คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2530
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2521
การที่จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำเตือนให้โจทก์จ่ายเงินค่าชดเชยแก่ลูกจ้างนั้น คำเตือนดังกล่าวเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ใช่วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการคุ้มครองแรงงาน โจทก์จะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ ไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์อันเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497
ผู้แทนโจทก์แจ้งต่อพนักงานตำรวจว่า 'จึงให้ผู้แจ้งมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัทนิติสิทธิ์ จำกัด โดยนายวรนิติส่งสวัสดิ์และนายสิทธิพงษ์สุขะวิมลาภทั้งทางนิติบุคคลและส่วนตัว ข้อหาออกเช็คโดยมีเจตนามิให้มีการใช้เงินตามเช็คจนคดีถึงที่สุด แต่ผู้แจ้งขอรับเช็คดังกล่าวไปดำเนินการอีกทางหนึ่งก่อน ยังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแต่อย่างใด' คำของผู้แทนโจทก์ที่ว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแต่อย่างใดนั้น ไม่ต้องกับลักษณะการร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)คำแจ้งความดังกล่าวจึงไม่เป็นการร้องทุกข์
โจทก์ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด โดยมิได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยไว้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3978/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
ผู้แทนโจทก์แจ้งต่อพนักงานตำรวจว่า "จึงให้ผู้แจ้งมา ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัทนิติสิทธิ์ จำกัด โดยนายวรนิติส่งสวัสดิ์และนายสิทธิพงษ์สุขะวิมลาภ ทั้งทางนิติบุคคลและส่วนตัว ข้อหาออกเช็คโดยมีเจตนามิให้มีการใช้เงินตามเช็คจนคดีถึงที่สุด แต่ผู้แจ้งขอรับเช็คดังกล่าวไปดำเนินการอีกทางหนึ่งก่อน ยังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแต่อย่างใด" คำของผู้แทนโจทก์ที่ว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแต่อย่างใดนั้นไม่ต้องกับลักษณะการร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) คำแจ้งความดังกล่าวจึงไม่เป็นการร้องทุกข์ โจทก์ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดโดยมิได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยไว้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3977/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)
การฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์ โดยปกติจะต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เพื่อจำเลยจะต่อสู้คดีได้ แต่ถ้า ไม่อาจทราบตัวเจ้าทรัพย์ที่แน่นอนได้ก็ไม่ต้องระบุชื่อ เจ้าทรัพย์ เพียงแต่กล่าวไว้พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องในคดีความผิดฐานลักทรัพย์โดยมิได้ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วก็พอจะทราบได้ว่าผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์คือผู้ใด โดยปรากฏชื่อ เจ้าของทรัพย์อยู่ในคดีขอฝากขัง ซึ่งจำเลยน่าจะเข้าใจได้ดีว่าทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของผู้ใด ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158(5).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 148
จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดมหาวิทยาลัย ร. มีหน้าที่ปฏิบัติงานช่าง เขียนแบบและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมายจำเลยได้รับแต่ง ตั้งจากมหาวิทยาลัยให้มีหน้าที่ควบคุมและตรวจงานก่อสร้างที่พักสำหรับนักศึกษา แล้วรายงานผลให้ประธานกรรมการตรวจการจ้างทราบ ซึ่งจำเลยอาจรายงานในทางให้คุณหรือให้โทษโดยเกี่ยงงอน ว่างานงวดสุดท้ายที่จำเลยเรียกร้องเงินจาก พ. ตัวแทนของผู้รับจ้างในการที่จำเลยจะลงนามตรวจผ่านให้นั้นยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาจ้างก็ได้จึงถือได้ว่า จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจเพื่อให้ พ. ให้เงินดังกล่าวแก่จำเลย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าเรียกร้องให้ผู้อื่นและได้มีการส่งมอบเงินให้จำเลยหลังจากที่คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับงานไว้แล้วก็ตาม.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3922/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 86 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 48, 73
จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ น. ได้ร่วมออกเงินให้ น.ไปหาซื้อไม้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ร่วมไปกับน. และช่วยขนไม้ของกลางบรรทุกรถ นั่งคุมไม้ของกลางมากับน.จนถูกจับกุม ถือได้ว่าจำเลยที่1ร่วมกับ น.มีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบุตรและหลานของน. น.ให้จำเลยที่ 1 ชวนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไปช่วยขนไม้ของกลางขึ้นรถ และจำเลยที่ 6 นั้น น.ขอร้องให้นำรถไปช่วยบรรทุกไม้ของกลางมาโดยน.ได้นั่งมาในรถด้วย จำเลยที่ 2ถึงที่ 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการครอบครองไม้ของกลางแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับ น.ครอบครองไม้ของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ น.และจำเลยที่ 1 อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 เท่านั้น.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3902/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 289
ผู้เสียหายทำร้าย จ.ซึ่งเป็นพวกของจำเลยทั้งสองก่อนเกิดเหตุ3-4 วัน แต่เจ้าพนักงานไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายชดใช้ค่าเสียหายแก่ จ.แล้วในวันเกิดเหตุ ผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนน พบจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ตรงหัวโค้งข้างถนน ขับรถต่อไปอีก 10 เมตรเห็นจำเลยที่ 2กับ จ.ยืนถืออาวุธปืนลูกซองยาวคนละกระบอก จ้องเล็งและยิงมาที่ผู้เสียหายถูกที่ขา ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองและ จ. รู้ล่วงหน้าว่าผู้เสียหายจะผ่านมาจึงมาดักรออยู่เพื่อจะฆ่าหากแต่เป็นการพบกันโดยบังเอิญ จำเลยทั้งสองและ จ.มิได้ซุ่มซ่อนตัวแต่ประการใดจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองและ จ.ร่วมกันยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1363, 1364 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 287, 288, 292, 305
ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับจำเลยทั้งแปลง มิได้มีกรรมสิทธิ์ส่วนไหนแยกต่างหากไปจากจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินของตนจากที่ดินที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำยึดไว้ แต่ชอบที่จะขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
ที่ผู้ร้องทั้งสี่ขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อนเพื่อผู้ร้องทั้งสี่ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมฝ่ายข้างมากจะได้ตกลงแบ่งที่ดินกับจำเลยก่อนนั้นเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินแล้ว หากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายอมก่อให้เกิดหรือโอน หรือเปลี่ยนแปลงสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ ก็ไม่อาจใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 จึงไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1332 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 208 วรรคสอง
คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3 อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 3 รับซื้อรถคันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหลักฐานทางทะเบียนถูกต้องและเป็นผู้ครอบครองรถในขณะที่นำมาขายในตลาดนัดซื้อขายแลกเปลี่ยนและมีการซื้อขายมาหลายทอด จำเลยที่ 3 รับซื้อมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต เป็นการซื้อในท้องตลาดจากพ่อค้าผู้ขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสองแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ 3 ในเรื่องเหตุที่ได้ขาดนัดโดยมิได้ทำการไต่สวนว่าจำเลยที่ 3 ลงวันนัดสืบพยานโจทก์ผิดพลาดไปตามคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 3หรือไม่ ย่อมเป็นการไม่ชอบ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3897/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 288
ผู้ตายเป็นสามีจำเลย ทำร้ายร่างกายจำเลยก่อนจนเซ ไปที่โต๊ะจำเลยจึงหยิบมีดปอกผลไม้ขึ้นมาขู่ แต่ผู้ตายเข้าแย่งจึงถูกมีดบาดมือผู้ตายใช้ปากกัดมือที่ถือมีดของจำเลยอย่างแรง จำเลยเหวี่ยงมือ มีดถูกคอผู้ตายโดยบังเอิญ ดังนี้ หากผู้ตายแย่งมีดได้อาจใช้ทำร้ายจำเลยถึงตาย ได้การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ.