คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1107/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368, 625
การชำระหนี้อันเกิดจากสัญญารับขนของนั้น กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้ทำความตกลงล่วงหน้า ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เมื่อตัวแทนของโจทก์ลงลายมือชื่อแสดงความตกลงด้วยโดยชัดแจ้งว่า ถ้าเรือไม่สามารถรับขนสินค้าของโจทก์เนื่องด้วยเหตุสุดวิสัยหรือไม่มาถึงท่าเรือกรุงเทพอย่างปลอดภัย ผู้รับขนไม่ต้องรับผิด ดังนั้นการที่เครื่องยนต์เรือเกิดชำรุดเสียหาย ไม่อาจมาถึงท่าเรือในเวลาที่กำหนดอย่างปลอดภัยผู้รับขนจึงไม่ต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227
คดีปล้นทรัพย์ เหตุเกิดเวลากลางวัน แม้โจทก์มีผู้เสียหายปากเดียวเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่ามีโอกาสเห็นหน้าจำเลยนาน1 นาที ไปแจ้งพนักงานสอบสวนว่าจำหน้าคนร้ายได้ รุ่งขึ้นเมื่อเห็นจำเลยก็ชี้ให้ตำรวจจับกุมตัว ดังนี้ฟังลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. , , , , , พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 8 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 75
เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานว่าด้วยเงินทดแทน ได้กำหนดขั้นตอนการเรียกร้องและการสั่งการในเรื่องเงินทดแทนไว้แล้ว.โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวเสียก่อน ไม่ชอบที่จะฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนทันทีโดยมิได้อุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมแรงงานก่อน เพราะเป็นการขัดกับขั้นตอนในการที่จะนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคท้าย
คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของอธิบดีกรมแรงงานที่สั่งยืนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน ไม่ลบล้างคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนที่ยังมีผลบังคับโจทก์ผู้เป็นนายจ้างอยู่ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานเงินทดแทน และคำสั่งอุทธรณ์ของอธิบดีกรมแรงงานพร้อมกันได้
อธิบดีกรมแรงงานเป็นผู้แทนของกรมแรงงานอันเป็นนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับปัญหาแรงงาน โดยกระทำในนามของกรมแรงงานนั่นเอง กรมแรงงานย่อมอาจถูกฟ้องเป็นจำเลยในกรณีที่ผู้แทนกระทำการดังกล่าวแทนได้
ลูกจ้างโจทก์ได้รับอันตรายในขณะเดินทางไปเข้าเวรสำรองฉุกเฉินพนักงานขับรถของโจทก์ ณ ที่ทำการแขวงสารวัตรรถจักรธนบุรี ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ เพราะยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่หรือลงมือทำงานให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1309/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
โจทก์เป็นยามมีหน้าที่เฉพาะเฝ้าดูแลโกดังมิให้เกิดความเสียหายไม่ปรากฏว่ามีหน้าที่ดูแลหรือป้องกันมิให้มีการเล่นการพนันในสถานที่ของบริษัทจำเลยด้วย แม้โจทก์จะเป็นผู้ยินยอมให้มีการเล่นการพนันในตู้ยามซึ่งเป็นสถานที่ของบริษัทจำเลย ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง หรือกระทำการอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตแต่อย่างใด เมื่อจำเลยเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1281/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 167, 173 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 290 ประมวลรัษฎากร ม. 12, 19, 20, 23, 50, 52, 59, 84, 85 ทวิ, 88 ทวิ (1), 88 ทวิ (2)
ในกรณีที่จำเลยยื่นแบบแสดงรายการการค้า โดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบรายการการค้า หรือบางเดือนมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีการค้าของจำเลยได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าตามมาตรา 88 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หาใช่ 5 ปีตามมาตรา 88 ทวิ (1) ไม่
ตามมาตรา 84,85 ทวิ กำหนดให้จำเลยต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการค้าเป็นรายเดือนภาษีไม่ว่าจะมีรายรับหรือไม่ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ดังนั้นวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าของจำเลยเดือนแรกสุดของภาษีการค้าปี พ.ศ.2511 คือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2511 การที่เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินและแจ้ง การประเมินภาษีการค้าประจำปี พ.ศ.2511 ถึง 2514 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2519 และจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2520 จึงอยู่ภายในกำหนด 10 ปีตามมาตรา 88 ทวิ (2) แล้ว
หากเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีเชื่อว่าจำเลยยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายปี พ.ศ.2511 ถึง 2514 ไว้ไม่ครบถ้วน โดยปรากฏว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลปีแรก พ.ศ.2511 ยื่นเมื่อวันที่12 มิถุนายน 2512 ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณที่จ่ายซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องหักไว้ตามมาตรา 50 และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการแสดงการหักภาษีพร้อมกับชำระภาษี ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ภายใน 7 วัน นับแต่วันจ่ายเงินตามมาตรา 52 และ 59 แต่จำเลยมิได้ยื่นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 23 มีนาคม 2515 เรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยไปไต่สวนและให้นำบัญชีพร้อมด้วยเอกสารไปส่งมอบให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ จึงเป็นการออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนภายใน 5 ปี ถูกต้องตามมาตรา19 และ 23 แล้ว ส่วนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินให้จำเลยเสียภาษีเพิ่ม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2519 และจำเลยได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2520 ก็ชอบด้วยมาตรา 20 แล้ว การประเมินตามมาตรา 20 ไม่ จำต้องยื่นภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันยื่นรายการ เมื่อนับจากวันที่จำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจนถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินเสียภาษีเพิ่ม ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องเก็บภาษีของเจ้าพนักงานจึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ภาษีที่ค้างภายในกำหนด 10 ปีแล้ว จึงมีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้ตามที่เรียกร้อง อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 173 เพราะหากจำเลยไม่นำเงินภาษีไปชำระภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะสั่งยึด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำมาชำระค่าภาษีค้างได้ โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องศาลตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงการที่ผู้ร้องใช้สิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีอากรโดยยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2522 จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และไม่เป็นหนี้บุริมสิทธิ ก็ขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ได้ (อ้างฎีกาที่ 1879/2518)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2525
พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
คำสั่งของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมิได้ออกโดยอาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การที่ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มายกเลิกพระราชบัญญัติ นี้ จึงหากระทบกระเทือนถึงคำสั่งนั้นไม่
คำสั่งที่มีความว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยและเงินบำเหน็จ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชยแต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียวนั้น ถือได้ว่าได้จ่ายเงินชดเชยให้เช่นกันเพียงแต่จ่ายรวมไปกับเงินบำเหน็จเท่านั้น และในกรณีเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็จะจ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับเงินชดเชย ดังนี้ การจ่ายเงินบำเหน็จดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินชดเชยรวมไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 448, 1336
การไฟฟ้านครหลวงโจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยพนักงานยักยอกไปคืนจากจำเลย เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอาศัยมูลละเมิดจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความตาม มาตรา 448 แต่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 887
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อขึ้น จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อวินาศภัยอันจำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่ผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1283/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 249 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438, 448, 1336
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับขี่ และนำรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดเก็บไว้ ณ สถานที่ซึ่งมิใช่สถานที่เก็บรถยนต์ของโจทก์ เป็นเหตุให้หายไปขอให้ใช้ราคารถยนต์ดังกล่าว เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยใช้ราคารถยนต์ในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ ใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 หาใช่เป็นการ ฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดไม่
การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่ค่าเสียหาย แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนโจทก์ฟ้องให้จำเลยใช้ราคารถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน ที่ไม่ ตกอยู่ในอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยทำหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ นำรถยนต์ของโจทก์ไปจอดไว้ ณ สถานที่ซึ่งมิใช่สถานที่เก็บจอด อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งจำเลยทราบแล้ว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษารถยนต์ เป็นเหตุให้รถยนต์หายไปจำเลยจึงต้องใช้ราคารถยนต์นั้นแก่โจทก์
การฟ้องให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์เนื่องจากจำเลยทำให้ทรัพย์ของโจทก์หายไป ไม่มีกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาการและวางแผน และผู้อำนวยการโครงการระบบขนส่งมวลชนของจำเลย มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาแก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานตามโครงการของจำเลย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้สั่งการให้บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาของจำเลยสำรวจออกแบบเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญาแต่กลับได้ความว่า โจทก์ได้สั่งให้บริษัทเสนอราคาทำงานทำความตกลงกับจำเลยก่อนลงมือทำงาน แต่บริษัทได้ทำการสำรวจออกแบบไปก่อนเอง ประกอบกับจำเลยก็มิได้ยอมรับการทำงานเพิ่มของบริษัทและปฏิเสธที่จะจ่ายเงินเพิ่ม ดังนี้จะถือว่าการปฏิบัติงานของโจทก์เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับของจำเลยมิได้