คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1980/2523

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 5, 48 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 161

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีไม้สักแปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเหตุเกิดที่ตำบลต้นเปาอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามสำเนาประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ท้ายฟ้อง ดังนี้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามสำเนาประกาศที่แนบมาท้ายฟ้อง เป็นข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 แล้ว แม้ไม่ได้กล่าวว่าได้คัดสำเนาประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอและที่ทำการกำนันท้องที่เกิดเหตุ ก็ไม่ทำให้ฟ้องนั้นไม่สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2024

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2024/2523

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 91

ในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โจทก์ย่อม มีอำนาจแยกฟ้องจำเลยแต่ละคดีเป็นรายกระทงความผิด การวินิจฉัย อัตราโทษว่าจะรอการลงโทษได้หรือไม่ จำต้องวินิจฉัยอัตราโทษที่ศาลลงในแต่ละกระทงความผิด จะรวมโทษทุกกระทงความผิดในคดีนั้น มาเป็นเกณฑ์วินิจฉัยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2023

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2023/2523

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 17, 18 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 131 (2), 172, 243

แม้ศาลแรงงานกลางเพียงแต่ตรวจคำฟ้องและเอกสารประกอบคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ยกฟ้อง โดยมิได้กระทำในรูปคำพิพากษาก็ตาม แต่เมื่อคำสั่งนั้นอาศัยเหตุที่ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่ปรากฏในคำฟ้องพอให้เห็นได้แล้วว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) มีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว และการพิพากษาคดีนั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 17,18 ผู้พิพากษาศาลแรงงานจะกระทำไปโดยไม่มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมเป็นองค์คณะด้วยหาได้ไม่ เมื่อปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวมีแต่ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางลงลายมือชื่อ จึงไม่เป็นคำสั่งคำพิพากษาอันชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลางให้ศาลนั้นพิพากษาใหม่ให้ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019 - 2022/2523

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า บริษัทโจทก์จะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจากข้อตกลงเดิมเป็นให้ลูกจ้างทำงานเป็นผลัดหรือเป็นกะโดยลูกจ้างไม่ยินยอมไม่ได้เพราะการทำงานเป็นผลัดนั้นไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างการที่ลูกจ้างไม่ได้โต้แย้งประกาศระเบียบข้อบังคับการทำงานฉบับใหม่จะถือว่าลูกจ้างได้ยินยอมแล้วยังไม่ได้การไม่เข้าทำงานจึงมิใช่การหยุดงานหรือการนัดหยุดงานการเลิกจ้างจึงสืบเนื่องมาจากข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงยังมีผลบังคับอยู่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา123 โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างหากจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะโต้แย้งทันทีแต่ไม่อาจหยุดงานได้การหยุดงานจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายดังนี้ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางฟังมาและไม่มีความตอนใดที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายโดยชัดแจ้งจึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2014

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2014/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (2)

เมื่อมีการเลิกสัญญาต่อกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันที่โจทก์ได้กระทำและยอมให้จำเลยได้ใช้สิทธินั้น โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้คืนด้วยการใช้เงินตามควรแห่งค่าของผลงานที่ทำไปแล้ว

โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระให้โจทก์กรณีพอถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากผลงานที่ทำไปแล้ว ชอบที่ศาลจะหยิบยกผลของการงานที่โจทก์ทำไปแล้วมาเป็นข้อวินิจฉัยเพื่อให้มีการชดใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2008

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2008/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 420

เมื่อตามระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารจำเลยต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งให้พนักงานเมื่อออกจากงานไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ๆการที่รองผู้จัดการใหญ่ของจำเลยสั่งระงับการจ่ายเงินทุกประเภทที่โจทก์มีสิทธิได้รับเฉพาะคำสั่งที่ให้ระงับการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายระหว่างผิดนัดคิดเป็นดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่มีคำสั่งจนถึงวันชำระเงินให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 107, 110, 448

รถยนต์โจทก์ถูกชนเสียหายจนไม่อาจซ่อมได้โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายคิดเท่าราคารถที่โจทก์ซื้อกับราคาค่ายางที่ติดรถกับยางอะไหล่ยางรถและยางอะไหล่เป็นส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของตัวรถตามปกติประเพณีการค้าย่อมรวมอยู่ในราคาของรถที่ทำการซื้อขาย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับรถการเสื่อมค่าหรือราคาย่อมเป็นไปตามสภาพอยู่ด้วยกันทั้งหมด

อายุความละเมิด 1 ปีนับตั้งแต่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดด้วยคือนับตั้งแต่อธิบดีกรมตำรวจในฐานะตัวแทนกรมตำรวจรู้ความดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243

ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมาย ส่วนข้อเท็จจริงมิได้สั่งรับเป็นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ แม้การวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมายอย่างไร ศาลอุทธรณ์ก็หาอาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420

การที่ข้าราชการละเว้นไม่ปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติราชการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของทางราชการนั้น อาจทำให้ข้าราชการต้องรับผิดในทางวินัยก็จริง แต่จะถือเป็นหลักแน่นอนตายตัว ว่า เมื่อข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยแล้วต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เสมอไป หาได้ไม่การที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดต่อโจทก์นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้เห็นว่าการที่จำเลยกระทำผิดวินัยนั้นเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์เสียหาย

จำเลยรับราชการเป็นครู อาจารย์ใหญ่ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งจำเลยเป็นครูเวรรักษาการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่ควบคุมคนยามมิให้ละทิ้งหน้าที่แต่ต้องมาอยู่เวรที่โรงเรียนและนอนในห้องที่โรงเรียนจัดไว้ คืนเกิดเหตุจำเลยไม่ได้มาอยู่เวร คงมีแต่ภารโรงทำหน้าที่เป็นคนยาม ระหว่างอยู่ยามรักษาการณ์คนยามได้หลับยาม คนร้ายจึงได้งัดเข้าไปลักทรัพย์ในโรงงานที่ 4 และที่ 6 ของโรงเรียนที่อยู่ห่างจากห้องที่ครูเวรนอนออกไปถึง 50 เมตร และ 250เมตร ตามลำดับ ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่ผู้อยู่เวรจะล่วงรู้ได้ ถึงหากจำเลยจะมาอยู่เวรก็ไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดการลักทรัพย์ดังกล่าวขึ้นได้ เพราะไม่มีหน้าที่เป็นคนยามคอยตรวจตราเฝ้าขโมย การที่โรงเรียนถูกลักทรัพย์ จึงไม่ใช่ผลโดยตรง จากการที่จำเลยไม่มาอยู่เวร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1992/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1754

โจทก์และจำเลยทั้งเก้าเป็นญาติพี่น้องกัน มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของร่วมกันโดยได้รับมรดกมา แล้วต่างก็ครอบครองทำกินกันมาเกิน 10 ปี เมื่อมีการขายที่ดินบางส่วนให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อ ประโยชน์ของกรมชลประทานโจทก์จำเลยทุกคนก็ได้รับเงินค่าขายที่ดิน เห็นได้ว่าโจทก์จำเลยต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกัน ไม่ใช่เป็นการครอบครองโดยปรปักษ์ แม้ครอบครองมาเกิน 10 ปีก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามส่วนที่ครอบครอง ต้องแบ่งที่ดินกันตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดกมา

จำเลยทั้งเก้าไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเป็นผู้รับมรดกที่ดินพิพาท เมื่อต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกันมาเช่นนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

« »
ติดต่อเราทาง LINE