คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 233, 234 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 61, 62, 173, 287

ในสำนวนอีกคดีหนึ่งซึ่งผู้ร้องคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องฮ. (ภรรยาจำเลยคดีนี้) ให้ชำระหนี้เงินเกี่ยวกับการเล่นแชร์ ปรากฏว่าผู้ร้องยื่นใบแต่งทนายแต่งตั้งให้ ส.เป็นทนายความส. จึงย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61,62 ดังนั้น การที่ ส. ทนายความมายื่นคำร้องเพื่อขอกันส่วน และแยกสินสมรสของ ฮ. จำเลยในอีกคดีหนึ่งดังกล่าวออกจากทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยและโจทก์นำยึดไว้ในคดีนี้. จึงมีอำนาจทำได้โดยไม่ต้องแต่งทนายใหม่. และแม้ ส. จะยื่นคำร้องขอกันส่วนจำนวนเงินที่ขายทอดตลาดคดีนี้มาครั้งหนึ่งแล้วถอนไปก็ตาม ก็อาจร้องขอกันส่วนใหม่ได้โดยไม่ต้องมีใบแต่งทนายใหม่ เพราะกรณีนี้ทนายความในคดีเดิมมีอำนาจทำได้ดังกล่าวมาแล้ว

ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ ฮ. ในอีกคดีหนึ่งย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของ ฮ. ได้เมื่อทรัพย์ที่โจทก์ยึดเพื่อขายทอดตลาดในคดีนี้เป็นทรัพย์ที่ ฮ. มีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย การขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวย่อมกระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกที่จะร้องขอกันส่วนของ ฮ. เพื่อบังคับคดีได้ด้วยสิทธิของผู้ร้องเองตามบทบัญญัติในมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาจำต้องใช้สิทธิเรียกร้องของ ฮ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา233,234 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1516 (6), 1529

จำเลยมิได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับโจทก์มาถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วโดยจำเลยมีสามีใหม่และอยู่กินกับสามีใหม่ตลอดมาจนขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้การกระทำของจำเลยดังกล่าว นอกจากจะเป็นเหตุหย่าในเหตุอื่นเช่นมีชู้จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี เป็นต้นแล้วยังเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรงอีกด้วย และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องตลอดมาทุกวัน คดีจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7)

การที่โจทก์ร่วมไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเรื่องข้าวสารและน้ำตาลทรายที่ถูกจำเลยยักยอกไปโดยระบุว่าเพียงแจ้งไว้เป็นหลักฐานเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายฉะนั้นเมื่อข้อหาความผิดฐานยักยอกตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้แต่โจทก์ร่วมมิได้ร้องทุกข์เสียภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 353

โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาเข้าหุ้นกันทำเหมืองแร่โดยโจทก์มอบให้จำเลยเป็นผู้จัดการ ผลิตแร่และครอบครองที่ดินตามคำขออาชญาบัตร จำเลยผลิตแร่ได้แล้วนำออกจำหน่ายเป็นเงินประมาณสามล้านบาทเศษ ไม่ยอมแบ่งให้โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้ร้อยละ20 ตามสัญญาดังนี้ เห็นได้ว่ามิใช่เรื่องจำเลยทำผิดหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์โดยทุจริต แต่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นผิดอาญาฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 ม. 4, 8 (3)

สัตว์พาหนะที่กฎหมายบังคับให้มีการจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456นั้น ต้องเป็นสัตว์พาหนะตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 มาตรา 4 อันได้แก่ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อลา ซึ่งได้ทำ หรือต้องทำตั๋วรูปพรรณตามพระราชบัญญัตินี้

สัตว์พาหนะดังกล่าวที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำตั๋วรูปพรรณมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติที่กล่าวนั้น มาตรา 8(3) ว่าได้แก่สัตว์ใดที่ได้ใช้ขับขี่ลากเข็น หรือใช้งานแล้ว

กระบือรายพิพาทที่โจทก์ขายให้จำเลยไม่มีตั๋วรูปพรรณแม้จะมีอายุ 4 ปีแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นกระบือที่ใช้งานแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องทำตั๋วรูปพรรณ ดังนั้น การซื้อขายกระบือรายพิพาท ไม่จำต้องจดทะเบียนซื้อขาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 การซื้อขายนี้ไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653, 680 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

แม้เงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์จะเป็นเงินของภริยาโจทก์แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ให้ไว้กับโจทก์ผู้ให้กู้และจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันให้ไว้กับโจทก์เจ้าหนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752 - 753/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 672, 1331

จำเลยเบิกเงินไปจากธนาคารผู้ร้องโดยไม่ได้ความชัดว่าเป็นการเบิกโดยปลอมลายมือชื่อและดวงตราของผู้สั่งจ่ายในเช็ค และจำเลยได้นำเงินนั้นไปฝากไว้กับธนาคารอื่นเงินตราที่ฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารผู้รับฝากเพราะไม่มีข้อตกลงให้ธนาคารส่งคืนเป็นเงินตราอันเดียวกันกับที่รับฝาก

เงิน (จากบัญชีจำเลย) ที่ธนาคารผู้รับฝากส่งไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดี(ตามคำสั่งอายัดในคดีที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา) ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินตราอันเดียวกันกับที่จำเลยนำมาฝาก ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ แสดงว่าเป็นเงินตราอันเดียวกันกับที่จำเลยเบิกไปจากผู้ร้องเงินนั้นจึงเป็นเงินของจำเลย ผู้ร้องจะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2523

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 172, 174 วรรคสอง

จำเลยไม่เห็น ส. ใช้อาวุธปืนยิงจำเลย การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ส. ลงจากรถตรงเข้าใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปตรงที่จำเลยนอนอยู่ 2 นัดนั้น เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนเพื่อจะแกล้ง ส. ให้ต้องรับโทษ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172,174 วรรคสอง การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้บทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยแต่เป็นกรณีที่ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา172 ประกอบด้วยเหตุที่ต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 174 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 744/2523

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2477 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

โจทก์มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ โดยตรง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) สำหรับความผิดนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 224 วรรคสอง, 655 วรรคสอง, 689, 700, 727 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง

การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการยอมผ่อนปรนแก่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวแทน โดยให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะจัดการเรื่องหนี้สินให้เรียบร้อยนั้น จะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์หาได้ไม่ และตามข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่1 ต้องกระทำการต่าง ๆ ก็หาได้ระบุไว้ในสัญญาว่าจะต้องกระทำ ณ เวลาใดอันเป็นกำหนดแน่นอนไม่ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าว และยังกระทำผิดสัญญาในเรื่องการให้กู้ยืมกับให้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์ก็ยังไม่เลิกสัญญาทันทีนั้น ก็ไม่เป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จำนองเป็นประกันการที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์สำหรับความเสียหายทั้งปวง จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด

อายุความสำหรับธนาคารที่จะเรียกร้องเอาดอกเบี้ยทบต้นตามบัญชีเดินสะพัดจากลูกหนี้ของธนาคาร กับอายุความสำหรับโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 นั้นเป็นคนละเรื่องกัน ธนาคารโจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้รายใดได้จนถึงวันใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เมื่อจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์หรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของธนาคารเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะเงินต้นและดอกเบี้ยสูญโจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายและเรียกร้องเอาแก่ผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 ได้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาจัดตั้งธนาคารสาขาอันเป็นสัญญาตั้งตัวแทน มีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 คดีโจทก์ส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่ขาดอายุความในส่วนที่ฟ้องผู้จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 1 ด้วย

เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้ว การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือนั้นแล้ว หากคู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดเดินอยู่ต่อไป ก็ยังไม่ถือว่ามีการผิดนัดกรณีย่อมไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสองในระหว่างนั้นโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากลูกหนี้ผู้เบิกเงินเกินบัญชีได้ตามมาตรา 655 วรรคสอง(อ้างฎีกา658-659/2511 วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

ท้ายฟ้องมีเอกสารหมายเลข 4 ซึ่งเป็นบัญชีลูกหนี้ที่จำเลยที่ 1 ให้กู้ยืมและเบิกเงินเกินบัญชีแล้วเรียกเก็บไม่ได้ซึ่งแสดงรายละเอียดว่า ลูกหนี้ชื่อใด บัญชีที่เท่าใดยอดหนี้เป็นจำนวนเท่าใด ตลอดทั้งเหตุที่เรียกเก็บไม่ได้ เป็นเพราะไม่มีสัญญาหรือว่าไม่มีทั้งสัญญาและหลักประกันด้วยดังนี้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมส่วนข้อที่ว่า หนี้แต่ละรายเหล่านั้นเป็นเงินต้นเท่าใด คิดดอกเบี้ยอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดซึ่งโจทก์นำสืบในชั้นพิจารณาได้

การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันสัญญาจัดตั้งธนาคารสาขานั้นเป็นการให้สัญญาแก่โจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้วไม่ชำระหนี้ค่าเสียหายนั้นก็ให้โจทก์บังคับจำนองได้ ซึ่งต่างกับการค้ำประกันและมิได้มีบทบัญญัติใดในลักษณะจำนองที่ให้นำมาตรา689 ในลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย (อ้างฎีกา 1187/2517)

« »
ติดต่อเราทาง LINE