คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 73

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรีบัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเป็นทบวงการเมืองและมีฐานะเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนโจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72,73 และมีอำนาจฟ้อง

การดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญของจำเลยที่ 1 เป็นผลจากการคัดเลือกของคณะบุคคลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 มาตรา 218 ที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาการใช้ทุนการศึกษา ตามมาตรา 219 ข้าราชการจะเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญภายหลังที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการ จึงไม่เป็นการรับราชการตามสัญญาดังกล่าว จะนำมาคำนวณเพื่อใช้ทุนการศึกษาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 8, 437, 442, 1367

กระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์อันเกิดอันตรายได้โดยสภาพ ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยผู้ผลิตและจำหน่ายเป็นผู้มีไว้ในครอบครองจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา437 การที่กระแสไฟฟ้าลัดวงจรไหม้ทรัพย์สินของโจทก์เพราะเหตุที่ต้นมะพร้าวอยู่ใกล้ชิดกับแนวสายไฟฟ้าเป็นเหตุให้ทางมะพร้าวพาดไปถูกสายไฟฟ้าเมื่อมีลมพัด มิใช่เหตุสุดวิสัยเพราะจำเลยอาจป้องกันได้ถ้าตัดต้นมะพร้าวหรือแจ้งให้โจทก์ตัดอันเป็นหน้าที่จำเลย แต่โจทก์ไม่สนใจตัดต้นมะพร้าวในที่ดินที่โจทก์เช่าหรือแจ้งให้จำเลยตัดถือได้ว่าโจทก์มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงควรรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงครึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (7) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508

เมื่อโจทก์ได้มอบหมายให้ผู้ใดเป็นตัวแทนโจทก์ในการดำเนินคดีอาญาแล้ว ผู้นั้นมีฐานะเป็นคู่ความในคดีในนามของโจทก์ย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะลงชื่อเป็นโจทก์ในฟ้อง เรียงหรือแต่งคำฟ้อง และลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงฟ้องได้ หาเป็นการขัดต่อ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 มาตรา 36 ไม่

ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ลงชื่อเป็นผู้เรียงมาในฟ้องฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) จะยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 427, 429, 797

แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาจะเคยห้ามปรามจำเลยที่ 1ผู้เป็นบุตรผู้เยาว์ไม่ให้เอารถยนต์ไปใช้ และเก็บลูกกุญแจรถไว้เองโดยเก็บไว้ในที่สูงก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 รู้ที่เก็บและเคยเอารถออกไปขับ ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถหาได้ใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 นำสืบพิสูจน์หักล้างความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปชนรถโจทก์ที่ 1 เพราะจะรีบไปซื้อเนื้อตามที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้ไปซื้อและการไปซื้อเนื้อเพื่อทำเนื้อสะเต๊ะขายเป็นกิจการค้าของจำเลยที่ 3 ก็ตามการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่กิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่สาม จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 538, 987

เช็คซึ่งจำเลยสั่งจ่ายให้โจทก์ แม้มีลายมือชื่อโจทก์ในเช็คนั้น แต่มิได้มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการชำระค่าเช่า ย่อมไม่เป็นหลักฐานการเช่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 537, 1359

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1359 ให้อำนาจเจ้าของ รวมใช้สิทธิต่อสู้บุคคลภายนอกอันหมายถึงฟ้องขับไล่ด้วยหาได้หมายความเพียงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่อถูกฟ้องอย่างเดียวไม่

การเข้าอยู่ในห้องพิพาทโดยได้ออกเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ก่อสร้างเพื่อตนจะได้เข้าทำสัญญาเช่ากับเจ้าของห้องพิพาทหาใช่เป็นการช่วยค่าก่อสร้างห้องพิพาทไม่สัญญาเช่าที่ทำกับเจ้าของห้องพิพาทจึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาและเมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงใช้บังคับได้เพียง 3 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 224, 249

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากห้องพิพาทที่โจทก์เช่าจากเจ้าของ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาทจำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้เช่าห้องพิพาทโดยมอบให้โจทก์ทำสัญญาเช่าแทนแม้จะเป็นการเถียงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยว่าใครเป็นผู้เช่าห้องพิพาทจากเจ้าของก็ตามก็ไม่เรียกว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง

แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาข้อเท็จจริงได้แต่เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะต้องห้ามอุทธรณ์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 509/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 276

สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความว่าจำเลยยอมชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2520 เป็นต้นไปโดยผ่อนชำระเป็นงวด ๆ คือ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2521 เป็นต้นไปถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2521 เงินต้นจ่ายเดือนละ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้าง ดังนี้ แสดงว่าจำเลยยอมชำระหนี้ให้โจทก์เดือนละ 1 งวดทุก ๆ เดือนไป วันเริ่มต้นนับคือวันที่ 18 มกราคม 2521 วันครบกำหนด 1 เดือนในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2521 การที่จำเลยชำระหนี้งวดแรกแก่โจทก์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2521 จึงเป็นการชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้หาเป็นการผิดนัดชำระหนี้ จนระยะเวลาที่กำหนดไว้เพื่อให้ปฏิบัติตามคำบังคับได้ล่วงพ้นไปแล้วอันจะเป็นเหตุให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ทันทีในเมื่อโจทก์ร้องขอไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 506/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1748, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

โจทก์จำเลยครอบครองที่พิพาทร่วมกันตลอดมา แม้โจทก์จะฟ้องขอแบ่งมรดกที่พิพาทเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ขอส่วนแบ่งมรดกเพียง 1 ใน 5 ส่วน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ได้ส่วนแบ่งมรดก 1 ใน 2 ส่วนไม่ได้เพราะเกินคำขอในคำฟ้องของโจทก์(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 259/2506)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 438, 443 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93, 125

จำเลยขับรถประมาทชนสามีโจทก์ตาย นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการทำศพแล้วโจทก์ได้สร้างเจดีย์รอบฮวงซุ้ยสำหรับเก็บศพผู้ตายอันเป็นประเพณีของคนทั่วไปที่มาฝังศพที่ฮวงซุ้ยแห่งนั้น โจทก์ย่อมเรียกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ตามสมควรแก่ฐานะของผู้ตาย แต่เนื่องจากเจดีย์รอบฮวงซุ้ยของผู้ตายนี้ ผู้ตายได้สร้างมาก่อนสำหรับเก็บศพบรรพบุรุษและตัวผู้ตายเอง สร้างยังไม่เสร็จก็ตายเสียก่อน เมื่อผู้ตายตายแล้วก็ได้มีการก่อสร้างต่อจนเสร็จและได้นำศพผู้ตายไปฝังไว้ ณ ฮวงซุ้ยแห่งนั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเจดีย์และฮวงซุ้ยก่อนผู้ตายตายจึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่จำเลยจะต้องรับผิด แต่ค่าใช้จ่ายภายหลังจากที่ผู้ตายตายจนกระทั่งการก่อสร้างเจดีย์รอบฮวงซุ้ยแล้วเสร็จ เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงซึ่งจำเลยจะต้องรับผิด และเมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ได้ก่อสร้างหลังจากผู้ตายได้ตายแล้วเป็นเงินเท่าใด ศาลก็กำหนดให้ตามที่เห็นสมควรได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE