คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1591

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1591/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 290

ที่ว่าให้ยื่นคำขอเฉลี่ยก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรค 3 นั้นหมายถึงวันสิ้นสุดการขายทรัพย์ที่ยึดมาในคราวเดียวกันทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2522

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

ฟ้องบรรยายว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนรถโจทก์โดยประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ได้ความว่ารถเป็นของคนอื่นเอาประกันภัยค้ำจุนไว้ ไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 เอาประกันภัย ข้อที่ว่าเจ้าของรถซึ่งไม่ใช่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดด้วย เป็นนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1588

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1588/2522

ประมวลรัษฎากร ม. 30, 63, 77, 78, 79ทวิ (3) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 314 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 225

โจทก์เป็นผู้ยื่นชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้เองโดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไม่ได้ประเมินเรียกให้โจทก์ชำระดังนี้ เป็นกรณีที่ไม่มีการประเมินเรียกเก็บโจทก์จึงไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 และเมื่อโจทก์มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในทางแพ่ง โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจนำคดีมาฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ค่าภาษีเงินได้ซึ่งลูกจ้างผู้มีเงินได้จะต้องชำระให้แก่จำเลยนั้นเป็นหนี้อันเกิดขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายการที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินค่าภาษีเงินได้แทนลูกจ้างไปนั้นถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยบุคคลภายนอกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 314 เงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนลูกจ้างไปนั้นเป็นเงินของโจทก์ดังนั้น ถ้าโจทก์ชำระเกินจำนวนที่ลูกจ้างเป็นหนี้อยู่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกคืนส่วนที่ชำระเกินไปนั้นได้

ประมวลรัษฎากรมาตรา 63 ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้ใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป นั้นใช้บังคับสำหรับบุคคลซึ่งถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายในวันที่จะใช้สิทธิเรียกเงินของตนที่ถูกหักภาษีเกินไปคืนแม้โจทก์จะไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย แต่โจทก์เป็นผู้ออกเงินของโจทก์ชำระค่าภาษีแทนลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้และถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย มีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนโดยต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ชำระภาษีนั้นแทนโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเท่าที่ลูกจ้างมีอยู่ คือต้องยื่นคำร้องขอรับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 63 เช่นเดียวกันส่วนเรื่องอายุความลาภมิควรได้นั้นจำเลยไม่ได้หยิบยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการชอบแล้ว

โจทก์นำวัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามาเพื่อใช้ผลิตเป็นสินค้าเพื่อขาย มิได้นำมาเพื่อขายในขณะที่เป็นวัตถุดิบดังนี้ แม้โจทก์จดทะเบียนประกอบการค้าไว้ในฐานะผู้นำเข้าและผู้ผลิตก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าวัตถุดิบดังกล่าวตามความหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 คือโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าและรายการที่ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคแรก และโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าในกรณีที่ให้ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเป็นผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง และเมื่อโจทก์มิได้เป็นผู้ประกอบการค้าวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อขายโดยเฉพาะก็จะถือว่าการที่โจทก์นำวัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามาเพื่อใช้ผลิตสินค้าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 79ทวิ(3) ไม่ได้ด้วย โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบในฐานะผู้นำเข้าตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น (มิถุนายน 2505 ถึง ตุลาคม 2513)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 345

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 345/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157, 158, 266

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลปกครองรักษาไว้โดยปลอดภัยซึ่งเอกสารราชการ และเอกสารสิทธิทั้งปวงอันเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของประชาชน จำเลยได้ลักลอบเอาเอกสารซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาออกจากตู้เก็บเอกสารไปบางฉบับ แล้วนำไปให้ ส. ทนายความตรวจดูนอกสถานที่ราชการ และจำเลยได้ปลอมเอกสารนั้นเช่นนี้เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดรวมทั้งแก่ทางราชการด้วยแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย (นอกจากจะผิดตามมาตรา158 และมาตรา 266 แล้ว)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2522

ประมวลรัษฎากร ม. 39, 40 (1), 40 (2), 40 (3), 40 (4) (ก), 54

เงินค่าสิทธิในกรรมวิธีผลิตตามมาตรา 40(3) และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตาม (4)(ก) กฎหมายบัญญัติว่าเป็นเงินได้พึงประเมินไม่ได้บัญญัติรวมถึงภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยที่ผู้จ่ายเงินออกชำระแทนให้ผู้มีเงินได้อันจะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน เช่นที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งในมาตรา 40(1) และ (2) ฉะนั้นเงินที่โจทก์ชำระแทนบริษัทต่างประเทศเป็นค่าภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยดังกล่าว จึงไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) และ (4)(ก)

โจทก์ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน74,747,567.84 บาท แทนบริษัทต่างประเทศ เป็นเงิน 18,096,689.72 บาท เต็มจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องชำระแล้วกรมสรรพากรจำเลยอ้างว่าหากโจทก์หักภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าวออกบริษัทในต่างประเทศจะได้รับเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยไปเพียง 56,650,878.12 บาท แต่โจทก์ชำระภาษีเงินได้แทนเป็นเหตุให้บริษัทในต่างประเทศได้รับเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยเกินไปเท่ากับจำนวนภาษีเงินได้ที่โจทก์ชำระแทน เงินจำนวนนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสิทธิและดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ผู้จ่ายเงินจะต้องรับผิดร่วมกับบริษัทในต่างประเทศชำระภาษีเงินได้ดังนี้ รับฟังไม่ได้ เพราะโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน 74,747,767.84 บาท หาใช่ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน 56,650,878.12 บาท หากโจทก์จะต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้อีกก็เป็นการชำระภาษีซ้ำซ้อน แม้ในกรณีนี้ถ้าโจทก์มิได้ชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ก็คงต้องรับผิดร่วมกับบริษัทในต่างประเทศชำระภาษีเงินได้เท่าจำนวนที่มิได้หักและนำส่งตามมาตรา 54วรรคแรก เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 192, 1710, 1754 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 177, 183

จำเลยให้การว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ เพราะคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับมรดกจำเลยเป็นทายาทตามพินัยกรรม โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี เป็นคำให้การที่จำเลยประสงค์ยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยให้การอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ขาดอำนาจฟ้องเพราะมิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด 60 วัน ตามคำสั่งของนายอำเภอก็ยังไม่พอแปลได้ว่า จำเลยได้ยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710 เป็นข้อต่อสู้คดีไม่มีประเด็นว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1710

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2522

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 458, 459

ซื้อขายรถยนต์ แม้ไม่โอนทะเบียนเป็นชื่อผู้ซื้อกรรมสิทธิ์ก็โอนไปเป็นของผู้ซื้อตาม มาตรา 458 ผู้ซื้อขายต่อไปโดยมีข้อสัญญาว่า ชำระราคาครบจึงจะโอนทะเบียนรถให้ และให้ถือการโอนชื่อในทะเบียนเป็นเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนี้ เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามมาตรา459 กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะชำระราคาครบและโอนทะเบียนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2522

คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (15), 90, 193, 216

คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 22 ไม่ตัดอำนาจศาลที่จะวินิจฉัยว่าบุคคลผู้ถูกควบคุมนั้นมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมจริงหรือไม่โดยเฉพาะในคำสั่งก็ไม่มีข้อความระบุว่าให้อำนาจในการจับกุมและควบคุมของเจ้าพนักงานเป็นที่สุด หรือห้ามบุคคลใด ๆ นำกรณีดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาล ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคมจริงหรือไม่ อันจะนำข้อเท็จจริงไปสู่ข้อวินิจฉัยว่าการที่เจ้าพนักงานควบคุมบุคคลผู้นั้น เป็นการควบคุมโดยชอบหรือผิดกฎหมาย

เมื่อมีคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90และศาลได้หมายเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคลซึ่งก่อให้เกิดการควบคุมหรือขังเข้ามาในคดีแล้ว ย่อมถือว่ามีข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานหรือบุคคลซึ่งเป็นผู้คัดค้าน และเป็นคู่ความ เมื่อศาลพิจารณาและมีคำสั่งอย่างไร หากผู้ร้องหรือผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยตามคำสั่งก็ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

เจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกในรูปคณะกรรมการจัดการมรดกโดยระบุชื่อบุคคลพวกหนึ่งและระบุตำแหน่งอีกพวกหนึ่งรวมทั้งหมด 11 ท่าน โดยมีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงครามรวมอยู่ด้วย และมีข้อกำหนดไว้ว่าให้คณะกรรมการตั้งแต่ 5 ท่านขึ้นไปเป็นองค์ประชุมจัดการทรัพย์มรดกได้ พินัยกรรมมิได้ระบุชื่อโจทก์หรือตั้งโจทก์ให้เป็นคณะกรรมการจัดการมรดก โจทก์ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ใช่เป็นผู้จัดการมรดก ตามคำฟ้องของโจทก์อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม มิได้อ้างว่าโจทก์เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม หรือฟ้องในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม โจทก์ในฐานะส่วนตัวไม่ได้รับความเสียหาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2522

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36

ผู้เช่าซื้อรถยนต์ไม่ใช่เจ้าของ จึงร้องขอคืนรถยนต์ที่ศาลริบไม่ได้

« »
ติดต่อเราทาง LINE