คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2530
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3902/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 289
ผู้เสียหายทำร้าย จ.ซึ่งเป็นพวกของจำเลยทั้งสองก่อนเกิดเหตุ3-4 วัน แต่เจ้าพนักงานไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายชดใช้ค่าเสียหายแก่ จ.แล้วในวันเกิดเหตุ ผู้เสียหายขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนน พบจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ตรงหัวโค้งข้างถนน ขับรถต่อไปอีก 10 เมตรเห็นจำเลยที่ 2กับ จ.ยืนถืออาวุธปืนลูกซองยาวคนละกระบอก จ้องเล็งและยิงมาที่ผู้เสียหายถูกที่ขา ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองและ จ. รู้ล่วงหน้าว่าผู้เสียหายจะผ่านมาจึงมาดักรออยู่เพื่อจะฆ่าหากแต่เป็นการพบกันโดยบังเอิญ จำเลยทั้งสองและ จ.มิได้ซุ่มซ่อนตัวแต่ประการใดจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองและ จ.ร่วมกันยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3832/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1363, 1364 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 287, 288, 292, 305
ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกับจำเลยทั้งแปลง มิได้มีกรรมสิทธิ์ส่วนไหนแยกต่างหากไปจากจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินของตนจากที่ดินที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำยึดไว้ แต่ชอบที่จะขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด
ที่ผู้ร้องทั้งสี่ขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อนเพื่อผู้ร้องทั้งสี่ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมฝ่ายข้างมากจะได้ตกลงแบ่งที่ดินกับจำเลยก่อนนั้นเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินแล้ว หากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายอมก่อให้เกิดหรือโอน หรือเปลี่ยนแปลงสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ ก็ไม่อาจใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 305 จึงไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1332 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 208 วรรคสอง
คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 3 อ้างเหตุว่าจำเลยที่ 3 รับซื้อรถคันพิพาทจากจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหลักฐานทางทะเบียนถูกต้องและเป็นผู้ครอบครองรถในขณะที่นำมาขายในตลาดนัดซื้อขายแลกเปลี่ยนและมีการซื้อขายมาหลายทอด จำเลยที่ 3 รับซื้อมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต เป็นการซื้อในท้องตลาดจากพ่อค้าผู้ขายของชนิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1332 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสองแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ 3 ในเรื่องเหตุที่ได้ขาดนัดโดยมิได้ทำการไต่สวนว่าจำเลยที่ 3 ลงวันนัดสืบพยานโจทก์ผิดพลาดไปตามคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 3หรือไม่ ย่อมเป็นการไม่ชอบ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3897/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68, 288
ผู้ตายเป็นสามีจำเลย ทำร้ายร่างกายจำเลยก่อนจนเซ ไปที่โต๊ะจำเลยจึงหยิบมีดปอกผลไม้ขึ้นมาขู่ แต่ผู้ตายเข้าแย่งจึงถูกมีดบาดมือผู้ตายใช้ปากกัดมือที่ถือมีดของจำเลยอย่างแรง จำเลยเหวี่ยงมือ มีดถูกคอผู้ตายโดยบังเอิญ ดังนี้ หากผู้ตายแย่งมีดได้อาจใช้ทำร้ายจำเลยถึงตาย ได้การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3926/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 616, 657, 659 วรรคสอง, 770, 772
การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยรับเก็บสินค้าไว้เพื่อประโยชน์ของกรมศุลกากรในการเรียกเก็บภาษีเท่านั้น จำเลยจึงมิใช่นายคลังสินค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 770 เมื่อสินค้าเกิดเสียหายจึงไม่อาจนำบทบัญญัติอันว่าด้วยการรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 772 ประกอบด้วยมาตรา 616 มาใช้บังคับ
จำเลยจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมฝากทรัพย์เว้นแต่จะฝากเกิน 3 วัน จำเลยจึงจะคิดค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสินค้าเพิ่มขึ้นทุกวัน เพื่อเป็นการลงโทษให้เจ้าของสินค้ารีบนำสินค้าออกไป การที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฝากทรัพย์เมื่อเกินกำหนด 3 วัน นับแต่เจ้าของสินค้านำสินค้าเข้าไว้ในโรงพักสินค้าและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นทุกวันนั้น โดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่าจำเลยรับฝากทรัพย์เพื่อที่จะได้รับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์เท่านั้น จึงถือได้ว่าจำเลยรับฝากทรัพย์โดยมีค่าบำเหน็จ
ไม่ปรากฏว่าเกิดเพลิงไหม้สินค้าในโรงพักสินค้าเพราะเหตุใดสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากความสะเพร่าของบุคคลที่ทิ้งบุหรี่หรืออย่างอื่น จำเลยได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ มีหน่วยรักษาความปลอดภัยอยู่ภายนอกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง มีอุปกรณ์เคมีในการดับเพลิง มีคำสั่งห้ามสูบบุหรี่ภายในโรงพักสินค้าเมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วยามสายตรวจของจำเลยก็ได้วิทยุแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ มีรถดับเพลิงมาช่วยแต่ไม่อาจดับเพลิงได้ทันท่วงที เพราะเป็นเวลาปิดโรงพักสินค้าแล้วเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่อาจเปิดประตูโรงพักสินค้าได้โดยลำพัง จะต้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรร่วมเปิดด้วย จึงไม่อาจดับเพลิงถึงต้นเพลิง หรือสกัดเพลิงที่กำลังลุกไหม้ในโรงพักสินค้าได้ ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 659 วรรคสองแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3891/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 138, 140, 295
