คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40
สืบพยานในนัดแรก โจทก์ขอเลื่อนการพิจารณาคดี อ้างว่าทนายโจทก์ติดว่าความในคดีแพ่งและคดีอาญาที่ศาลอื่นโดยนัดไว้ก่อน ปรากฏตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลดังกล่าวที่ได้รับรองแล้ว เป็นการขอเลื่อนการพิจารณาคดีโดยมีเหตุผลสมควร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399 - 400/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1711
มารดาเจ้ามรดกกับภริยาเจ้ามรดกต่างเป็นทายาทโดยธรรมเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มารดาเคยจะขอหญิงอื่นให้เป็นภริยาเจ้ามรดก ภริยาเคยกล่าวหาว่าบิดาเจ้ามรดกยักยอกทรัพย์มรดกจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้จัดการมรดกแต่ฝ่ายเดียวอาจเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจึงให้ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397 - 398/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1482 เดิม, 1511 เดิม
การหย่าโดยคำพิพากษามีผลตั้งแต่เวลาคำพิพากษาถึงที่สุดสามีกู้เงินไปสร้างตึกแถวขาย เป็นการประกอบกิจการงานหาเลี้ยงครอบครัวจึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 เดิม ซึ่งเจ้าหนี้บังคับคดีแก่สินบริคณห์ได้ตามมาตรา 1480 แม้มิได้ฟ้องภริยาด้วยก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 396/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1299 วรรคหนึ่ง, 1300 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288
การได้ที่พิพาทมาโดยนิติกรรม เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงยังไม่โอนมา
แม้ผู้ร้องจะได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทมาเป็นเวลา5 ปีเศษแล้วแต่ก็ได้ปล่อยปละละเลยมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการจดทะเบียนการได้มา แสดงว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะให้มีการจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่พิพาทนั้น ผู้ร้องจึงมิใช่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87 (2), 88 วรรคท้าย
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2521 ทนายโจทก์มอบให้เสมียนทนายความนำบัญชีพยานมายื่นต่อศาลแล้ว และเพิ่งทราบในวันที่ 10 เดือนเดียวกัน ซึ่งเป็นวันสืบพยานว่าในสำนวนการพิจารณาของศาลไม่มีบัญชีพยานโจทก์ เสมียนทนายความยืนยันต่อทนายโจทก์ว่ายื่นบัญชีพยานแล้ว วันที่ 17 เดือนนั้น ทนายโจทก์จึงยื่นคำร้องต่อศาลและขอยื่นบัญชีพยานดังนี้ แม้จะเป็นการยื่นบัญชีพยานภายหลังจากที่ผู้ร้องนำพยานเข้าสืบไปบ้างแล้วก็ดี แต่ก็เป็นเหตุสมควรที่จะกล่าวอ้างเพื่อยื่นบัญชีพยานเมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีพยานสิ้นสุดลงแล้วได้ ในกรณีนี้ผู้ร้องยังมี โอกาสที่จะยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมได้ เพื่อนำพยานมาสืบหักล้างพยานโจทก์ตามที่ยื่นบัญชีพยานไว้ ผู้ร้องไม่ได้เสียเปรียบในการดำเนินคดี ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีพยานโจทก์ไว้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1525 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248
โจทก์จำเลยพิพาทกันเกี่ยวด้วยทรัพย์และอำนาจปกครองบุตรจึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองจำเลยมีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริงได้รวมทั้งข้อเรียกร้องคืนทรัพย์ด้วย
แม้จำเลยซึ่งเป็นบิดาจะมีรายได้และฐานะดีกว่าโจทก์ แต่โจทก์ซึ่งเป็นมารดาก็มีอำนาจปกครองบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งแก้ไขใหม่และ ใช้บังคับในขณะพิพาท และเมื่อเลิกอยู่กินกับจำเลยแล้วโจทก์ทำงานได้เงินเดือน ๆ ละ 2,000 บาท ได้ค่าเช่าห้องแถวเดือนละ 1,200 บาทกับมีที่ดินอีก 2 แปลงราคารวมกันประมาณ 500,000 บาท ญาติทุกคนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือโจทก์ในการอุปการะเลี้ยงดูเด็ก โจทก์สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสองได้ ทั้งโจทก์และจำเลยอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 4 คน การให้บุตรคนเล็ก 2 คนอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ดังขอจึงเป็นการสมควรทั้งนี้ตามบรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ที่ใช้บังคับในขณะพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 99, 544 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. ตาราง 1 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สินซึ่งมีราคาและถือเอาได้
ผู้ให้เช่า ผู้เช่าเดิมกับผู้เช่าใหม่ตกลงยินยอมกันให้มีผู้เช่าคนใหม่ต่อจากสัญญาเช่าตึกแถวเดิม ผู้เช่าเดิมเลิกสัญญา ดังนี้ เป็นการโอนสิทธิการเช่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเพิกถอนการโอนทรัพย์สินที่ลูกหนี้ ทำระหว่าง 3 ปี ก่อนขอให้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ผู้รับโอนมีหน้าที่นำสืบว่าได้ทำโดยสุจริต มีค่าตอบแทน ไม่เหมือนการเพิกถอนการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 ซึ่งผู้ขอต้องนำสืบว่าโอนโดยไม่สุจริต
คดีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเพิกถอนการโอนเป็นคดีคำขอปลดเปลื้องทุกข์คำนวณเป็นราคาเงินไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2523
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183, 249
ชั้นชี้สองสถาน คู่ความต่างแถลงสละข้ออ้างข้อต่อสู้อื่น ขอให้ศาลวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่ว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยในราคา 4,000 บาท หรือไม่ และเรื่องอายุความศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ไม่ได้ซื้อที่พิพาทจากจำเลย แต่อยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยจำเลย พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ต่อมาโจทก์ฎีกาโต้เถียงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์โดยจำเลยยกให้โจทก์และภรรยา ซึ่งโจทก์และภรรยาได้ครอบครองที่พิพาทตลอดมากับฎีกาว่าที่โจทก์ให้เงินจำเลย 4,000 บาทนั้น ไม่ใช่เรื่องซื้อขาย ดังนี้ ฎีกาข้อแรกเป็นการฎีกาในประเด็นที่สละแล้ว และฎีกาข้อหลังเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้น ว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น แม้ขณะยื่นคำร้องผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางนั้น แต่เมื่อในระหว่างพิจารณา กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางได้โอนไปยังจำเลยแล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิที่จะร้องขอคืน ชอบที่ศาลจะยกคำร้องของผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 728 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177, 249
จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์เท่านั้น ฉะนั้นที่จำเลยฎีกาว่า ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแทนโจทก์โดยไม่ได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากโจทก์ เท่ากับไม่ได้บอกกล่าว จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหานี้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ไม่ใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยปัญหานี้มา ก็ถือเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย