คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2369/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 19
จำเลยจ่ายเงินค่าครองชีพให้พนักงานที่มีเงินเดือนไม่เกินที่กำหนดไว้โดยเสมอหน้ากัน. เป็นจำนวนแน่นอนประจำทุกเดือนมีลักษณะอย่างเดียวกับเงินเดือนของพนักงานเงินค่าครองชีพจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างหรือเงินเดือน
เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยตามอุทธรณ์ของจำเลยกล่าวเฉพาะ 'ค่าล่วงเวลา' และ 'ค่าชดเชย'เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึง 'ค่าทำงานในวันหยุด' แต่ประการ ใด จึงนำข้อตกลงนี้มาใช้เป็นหลักในการคำนวณค่าทำงานในวันหยุดของโจทก์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 357
จำเลยที่ 1 รับกระบือไว้จากคนร้ายโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมาแล้วนำไปขายและรับชำระราคา ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งช่วยจูงกระบือร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 ตามคำขอร้อง ถือไม่ได้ว่าร่วมครอบครองช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่ายกระบือ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2525
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 172, 185, 227
ว. ประจักษ์พยานของโจทก์เป็นชาวญวนอพยพไปอยู่ในประเทศที่สาม ไม่ได้มาเบิกความในศาล จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของ ว.ไม่ได้ เพราะการพิจารณาและสืบพยานในศาลต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่ที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172
จำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวน แต่ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาโจทก์ต้องสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดดังฟ้อง เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด ก็ต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 และ 227
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456, 537, 538 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55
บ้านพิพาทปลูกอยู่ในที่ดินของวัด โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกันโดยไม่มีเจตนาจะรื้อถอนออกไปจากที่ดิน จึงเป็นการ ซื้อขายบ้านพิพาทอย่างอสังหาริมทรัพย์
แม้ในสัญญาซื้อขายบ้านพิพาทข้อ 3 จะระบุว่าคู่สัญญาจะไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนการซื้อขายตามกำหนดในข้อ 1แต่ในข้อ 1 ก็ไม่มีข้อความว่าจะไปจดทะเบียนกันที่ไหนเมื่อใด ทั้งขณะทำสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยมี ข้อตกลงจะไปจดทะเบียนหรือกำหนดวันจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลัง และหลังจากทำสัญญาแล้วก็ไม่ ปรากฏว่าโจทก์เคยเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ บ้านพิพาทให้โจทก์ จึงเห็นได้ว่าเจตนาที่แท้จริงของ โจทก์จำเลยประสงค์ให้การซื้อขายบ้านพิพาทเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด จำเลยได้รับชำระราคาค่าบ้านจากโจทก์ครบถ้วน และโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทันที เมื่อการซื้อขาย ดังกล่าวมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทยังเป็นของจำเลย
จำเลยตกลงซื้อบ้านพิพาทคืนและเช่าบ้านจากโจทก์ ก็โดยเข้าใจว่ากรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ แต่เมื่อการซื้อขายบ้านพิพาทเป็นโมฆะและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตลอดมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2334/2525
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 278, 362
จำเลยเข้าไปจับนมผู้เสียหายขณะกำลังนอนอยู่บนแคร่หน้าบ้าน ผู้เสียหายวิ่งหนีเข้าไปในบ้าน จำเลยวิ่งตามเข้าไปกอดจับนมผู้เสียหายในบ้านอีก การกระทำผิดของจำเลยตอนแรกกับตอนหลังเป็นการกระทำต่อเนื่องยังมิได้ขาดตอนกันและเจตนาของจำเลยก็เพื่อกอดจับนมผู้เสียหายเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2525
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 7, 97
แม้ว่าโทษที่จำเลยได้รับครั้งก่อนจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกัญชาพุทธศักราช 2477 แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกัญชา พุทธศักราช 2477 ทั้งฉบับ โดยถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และผู้มีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม มาตรา 26,76ดังนั้น การที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตในคดีก่อนจึงต้องถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษด้วยเมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนอันเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท1 ไว้ในครอบครองภายในกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 354, 420, 537 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218