จำเลยนั่งดื่มสุราอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น 5-6 คน เมาสุราส่งเสียงเอะอะ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตักเตือนห้ามปราบและจะขอจับกุมวัยรุ่นกลุ่มนั้นกลุ้มรุมทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจจำเลยไม่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายด้วย แต่การที่จำเลยยืนดูอยู่ห่างประมาณ 5 เมตร ยกเก้าอี้เหล็กขึ้นเพื่อคอยช่วยเหลือเพื่อนของจำเลยในการต่อสู้ทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจ ถือได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันกับพวกทำร้ายร่างกายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 112, 164, 349 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 148
โจทก์ตกลงเล่นแชร์กับจำเลย จำเลยเป็นนายวงแชร์ เมื่อลูกวงแชร์คนใดเปียแชร์ได้จะได้รับเช็คจากจำเลยซึ่งเก็บมาจากลูกวงแชร์ทุกคนโดยจำเลยลงชื่อสลักหลังและรับผิดชอบกรณีเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์เปียแชร์ได้และนำเช็คที่ได้รับจากจำเลยบางฉบับไปชำระหนี้แก่นาย ก.แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมานาย ก. ถึงแก่กรรมนาง ว. ภริยานายก. ฟ้องจำเลยในฐานะผู้สลักหลังให้ชำระเงินตามเช็ค ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่นาง ว. ไป เช่นนี้ ถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าแชร์ตามเช็คดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ตามข้อตกลงในการเล่นแชร์และอายุความของสิทธิเรียกร้องในกรณีผิดสัญญาเล่นแชร์นี้มีกำหนดสิบปี
การที่โจทก์จำเลยมีข้อตกลงกันให้โจทก์นำเช็คที่ได้รับจากการเล่นแชร์ไปเรียกเก็บเงินดังกล่าวนั้นไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ และโจทก์มิใช่คู่ความในคดีที่นางว.ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลย ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่นางว. ฟ้องจำเลยดังกล่าว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2530
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 68
เวลาประมาณ 23 นาฬิกาของคืนเกิดเหตุผู้ตายพกมีดปลายแหลมตัวมีดยาวคืบเศษ และเพื่อนผู้ตายถืออาวุธปืนมาร้องเรียกจำเลยให้ออกไปนอกบ้าน ถ้าไม่ออกไปจะเข้ามาฆ่าจำเลย เมื่อจำเลยไม่ยอมออกไป ผู้ตายถีบประตูระเบียงบ้านจำเลยอยู่ประมาณ 10 นาทีเพื่อจะพังเข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย1 นัดในระยะห่างกันเพียง 3 วา พฤติการณ์ฟังได้ว่าผู้ตายกับพวกมีเจตนาจะเข้ามาทำร้ายจำเลย นับว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจำเลยชอบที่จะใช้สิทธิป้องกันตัวได้ และการที่จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงเพียง 1 นัดในทันทีนั้น เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3738 - 3739/2530
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 5 (2), 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 54
จำเลยที่ 1 ถูกอัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 3(อัยการจังหวัดมหาสารคาม) ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดมหาสารคาม)ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ และไม่หยุดช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงาน ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ฯ มาตรา 160 วรรคแรก ส่วนข้อหาขับรถโดยประมาทยกฟ้องคดีถึงที่สุด ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บาดเจ็บในคดีอาญาหรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาของศาลมณฑลทหารบกที่ 3(ศาลจังหวัดมหาสารคาม) ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(8) โดยอัยการได้ฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 แม้โจทก์ที่ 2 จะมิได้เข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว แต่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญานั้น ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารพ.ศ. 2498 มาตรา 54และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46เมื่อคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2และไม่มีความรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2อ้างว่าเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ด้วยส่วนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถคันเกิดเหตุนั้น ในคดีอาญามิใช่เป็นผู้บาดเจ็บจากการที่รถชนกัน และมิใช่อยู่ในฐานะผู้เสียหายโดยการจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4),5(2) และมิใช่เป็นคู่ความเดียวกัน ผลของคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ที่ 1ในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2530
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ม. 36, 39, 81 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 215, 225
จำเลยได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนญวนอพยพ ต่อมาจำเลยหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองมาตรา 39 ให้ถือว่าการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเป็นอันสิ้นสุด ดังนี้เมื่อจำเลยกลับเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรอีกก็ต้องเป็นความผิดตามมาตรา 81 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายมีคำสั่งอนุมัติให้ถอนชื่อจำเลยจากทะเบียนญวนอพยพคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะการถอนชื่อจำเลยออกจากทะเบียนญวนอพยพกับการอนุญาตถูกเพิกถอนเป็นคนละกรณีกัน ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15,215,225