คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 69

ผู้ตายและ ส. โกรธจำเลยอย่างมากที่จำเลยอ้างว่ามีคนบอกว่าผู้ตายมีเฮโรอีนขายแต่หาตัวคนบอกไม่พบ จึงได้รุมทำร้ายจำเลยจนมีบาดแผลโลหิตไหลที่ปาก จำเลยได้ใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายเพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายที่ถูกรุมทำร้าย แต่จำเลยแทงผู้ตายหลายที มีบาดแผลฉกรรจ์ ดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2310

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2310/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 280, 296, 306

ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด โดยจดทะเบียนไว้ในลำดับที่ 2 ย่อมเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นซึ่งทราบได้ตามทะเบียนซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ผู้ร้องทราบถึงคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดและวันขายทอดตลาดด้วย

เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดและวันขายทอดตลาด จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายโดยการฝ่าฝืนนั้น ผู้ร้องจึงอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 296 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

แต่เมื่อปรากฏว่าในวันขายทอดตลาดได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองทั้งหมด ผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นผู้ซื้อได้และได้ชำระราคาครบถ้วน ได้มีการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจโอนทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ และโจทก์ก็ได้รับชำระหนี้จากเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดไปทั้งหมดแล้วดังนี้ ถือได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2301

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2301/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 226, 248

คำสั่งที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาจำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา แต่มิได้โต้แย้งอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานต่อไป จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

ปัญหาว่าเช็คพิพาทมีมูลหนี้ต่อกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2289/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 581

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยไม่เลิกจ้างโจทก์ แต่ลดค่าจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทำให้ยอดการขายตก ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงด้วยจำเลยก็หาอาจลดค่าจ้างโจทก์ได้ไม่เพราะการที่โจทก์ทำให้ยอดการขายตกลงนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวกับโจทก์อีกส่วนหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2525

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 798, 820, 850, 851 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 240

จำเลยอุทธรณ์ว่าบันทึกที่ ส. ทำขึ้นไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะคู่กรณีมิได้ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและไม่มีข้อความแสดงว่าระงับข้อพิพาทที่มีอยู่การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ส. ทำบันทึกดังกล่าวในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงลายมือชื่อก็ต้องผูกพันตามข้อความในบันทึกและใช้บังคับเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้ จึงเป็นข้อวินิจฉัยถูกต้องตรงประเด็นตามที่จำเลยอุทธรณ์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2274/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 340, 357 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 172

เมื่อศาลอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังครั้งแรกจำเลยที่2 ปฏิเสธในวันเดียวกันขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพฐานรับของโจรตามฟ้อง ตามคำให้การที่ศาลจดไว้ที่จำเลยที่ 2 แถลงต่อศาลว่ากระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะจำเลยที่ 1นำเช็คมาให้และบอกว่าให้เอาไปขึ้นเงินเป็นค่าเช่าบ้านนั้น เพื่อขอให้บรรเทาโทษ ลงโทษโดยสถานเบา ไม่ใช่คำให้การว่ามิได้มีเจตนากระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2297/2525

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56

จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเชื่อแก่ประชาชนปลอมเอกสารเพื่อเป็นหลักฐานโยนความรับผิดแก่บุคคลอื่นที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อให้เกิดความเสียหายเป็นที่เดือดร้อนแก่สุจริตชนเป็นอย่างมากเช่นโจทก์คดีนี้ที่ต้องถูกฟ้องได้รับความเสียหายนับเป็นภัยแก่ประชาชนและสังคม จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะรอการลงโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2290/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2521

นายจ้างมีข้อบังคับว่า ถ้าลูกจ้างคนใดมีอายุครบ 60 ปี ในระหว่างปี ลูกจ้างคนนั้นมีสิทธิที่จะเลือกออกจากงานในวันถัดจากวันที่มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ หรือในวันสิ้นปีงบประมาณที่เกษียณอายุก็ได้ ดังนั้น การที่ลูกจ้างใช้สิทธิเลือกออกจากงานก่อนสิ้นปีงบประมาณเมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปีแล้วซึ่งข้อบังคับของนายจ้างเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเลือกทำได้ จึงเป็นการเลิกจ้างหาใช่เป็นลาออกจากงานไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2247/2525

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 54 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. ,

อุทธรณ์ที่ว่าศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนผิดไปจากหลักฐานในสำนวน เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 54

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เฉพาะเป็นพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องต้อนรับหรือบริการแขก มีอาการมึนเมา นำของมึนเมาเข้ามาทำงานหรือดื่มของมึนเมาในเวลาทำงาน เป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลไม่ใช่พนักงานที่มีหน้าที่ดังกล่าวแม้หากจะฟังได้ว่าโจทก์มีหน้าที่รับแขกที่มาติดต่อกับแผนกบุคคล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องต้อนรับหรือบริการแขกโดยตรง การที่โจทก์กระทำผิดข้อบังคับนี้จึง มิใช่กรณีร้ายแรง

ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และเงินค่าบริการนั้น โจทก์ต้องยื่นเป็นฟ้องอุทธรณ์ จะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2243

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2243/2525

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 18, 27, 288, 296 วรรคสอง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์แล้วทำการขายทอดตลาดไปนั้น เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะผู้ร้องเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าโทรศัพท์ โดยเป็นผู้เช่าจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สิทธิการเช่าดังกล่าวมิใช่ทรัพย์ของจำเลย ขอให้ศาลสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดนั้น คำร้องของผู้ร้องดังกล่าวมีผลเท่ากับการขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด ซึ่งผู้ร้องจะต้องยื่นก่อนมีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 และมิใช่เป็นกรณีเกี่ยวกับการขายทอดตลาดอันฝ่าฝืนกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา296 วรรคสอง

ศาลมีคำสั่งรับคำร้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแล้วต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงขอให้ศาลออกหมายเรียกโจทก์และจำเลย ความปรากฏต่อศาลว่าการสั่งรับคำร้องมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งเดิมและสั่งยกคำร้องดังกล่าวเสียได้ ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 ให้อำนาจไว้ และในกรณีเช่นนี้ศาลไม่จำเป็นต้องสั่งคำแถลงของผู้ร้องที่ขอให้ออกหมายเรียก และไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18

« »
ติดต่อเราทาง LINE