โจทก์ซึ่งเป็นผู้เข้าประมูลเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันร่วมกับจำเลยที่ 3 และผู้อื่น ได้ยินยอมตกลงตามแจ้งความของทางราชการที่สงวนสิทธิในการเลือกผู้เข้าประมูลรายใดก็ได้ให้เป็นผู้เช่าตามที่เห็นสมควร โดยผู้เข้าประมูลไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ดังนี้เมื่อทางราชการได้ใช้สิทธิเลือกจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้เช่า โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าที่ทางราชการได้ทำขึ้นกับผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้เช่า หรือขอให้ใช้ค่าเสียหาย
มติคณะรัฐมนตรีที่ให้บริษัท ส. เป็นผู้ประมูลได้ และลงมติอนุมัติให้บริษัทดังกล่าวทำสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันเป็นการปฏิบัติราชการตามอำนาจและหน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนมติดังกล่าวหาได้ไม่ ทั้งโจทก์ก็ยินยอมให้ทางราชการสงวนสิทธิที่จะเลือกผู้เข้าประมูลคนใดให้เป็นผู้เช่าได้ตามที่เห็นสมควร โจทก์จึงไม่มี อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2316/2525
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582 ประมวลรัษฎากร ม. 50 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 141 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 31, 51 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
ภายใต้ระเบียบของนายจ้างซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลูกจ้างมีสิทธิจะลาออกจากงานเมื่อใดก็ได้ เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกถูกต้องตามระเบียบแล้ว ทั้งเป็นสิทธิของลูกจ้างที่กำหนดวันลาออกได้ นายจ้างไม่ชอบที่จะอนุมัติเป็นประการอื่น การที่นายจ้างอนุมัติให้ลูกจ้างลาออกตั้งแต่วันที่ลูกจ้างยื่นใบลาอันเป็นการให้ลาออกก่อนวันที่ลูกจ้างกำหนดไว้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าลูกจ้างขาดค่าจ้างที่จะได้รับนับแต่วันยื่นใบลาจนถึงวันที่ลูกจ้างประสงค์จะลาออกอย่างแท้จริงและยัง ความเสียหายให้แก่ลูกจ้าง
ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์มีสิทธิได้รับรางวัลชนะเลิศ การขายเป็นเงิน 12,000 บาท เป็นเรื่องสิทธิที่จะได้รับ เมื่อจำเลยมีสิทธิ และหน้าที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากรอย่างไร คงเหลือจ่ายจริงให้โจทก์เท่าใด จำเลยย่อมกระทำได้ตามกฎหมายดังกล่าว หาจำต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษาไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2525
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,
ข้อบังคับของนายจ้างว่าด้วยกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานได้กำหนดการคำนวณเงินสงเคราะห์โดยถือหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวให้ตั้งเงินเดือนเดือนสุดท้ายเป็นเกณฑ์คำนวณ เมื่อลูกจ้างถูกลงโทษทางวินัยลดขั้นอัตราเงินเดือนแล้วถูกสั่งให้ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถ เงินเดือนเดือนสุดท้ายของลูกจ้างที่นำมาเป็นฐานคำนวณจ่ายเงินสงเคราะห์ก็ต้องถือตามเงินเดือนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับภายหลังลดขั้นอัตราเงินเดือนแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2235/2525
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5, 102, 123 (4)
ระเบียบข้อบังคับและสภาพการจ้างว่าด้วยวันลาและหลักเกณฑ์การลาได้กำหนดไว้ว่าการลาหยุดงานทุกครั้งต้องยื่นใบลาและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาและได้รับอนุมัติเสียก่อน เว้นแต่กรณีป่วยกะทันหันหรือมีเหตุฉุกเฉิน การลากิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาถือว่าขาดงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าการที่ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานไปร่วมประชุมจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้นเป็นกรณีมีความจำเป็นโดยฉุกเฉินหรือเร่งด่วนแต่อย่างใดทั้งลูกจ้างทราบล่วงหน้ามาก่อนแล้วย่อมมีโอกาสที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ และระเบียบของนายจ้างได้การที่ลูกจ้างขาดงานไป 4 วันโดยมิได้ยื่นใบลาตามระเบียบและไม่แจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม