คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247 ประมวลรัษฎากร ม. 39

จำเลยไม่ฎีกาคำพิพากษาที่ให้จำเลยชำระหนี้ภาษีเงินได้แก่เจ้าหนี้จำเลยขอมาในคำแก้ฎีกาให้ยกคำขอรับชำระหนี้ในข้อนี้ไม่ได้

เงินได้พึงประเมินตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 หมายความรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับแสดงว่าต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้วมิใช่เพียงแต่งานที่มีสิทธิจะได้รับเงินในขณะครบรอบระยะเวลาบัญชีงานที่ทำในระยะเวลาบัญชี พ.ศ.2512 แต่ได้รับค่าจ้างมาใน พ.ศ.2513 จึงมิใช่เงินได้ที่จะนำไปคิดกำไรสุทธิปี พ.ศ.2512

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 449

รถยนต์ของโจทก์ชนบ้านจำเลย โจทก์จะนำรถยนต์ออกจากบ้านจำเลยแต่เสาและไม้ที่นำไปเพื่อค้ำบ้านจำเลยไม่เพียงพอที่จะทำให้บ้านของจำเลยไม่พังลงมา จะต้องรื้อบ้านก่อนจึงจะนำรถยนต์ออกจากบ้านได้ฉะนั้นที่จำเลยห้ามไม่ให้โจทก์เอารถยนต์ออกจากบ้านในวันนั้น จึงเป็นการกระทำเพื่อมิให้บ้านจำเลยพังลงมาทั้งหลังเป็นการป้องกันมิให้จำเลยได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจำเลยมีสิทธิโดยชอบ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2523

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 30, 35, 166

โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันกับคดีนี้มาครั้งหนึ่งแล้วแต่ในคดีนั้นโจทก์ร่วมไม่มาตามกำหนดนัด ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ผลแห่งคดีที่โจทก์ร่วม ยื่นฟ้องจำเลยดังกล่าวนั้น ทำให้โจทก์ร่วมจะฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ เมื่อเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวย่อมตัดอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 166 วรรคท้าย สิทธิของพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องจำเลยในมูลกรณีเดียวกันไว้แล้วเป็นอันระงับไปโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าพนักงานอัยการฟ้องก่อนหรือหลังจากที่ศาลยกฟ้องคดีของโจทก์ร่วม เมื่อพนักงานอัยการถูกตัดอำนาจฟ้องย่อมจะดำเนินคดีต่อไปไม่ได้ ต้องยกฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วม

การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องในคดีที่ตนเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยแล้วศาลพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพราะเหตุโจทก์ไม่มาศาล ขอให้ศาลยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ แต่ถอนคำร้องเสียเท่ากับไม่มีการยื่นคำร้องจะแปลว่าคำร้องที่โจทก์ยื่นและถอนดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมประสงค์จะถอนคดีที่ตนฟ้องเพื่อเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2523

พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 ม. 35, 41

เจ้าของนาให้เช่านาแล้วบอกเลิกการเช่าด้วยวาจาและขายนานั้นให้บุคคลอื่นไปโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เช่านาทราบ เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 35, 41 ผู้เช่าจึงมีสิทธิซื้อนาที่เช่านั้นจากผู้ซื้อในราคาเดียวกับที่ผู้ซื้อซื้อมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 390, 1359

โจทก์และผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันอีก 2 คน รับโอนบ้านพิพาทซึ่งจำเลยเช่าอยู่เดิม จำเลยไม่ชำระค่าเช่าบ้านพิพาทให้โจทก์อันเป็นการผิดสัญญา โจทก์แต่ผู้เดียวย่อมมีอำนาจบอกเลิกสัญญา และฟ้องขับไล่จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและออกไปจากที่พิพาทแล้วต่อมาโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกระทรวงการคลังเจ้าของที่พิพาทกระทรวงการคลังจึงได้ยกเลิกสิทธิการเช่าของโจทก์ และอนุญาตให้จำเลยมีสิทธิแทนโจทก์แต่จำเลยตายเสียก่อน ผู้ร้องจึงได้รับอนุญาตให้เป็นผู้มีสิทธิเช่าแทนจำเลยดังนี้ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิขึ้นใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาประนีประนอมระหว่างโจทก์จำเลย ผู้ร้องจึงมิใช่บริวารของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 1312 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 177

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่ดินต่อเติมชายคารุกล้ำที่ดินขอให้ ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอน จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์รื้อกันสาด ที่สร้างใหม่รื้อชายคาส่วนที่สร้างรุกล้ำรื้อท่อน้ำประปากับเครื่องสูบน้ำ ออกไปจากที่พิพาทฟ้องแย้งส่วนนี้เกี่ยวกับฟ้องเดิมแต่ที่ขอให้โจทก์ใช้ ค่าเสียหายเพราะโจทก์ก่อสร้างทำให้กำแพงตึกของจำเลยแตกร้าวกระเบื้อง หน้าตึกแถว เสียหายลูกจ้างของโจทก์ตัดโครงเหล็กเครื่องปรับอากาศของ จำเลยนั้นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงฟ้องแย้งไม่ได้ ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่

ตึกแถวปลูกสร้างตั้งแต่เจ้าของเดิมคนเดียวกันยังไม่แยกโฉนดเมื่อ แยกโฉนดปั้นลมและชายคาจึงรุกล้ำในที่ดินของโจทก์ตั้งแต่เจ้าของเดิม จำเลยรับโอนตึกแถวมากว่า 10 ปี ต้องใช้บทใกล้เคียงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 คือใช้ มาตรา 1312 จำเลย มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่รุกล้ำโจทก์บังคับให้รื้อถอนไม่ได้ แต่จำเลยต้องเสียค่าใช้ที่ดินส่วนนั้นโดยจดทะเบียนเป็นภารจำยอมส่วน ท่อน้ำทิ้งและเครื่องปรับอากาศซึ่งจำเลยติดตั้งไม่เกิน 10 ปีไม่มีภารจำยอมและไม่อยู่ใน มาตรา 1312 วรรคแรก จำเลยต้องรื้อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 777/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1367, 1375

บ.ซึ่งเป็นบิดาจำเลยทำพินัยกรรมยกนาพิพาทให้โจทก์โจทก์ได้เข้าครอบครองทำนาพิพาทตั้งแต่นั้นมา แม้พินัยกรรมจะไม่สมบูรณ์โจทก์ไม่ได้สิทธิตามพินัยกรรม แต่เมื่อบ.ตายโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทเพื่อตนเอง ไม่ได้ครอบครองแทนทายาทของ บ.. โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองโดยไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2523

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469

สิ่งของในคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่จะตกเป็นของแผ่นดินหากเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24 นั้นต้องเป็นกรณีที่ไม่มีการฟ้องคดีนั้นต่อศาลทั้งนี้เพราะหากมีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ย่อมอยู่ในอำนาจของศาลที่จะพิพากษาให้ริบหรือไม่ริบของกลาง ตาม มาตรา 32 ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้ริบของกลางผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางได้ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2523

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ม. 24 ทวิ วรรคสอง, 24 จัตวา

จำเลยถูกจับในข้อหาชิงทรัพย์ ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ15 ปีเศษอยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิจารณาพิพากษา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ 30 วันแล้วทำบันทึกส่งตัวจำเลยมายังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางและขอผัดฟ้องมีกำหนด 15 วัน ต่อจากนั้นไม่ได้ขอผัดฟ้องอีก จนศาลมีคำสั่งปล่อยจำเลย ดังนี้ เป็นการพ้นกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.2494 ซึ่งมาตรา 24 จัตวา บัญญัติห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีดังกล่าวเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ข้อห้ามฟ้องนี้ห้ามฟ้องต่อศาลทุกศาลและมีอยู่ตลอดไป เมื่อจำเลยมีอายุเกินกำหนดที่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางแล้ว ข้อห้ามดังกล่าวยังคงไม่หมดไป จะนำคดีที่ถูกห้ามฟ้องนั้นมาฟ้องต่อศาลอาญาอีกไม่ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE