างต้องจ่ายค่าทดแทนแก่ทายาทของลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 99, 1599, 1600, 1364
เจ้ามรดกทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากผู้อื่น จดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 25 ปี เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของเจ้ามรดกได้ไปขอโอนชื่อผู้เช่าจากเจ้ามรดกเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อสัญญาเช่นเดิมและเมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้วผู้เช่ามีสิทธิต่อสัญญาเช่าใหม่ต่อไปได้ การที่จำเลยที่ 1เช่าตึกแถวพิพาทจึงเป็นการสืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้เช่าเดิมนั่นเอง เมื่อจำเลยที่ 1ขอโอนชื่อดังกล่าวแล้วได้โอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นการขายสิทธิให้จำเลยที่ 2 แสดงว่าสิทธิการเช่าดังกล่าวมีราคาและถือเอาได้จึงเป็นทรัพย์สินและทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทที่จะแบ่งปันกันได้ เพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกสมควรตีราคาเป็นตัวเงินแล้วจึงแบ่งกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3985/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86, 335, 336 ทวิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 213, 225
จำเลยที่ 2 ขับรถสามล้อเครื่องพาจำเลยที่ 1 มายังที่เกิดเหตุขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังลักทรัพย์ในร้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 2จอดรถอยู่บริเวณหน้าร้านผู้เสียหายห่างประมาณ 6-7 เมตรและนั่งอยู่เฉย ๆ ข้างรถสามล้อเครื่อง มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเอาทรัพย์ผู้เสียหายไป มิได้คอยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1หรือให้ความร่วมมือโดยใกล้ชิดกับการที่จำเลยที่ 1ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 เพียงแต่รอคอยอยู่เพื่อจะขับรถพาจำเลยที่ 1 ออกไปจากที่เกิดเหตุ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1ก่อนและขณะกระทำผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
จำเลยที่ 2 เพียงแต่ขับรถสามล้อเครื่องมาส่งจำเลยที่ 1ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ผู้เสียหาย ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้รถสามล้อเครื่องดังกล่าวเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ พาทรัพย์ไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมจำเลยที่1จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิคงมีความผิดตามมาตรา335 วรรคสามเท่านั้น และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213ประกอบด้วยมาตรา 225.