คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1754
โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมโดยโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทด้วยตนเองและไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสุดท้ายจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกเมื่อไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 838/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1748
เมื่อบิดาถึงแก่กรรม ทายาทมิได้ขอแบ่งมรดกหากแต่มารดา ได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งเพื่อตนเองและแทนบุตรทุกคน เมื่อมารดา ถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ กับ ส.ซึ่งต่างก็เป็นบุตรยังคงครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกันตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องให้แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของบิดามารดาได้ตาม มาตรา1748แม้ว่าจะเป็นเวลาภายหลังที่บิดามารดาถึงแก่กรรมไปแล้ว 40 ปีเศษและ 4 ปีเศษ ตามลำดับ ล่วงพ้นกำหนดเวลาตาม มาตรา1754 แล้วก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 931, 938, 939, 940, 992
โจทก์ออกตั๋วแลกเงินสั่งสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 หรือตามคำสั่ง โดยสาขาธนาคารของจำเลยที่ 3 ผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วแลกเงินใต้ข้อความว่า 'เป็นอาวัลค้ำประกันผู้สั่งจ่าย' ต้องถือว่าการลงลายมือชื่อของสาขาธนาคารจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นอาวัล และผู้จ่ายเป็นผู้รับอาวัลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 938 วรรคสองตอนสุดท้าย
มาตรา 939 วรรคสามที่บัญญัติว่า 'อนึ่งเพียงแต่ลงลงลายมือชื่อผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย' นั้นหมายความว่า ถ้าผู้จ่ายลงลายมือชื่อด้านหน้าของตั๋วเงินอย่างเดียวโดยไม่มีถ้อยคำสำนวนตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง กฎหมายจึงไม่ให้ถือว่าเป็นคำรับอาวัล เพราะการลงลายมือชื่อดังกล่าวเป็นการรับรองการจ่ายเงินตามมาตรา 931 อยู่แล้ว หากมาตรา939 วรรคสามไม่ยกเว้นไว้ก็จะเป็นทั้งคำรับรองการจ่ายเงินและคำรับอาวัลซ้ำกัน ไม่อาจทราบได้ว่าลงลายมือชื่อในฐานะใด
สาขาธนาคารจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับอาวัลต้องบังคับตามมาตรา 940 คือจำเลยที่ 3 มีความผูกพันอย่างเดียวกับโจทก์ผู้สั่งจ่าย การที่จำเลยที่ 3 จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งสาขาของตนรับอาวัลจึงเป็นการปฏิบัติไปตามกฎหมาย โจทก์ผู้สั่งจ่ายไม่มีอำนาจสั่งห้ามจำเลยที่ 3 จ่ายเงิน
อำนาจสั่งห้ามตามมาตรา 992 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องเช็คโดยเฉพาะจะนำมาใช้กับตั๋วแลกเงินไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 829/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386, 575
ในข้อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยที่ว่าจำเลยมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยไม่ต้องให้เหตุผลในการบอกเลิกนั้น ต้องปรากฏว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสมในระหว่างการทดลองงานหกเดือนแรกของการว่าจ้างเมื่อโจทก์ยังไม่ได้เริ่มทดลองงาน จำเลยหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยข้อสัญญาดังกล่าวได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 153, 845
สัญญานายหน้าระบุให้นายหน้าจัดการขายที่ดินให้เสร็จภายในพ.ศ.2518 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยเจ้าของที่ดินจะผ่อนเวลาต่อไปให้อีกตามที่เห็นสมควรนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาของคู่สัญญาว่า ได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนแล้วว่าจะต้องขายที่ดินให้เสร็จภายในสิ้นปี พ.ศ.2518 หากไม่มีการผ่อนเวลา ย่อมถือได้ว่าสัญญาดังกล่าวได้สิ้นสุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 151
การที่ผู้ตายเคยระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้ได้รับประโยชน์มีสิทธิรับเอาเงินประกันชีวิต และได้รับความไว้วางใจจากผู้ตายให้จัดการทรัพย์สิน เช่น ฝากเงินในธนาคารชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินและอื่น ๆ นั้น เป็นการใช้ให้กระทำในฐานะญาติหรือตัวแทน ถือไม่ได้ว่ามีส่วนได้เสียในกองมรดก ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
กรณีศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องซึ่งเป็นการวินิจฉัยประเด็นในคดีตามคำร้องแล้วต้องถือว่าเป็นคำสั่งชี้ขาดคดีหาใช่เป็นคำสั่งไม่รับคำฟ้องหรือคำร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 ไม่จึงไม่มีเหตุผลที่ศาลจะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1462 เดิม, 1470, 1603, 1646 กฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 ม. 4 (1)
สมรสกันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ5 ใช้บังคับโดยฝ่ายหญิงมีสินเดิม ฝ่ายชายไม่มีสินเดิม ต่อมาผัวตายจากไปเมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้วกรณีเช่นนี้ส่วนแบ่งสินสมรสได้แก่เมีย 2 ส่วน ได้แก่ผัว 1 ส่วน ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 เมื่อผัวทำพินัยกรรมยกทรัพย์ที่เป็นสินสมรสให้บุตรสินสมรสส่วนของผัวนั้นย่อมตกได้แก่บุตรตามพินัยกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2523
พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 5 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 119
คดีที่ขึ้นศาลทหาร เมื่อศาลทหารได้สั่งเรื่องประกันไปอย่างไรแล้วจะอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์อันเป็นศาลพลเรือนไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 732/2504)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2523
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2465
เฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย และจำหน่ายให้ผู้อื่นเป็นจำนวนเดียวกัน มิใช่สองจำนวนการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2523
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 264
คดีพิพาทกันเรื่องแต่งตั้งผู้จัดการมรดก จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นการชั่วคราวโดยอ้างว่า จำเลยเป็นทายาทตามพินัยกรรมและเจ้ามรดกตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ถ้าจำเลยไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกชั่วคราว กองมรดกจะได้รับความเสียหาย ดังนี้ ยังไม่มีเหตุผลสมควรที่จะแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกชั่วคราว เพราะโจทก์จำเลยพิพาทกันเพียงว่า โจทก์หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย มิได้พิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายแต่อย่างใด ประโยชน์ของจำเลยอยู่ที่การจะได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่การจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินมรดกของผู้ตาย