คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2522

ประมวลรัษฎากร ม. 111, 118 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 (1), 177, 249 วรรคสอง

ปัญหาว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบ จึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ถึงแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นก็ยังยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้

โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความว่า อนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งชี้ขาดแล้วดังสำเนาคำชี้ขาดพร้อมด้วยคำแปลท้ายฟ้อง จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าคำชี้ขาดนี้ขัดต่อกฎหมายไทย เป็นการยอมรับแล้วว่ามีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังสำเนาที่โจทก์แนบมาท้ายฟ้องจริง ไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำสืบแสดงว่ามีคำชี้ขาดดังกล่าวอีก ดังนั้นถึงจะฟังว่าต้นฉบับปิดอากรแสตมป์ไม่ครบก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 154/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 25, 28 วรรคแรก

เมื่อจำเลยและผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึด โดยจำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยจากการยึด จะร้องขอให้ปล่อยได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่กล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึด

การที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518มาตรา 28 วรรคแรก บัญญัติว่าภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 ใช้บังคับ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายนั้น. มิได้เป็นการห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาดหากแต่มีการผ่อนคลายไว้ว่าถ้าได้รับอนุญาตก็ทำการจำหน่ายได้ ทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทมาขายทอดตลาดเพื่อเอาชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102/2522

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ม. 105, 108, 110, 148 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516 ม. 31, 32

ขนแร่ดีบุกเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนเกินกว่า ร้อยละห้า ถือว่าขนแร่ของกลางทั้งหมดโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 110 และถือได้ว่าเป็นการครอบครองแร่ดีบุกของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงแม้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตขนแร่แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ขนก็เท่ากับว่าจำเลยครอบครองแร่ดีบุกของกลางโดยไม่ได้รับอนุญาตและขนแร่ดีบุกดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตนั่นเองจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 193

จำเลยฎีกาว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจำเลยก็ยังไม่มีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามฟ้องดังนี้ เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ได้ยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาแต่ประการใดเลย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 137, 172 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 134

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาจะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างใดก็ได้ แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วสอบสวนจดคำให้การของจำเลยไว้ ต่อมามีพยานหลักฐานว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับรถชนผู้เสียหายมิใช่จำเลย พนักงานสอบสวนเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่จดไว้เป็นความเท็จจึงแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานดังนี้ คำให้การของจำเลยที่พนักงานสอบสวนจดไว้เป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาแม้ไม่เป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 86, 289

จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเข้าไปใช้อาวุธปืนยิงส. ในบริเวณบ้าน เมื่อยิงแล้วจำเลยที่ 1 ได้วิ่งไปขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 จอดติดเครื่องรออยู่ห่างที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตรเศษ แล้วจำเลยที่ 2ได้ขับรถจักรยานยนต์พาหนีไปทันทีพฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นแต่เพียงการช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 845

จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อขายรถยนต์ดัมทรัค 3 คัน เมื่อขายได้แล้วจะให้ค่านายหน้า 5% โจทก์ได้ติดต่อกับผู้ซื้อซึ่งเป็นหน่วยราชการซึ่งจัดการซื้อรถยนต์ดังกล่าวโดยวิธีประกวดราคา ในการประกวดราคาโจทก์ก็ได้ช่วยเหลือจำเลย จนในที่สุดจำเลยประมูลขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อเป็นผลสำเร็จ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ชี้ช่องให้จำเลยได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้จำเลยได้ทำสัญญา จำเลยต้องจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 187 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 28 (2)

เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปยึดทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดฯจำเลยที่ 1 ในคดีเดิม แล้วมอบให้จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมเป็นผู้รักษาทรัพย์ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด ปรากฏว่าทรัพย์บางรายการมีสภาพชำรุด ทำให้เสื่อมราคา ดังนี้หากจำเลยที่ 1 กระทำการใด ๆ แก่ทรัพย์ที่ยึดให้เสียหาย ผู้ที่เสียหายย่อมได้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและโจทก์ในคดีเดิม โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีเดิมในฐานะผู้ค้ำประกันและเป็นผู้นำยึดทรัพย์จะต้องรับผิดใช้หนี้มากน้อยเพียงใด ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมได้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่1ผู้รักษาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081 - 1082/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 420, 421, 461, 462, 1299, 1367 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 รู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทกับจำเลยที่ 2 มาก่อนมีเจตนาขัดขวางการโอนที่ดินแปลงพิพาท ด้วยวิธีขออายัดและฟ้องศาล โดยมีคำขอให้ห้ามชั่วคราวมิให้มีการทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงเป็นการร่วมกันจงใจกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 เพียงแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังมิได้จดทะเบียนเพื่อให้การซื้อขายสมบูรณ์ และมิได้ส่งมอบที่ดินให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครอง จำเลยที่ 1 คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะขับไล่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านของโจทก์ที่ 2 ให้ออกไปจากที่พิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 60 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 132, 797, 798, 800

โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ.ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท ในคดีหนึ่งไปครั้งหนึ่งแล้ว จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิ อยู่ต่อไปชั่วเวลามีกำหนด โจทก์จึงถอนฟ้องอ้างว่ายังไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับจำเลย ต่อมา อ.ใช้หนังสือมอบอำนาจนั้นฟ้องจำเลยคดีนี้ เช่นนี้กิจการที่โจทก์มอบอำนาจให้ อ.ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทยังไม่เสร็จสิ้นและโจทก์ยังมิได้ถอนหรือบอกเลิกการมอบอำนาจ อ.มีหน้าที่ฟ้องขับไล่จำเลยตามที่ได้รับมอบอำนาจ จึงใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวฟ้องขับไล่จำเลยในคดีนี้ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE