คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2523

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 700/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 237 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 240, 247

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยที่1 ผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้แต่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินมัดจำกับค่าปรับ และศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ กล่าวอ้างว่าภายหลังที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยร่วมกันฉ้อฉล ทั้งที่จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นคู่สัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้คืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะชำระหนี้ให้โจทก์ได้นอกจากที่ดินแปลงดังกล่าวแปลงเดียว ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อขาย ดังนี้หากข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 อาจเป็นการฉ้อฉล อันจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 208

จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งให้ยกคำร้องเพราะจำเลยยื่นคำขอเมื่อพ้น 15 วันนับแต่วันทราบคำบังคับ จำเลยอุทธรณ์เห็นว่าคำขอของจำเลยได้แสดงเหตุที่ขาดนัดและเหตุที่ยื่นคำขอล่าช้ามาโดยละเอียดพอสมควรแล้ว แต่ในข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลหาได้กล่าวมาโดยละเอียดชัดแจ้งไม่ จึงพิพากษายืน จำเลยจึงมายื่นคำขอพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยบรรยายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นด้วย ดังนี้คำขอให้พิจารณาใหม่ที่จำเลยยื่นในครั้งหลังก็ต้องอยู่ในบังคับแห่งกำหนดเวลาตามมาตรา 208 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเช่นเดียวกับฉบับแรก เมื่อปรากฏว่าพนักงานเดินหมายส่งคำบังคับให้แก่จำเลยวันที่ 14กันยายน 2521 และคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ฉบับหลัง จำเลยอ้างว่า ศ. ซึ่งทำงานอยู่ที่เดียวกับจำเลยและเป็นผู้รับหมายไว้แทนเพิ่งมอบคำบังคับให้จำเลยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2521 แม้กรณีที่จำเลยอ้างว่าเพิ่งทราบคำบังคับจะถือได้ว่ามีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ แต่พฤติการณ์ดังกล่าวก็ได้สิ้นสุดลงแล้วในวันที่จำเลยทราบคำบังคับ จำเลยมายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับหลังเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2522 จึงพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง คำร้องดังกล่าวจึงต้องห้ามตามมาตรา 208. ส่วนการที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ฉบับแรกโดยไม่บรรยายข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลไม่ชอบด้วยมาตรา 208 วรรคท้ายจนศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องไปแล้วนั้น ก็เป็นความผิดพลาดบกพร่องของจำเลยเอง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ที่จะขยายระยะเวลาให้จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 730/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 625

จำเลยรับจ้างโจทก์ขนส่งถังแก๊สเปล่าจากตราดไปกรุงเทพฯโดยมีค่าระวางพาหนะและใบรับของ เป็นสัญญารับขนของอันเป็นบทบัญญัติเฉพาะ จะนำเอาลักษณะทั่วไปของสัญญามาใช้บังคับไม่ได้ ดังนั้นข้อความที่ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในใบรับที่จำเลยผู้ขนส่งออกให้แก่โจทก์ โดยโจทก์มิได้แสดงถึงข้อตกลงนั้นด้วยข้อจำกัดความรับผิดในสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 711

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 711/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

จำเลยเป็นคนขับรถขององค์การ ร.ส.พ. โจทก์ร่วมซึ่งรับบรรทุกสินค้าผ่านแดน ไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจนับสินค้าในรถแล้วใช้ลวดมัดประตูตู้ทึบประทับตราเมื่อรถออกเดินทางก็ควบคุมไปด้วยถือว่าสินค้าเหล่านี้อยู่ในความดูแลรักษาของเจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมผู้ควบคุมรถหาใช่จำเลยไม่เมื่อไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริตจะขอให้ลงโทษจำเลยตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณโดยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยด่าว่าโจทก์และทำร้ายร่างกายโจทก์จนได้รับบาดเจ็บเป็นการเนรคุณโจทก์ ดังนี้ ข้อที่จำเลยไม่ยอมให้สิ่งจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์เพราะความยากไร้ของโจทก์ และจำเลยสามารถที่จะให้ได้ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของการประพฤติเนรคุณนั้น โจทก์มิได้บรรยายยกเป็นประเด็นในคำฟ้อง แม้โจทก์จะได้นำสืบในข้อนี้ก็เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็นรับวินิจฉัยให้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531

โจทก์ไม่เคยขออะไรจากจำเลย และโจทก์ไม่อยากได้ของของ จำเลย จำเลยบอกจะส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ ขออย่าฟ้องร้องกันจำเลยชวนโจทก์ไปอยู่ด้วยเพื่อเลี้ยงดูแต่โจทก์ไม่ยอมไปต้องการเอาที่พิพาท คืนจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์บอกปัด ไม่ให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่โจทก์

เมื่อบิดาจำเลยตาย จำเลยซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของโจทก์ได้ไปทวง โฉนดพิพาทกับโจทก์โจทก์ว่าไม่รู้ไม่เห็นจำเลยจึงไปปรึกษาเจ้าพนักงานที่ดิน และที่สุดไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ยักยอกโฉนดที่พิพาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรม ไม่เป็นการหมิ่นประมาทต่อโจทก์อย่างร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 731 - 732/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 164, 609

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติถึงกรณีรับขนของทางทะเล โดยให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ขณะเกิดกรณีพิพาท กฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลยังไม่มี ดังนั้นอายุความฟ้องร้องในกรณีนี้จึงมีกำหนด10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 จะนำอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624 ในเรื่องรับขนมาใช้บังคับหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709/2523

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341, 343

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343เป็นเรื่องฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คำว่า'ประชาชน' มิได้มีคำจำกัดความไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายถึง 'บรรดาพลเมือง' และคำว่า 'พลเมือง' มีความหมายถึง 'ชาวเมืองทั้งหลาย'

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่ว ๆ ไป ฟ้องดังกล่าวจึงไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2523

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145

แม้ในช่องคู่ความในคดีเดิม โจทก์จะระบุว่าจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. เป็นจำเลย แต่ตามเนื้อหาของคำฟ้อง แสดงว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วย ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวจึงเป็นคู่ความในฐานะส่วนตัวต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว ผู้ร้องจะมาอ้างในคดีใหม่อีกว่าทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2523

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 702, 732, 733, 736 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 318

เดิมโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ แล้วตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ภายใน 12 ปีโดยจำเลยจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำเลยจำนองนั้นโดยติดจำนอง เงินที่ได้มาเมื่อหักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีแล้วจึงต้องนำมาจ่ายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 318

« »
ติดต่อเราทาง LINE