คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2525

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484

จำเลยนำไม้มะค่าโมงของกลางรองกระสอบข้าวโพด เห็นได้ว่าเป็นการพรางเพราะพื้นฉางเป็นซิเมนต์ย่อมไม่ต้องใช้ไม้หนาอย่างดีและมีราคา ส่วนไม้ที่ปูร้านสีข้าวโพด ก็ไม่ได้ตอกตะปูรื้อออกได้ง่าย ยังมิได้เปลี่ยนสภาพเป็นเครื่องใช้ ดังนี้ ไม้ของกลางเป็นไม้แปรรูป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 4 (1), 288 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 22 (3), 26, 27, 153, 158

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ตั้งอยู่ในจังหวัดตราด โจทก์ได้ตกลงกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดอ. ให้โจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แล้วโจทก์จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้ห้าง และห้างใช้ที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งโรงน้ำแข็งของห้าง เมื่อเลิกห้างแล้วถ้าหากมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ ก็ให้โจทก์ออกเงินเข้ากองทรัพย์สินของห้าง 50,000 บาทแล้วห้างจะโอนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ ต่อมาห้างถูกศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและ พิพากษาให้ล้มละลายคดีถึงที่สุด โจทก์ขอชำระเงิน 50,000 บาท ให้แก่ห้างและขอให้ห้างจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของห้างไม่ยอมปฏิบัติตามที่โจทก์ขอ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดตราดขอให้บังคับจำเลยรับเงิน 50,000 บาท จากโจทก์ แล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์กับขอให้บังคับห้างออกไปจากที่ดินพิพาทด้วย ดังนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 26,27 ซึ่งปฏิบัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ก็ห้ามเฉพาะหนี้เงิน ไม่ได้ห้ามฟ้องหนี้เกี่ยวด้วยการกระทำงดเว้นกระทำ หรือส่งมอบทรัพย์อื่นนอกจากเงิน ซึ่งเจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังเช่นฟ้องโจทก์ ในคดีนี้ และตามคำฟ้องของโจทก์ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 153 โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดตราด ซึ่งเป็นศาลที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตไม่จำต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เด็ดขาด เพราะโจทก์มิได้ฟ้องว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสิทธิยึดที่ดินพิพาทและขอให้สั่งถอนการยึด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 528, 529, 531 (2), 531 (3), 535 (2)

โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยโจทก์จดทะเบียนเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตของโจทก์ ต่อจากนั้นจำเลยได้เข้าทำนาในที่ดินที่ได้รับยกให้ และแบ่งข้าวเปลือกที่ ได้จากการทำนาให้แก่โจทก์ปีละ 30 ถัง การให้ในลักษณะเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดภาระเกี่ยวกับตัวที่ดินที่โจทก์ยกให้ตลอดชีวิตของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการให้โดยเสน่หา แต่เป็นการให้ที่มีค่าภาระติดพัน นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 528,529 โจทก์จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1515

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1515/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438, 537

การที่โจทก์กู้เงินจากธนาคารมาซื้อที่พิพาทซึ่งมีบ้านของจำเลยปลูกอยู่โดยละเมิด โดยโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารนั้น การที่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารเกิดจากโจทก์ไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้ธนาคาร หาใช่เกิดจากจำเลยยังอยู่ในที่พิพาทไม่ ดอกเบี้ยจึงไม่ใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87

โจทก์ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลย การที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์จำเลยและบุคคลอื่นเข้าหุ้นส่วนกันรับเหมาก่อสร้างโรงเรียน อันเป็นการนำสืบถึงความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลอันเป็นเหตุชักนำให้โจทก์เข้าทำสัญญาค้ำประกันและจำนอง โจทก์ย่อมนำสืบได้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวไว้ในฟ้อง และการนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ประเด็นดังกล่าวนี้ หาจำต้องนำสืบถึงรายละเอียดและแสดงพยานหลักฐานการลงหุ้น การประมูลการก่อสร้างหรือรายละเอียดอย่างอื่นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1473

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1473/2525

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 54 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อไม่นำแฟ้มเรื่องไปด้วยเป็นการขัดกับเหตุผลและข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพราะเหตุอื่น อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงโดยบิดเบือนคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์หรือโจทก์มีพฤติการณ์ไม่สุจริตอันเป็นการวินิจฉัยโดยปราศจากหลักฐานอ้างอิง เมื่อศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยดังที่โจทก์อุทธรณ์ อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นข้อที่ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

น. ขอกู้เงินจำนวน 320,000 บาทจากธนาคารจำเลยโดยจำนองที่ดินเป็นประกัน จำเลยให้ ว.ส.และธ. พนักงานของจำเลยไปตรวจสอบที่ดิน พนักงานดังกล่าวไปตรวจสอบแล้วทำรายงานว่าที่ดินที่จะจำนองประกันหนี้เงินกู้ติดซอยสาธารณะจำเลยจึงให้ น. กู้เงินไปตามที่ขอกู้ ต่อมา น. ขอกู้เงินเพิ่มอีก 200,000 บาท อ้างว่าได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินแล้ว จำเลยจึงให้ ว.ศ. และโจทก์เป็นผู้ไปตรวจสอบ โจทก์กับพวกไปตรวจสอบแล้วร่วมกันทำรายงานว่ามีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์จริง จำเลยจึงให้ น.กู้เงินเพิ่มอีก ในที่สุดปรากฏว่าที่ดินของ น. ไม่ติดซอยสาธารณะ ไม่มีทางเข้าออก และไม่มีสิ่งปลูกสร้างดังนี้ แม้ครั้งแรกโจทก์จะไม่ได้ร่วมไปตรวจสอบด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้โจทก์ไปตรวจสอบว่ามีอาคารพาณิชย์ปลูกอยู่ในที่ดินของ น. จริงหรือไม่ โจทก์ก็ย่อมจะต้องตรวจเรื่องเดิมว่าที่ดินของ น. อยู่ตรงจุดใด เพื่อที่จะทราบโดยแน่ชัดว่ามีอาคารปลูกอยู่จริงหรือไม่ แต่โจทก์ไม่สนใจตรวจดูเรื่องเดิม กลับเชื่อตามที่ ว. ชี้ว่าที่ดินของผู้อื่นซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างอยู่เป็นของ น. จึงถือได้ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

การที่โจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อว่ามีหลักทรัพย์อันเป็นประกันคืออาคารพาณิชย์ปลูกในที่ดินที่จำนองไว้เดิมจริงตามที่ น. อ้าง จำเลยจึงให้ น. กู้เงินไปอีก 200,000 บาท เพียงเท่านี้ถือได้แล้วว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเมื่อจำเลยบังคับจำนองแล้วจะได้รับการชำระคุ้มกับหนี้หรือไม่ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเหตุอันสมควรที่จำเลยจะพึงเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ข้อตกลงตามหนังสือสัญญาจ้างมีว่า 'กำหนดสัญญาว่าจ้างอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี' นั้น สัญญาจ้างหาสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนด 3 ปีไม่ แต่ยังมีผลต่อไปจนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญา สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น

เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอของโจทก์ในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า โจทก์มิได้อุทธรณ์เพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเป็นเงิน 30,000 บาทแก่โจทก์ ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างดังกล่าวหาได้ไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

ค่าพาหนะที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เฉพาะวันที่โจทก์ไปทำงานแม้จะมีจำนวนเท่ากันทุกเดือน ก็ไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

บริษัทจำเลยมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า เลขานุการมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ตามวันซึ่งบุคคลผู้ที่ตนทำหน้าที่เป็นเลขานุการหยุดพักผ่อนประจำปี และจำเลยได้วางระเบียบไว้ว่าจำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่มาทำงานในวันหยุดโดยจำเลยมิได้ขอให้มาทำงาน ดังนั้นการที่โจทก์มาทำงานในวันที่บุคคลผู้ที่โจทก์เป็นเลขานุการหยุดเป็นบางวันโดยจำเลยมิได้ขอให้โจทก์มาทำ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยให้โจทก์ทำงานในวันหยุดพักผ่อน อันจำเลยจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน

ปัญหาว่าศาลวินิจฉัยคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1466/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 300

ศาลชั้นต้นออกหมายจับ ส.ตามคำร้องของโจทก์ในฐานะที่ส. เป็นบริวารของจำเลยและไม่ออกไปจากตึกแถวพิพาทตามคำบังคับของศาล เพื่อให้ ส.ปฏิบัติตามคำบังคับ.ซึ่งส. อาจถูกกักขังจนกว่าจะออกไปจากตึกแถวพิพาท แต่ไม่เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันจับ. ส. จะขอประกันตัวได้ภายในเงื่อนไขที่ว่า ตนยอมที่จะปฏิบัติตามคำบังคับ ทั้งตามคำร้องที่นายประกันยื่นต่อศาลเพื่อขอประกันตัว ส. ก็ระบุไว้ชัดว่า เพื่อให้ ส. ออกไปปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ และคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ประกันตัวก็ระบุว่าเพื่อให้ ส. ออกไปปฏิบัติตามคำบังคับภายใน 20 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง ฉะนั้น ข้อที่ว่า ส. จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกัน เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดถือว่านายประกันผิดสัญญาประกัน ศาลริบเงินประกันนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1465/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 419

โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยเนื่องจากมูลหนี้ฐานละเมิดที่โจทก์ ทำเงินของจำเลยขาดบัญชีไป การชำระเงินในลักษณะเช่นนี้ย่อมมีผลตามกฎหมายขึ้นทันทีว่า ถ้าโจทก์ชำระเงินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่โจทก์จะต้องรับผิด จำเลยก็ต้องคืนเงินส่วน ที่เกินให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ สิทธิของโจทก์ที่จะ เรียกเงินคืนจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระเงินแก่ จำเลยแล้ว นับแต่วันนั้นถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน กว่าสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419

« »
ติดต่อเราทาง LINE