คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2522
ประมวลรัษฎากร ม. 39, 40 (1), 40 (2), 40 (3), 40 (4) (ก), 54
เงินค่าสิทธิในกรรมวิธีผลิตตามมาตรา 40(3) และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตาม (4)(ก) กฎหมายบัญญัติว่าเป็นเงินได้พึงประเมินไม่ได้บัญญัติรวมถึงภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยที่ผู้จ่ายเงินออกชำระแทนให้ผู้มีเงินได้อันจะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน เช่นที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งในมาตรา 40(1) และ (2) ฉะนั้นเงินที่โจทก์ชำระแทนบริษัทต่างประเทศเป็นค่าภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยดังกล่าว จึงไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) และ (4)(ก)
โจทก์ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน74,747,567.84 บาท แทนบริษัทต่างประเทศ เป็นเงิน 18,096,689.72 บาท เต็มจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องชำระแล้วกรมสรรพากรจำเลยอ้างว่าหากโจทก์หักภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าวออกบริษัทในต่างประเทศจะได้รับเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยไปเพียง 56,650,878.12 บาท แต่โจทก์ชำระภาษีเงินได้แทนเป็นเหตุให้บริษัทในต่างประเทศได้รับเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยเกินไปเท่ากับจำนวนภาษีเงินได้ที่โจทก์ชำระแทน เงินจำนวนนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสิทธิและดอกเบี้ยซึ่งโจทก์ผู้จ่ายเงินจะต้องรับผิดร่วมกับบริษัทในต่างประเทศชำระภาษีเงินได้ดังนี้ รับฟังไม่ได้ เพราะโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน 74,747,767.84 บาท หาใช่ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน 56,650,878.12 บาท หากโจทก์จะต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้อีกก็เป็นการชำระภาษีซ้ำซ้อน แม้ในกรณีนี้ถ้าโจทก์มิได้ชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ก็คงต้องรับผิดร่วมกับบริษัทในต่างประเทศชำระภาษีเงินได้เท่าจำนวนที่มิได้หักและนำส่งตามมาตรา 54วรรคแรก เท่านั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยและค่าสิทธิในการใช้กรรมวิธีผลิตให้บริษัทในต่างประเทศทุกปี เงินนี้เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3)(4)(ก) ซึ่งโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้แทนบริษัทต่างประเทศแล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของจำเลยเห็นว่า ภาษีเงินได้ที่โจทก์ออกแทนดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่บริษัทต่างประเทศจะต้องเสียภาษีตามมาตรา 70(2) จึงมีคำสั่งให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มโจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้อุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติไม่รับอุทธรณ์และส่งเรื่องให้จำเลยพิจารณา จำเลยเห็นว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้วให้โจทก์นำเงินภาษีไปชำระ โจทก์ได้รับความเสียหายจึงขอให้ศาลพิพากษายกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและของจำเลยดังกล่าว
จำเลยให้การว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์นำเงินภาษีไปชำระเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำสั่งของจำเลยตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าเงินจำนวน 18,096,689.72บาท ที่โจทก์ชำระเป็นค่าภาษีเงินได้แทนบริษัทในต่างประเทศนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินของบริษัทในต่างประเทศตามมาตรา 40(3) และ (4)(ก)หรือไม่และการที่โจทก์จ่ายเงินค่าสิทธิในกรรมวิธีผลิตและดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้บริษัทในต่างประเทศไปเต็มจำนวน 74,747,567.84 บาท โดยมิได้หักค่าภาษีเงินได้จำนวน 18,096,689.72 บาทไว้ ซึ่งหากโจทก์หักค่าภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าวออก บริษัทในต่างประเทศจะได้รับเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยไปเพียง 56,650,878.12 บาท จะถือว่าบริษัทในต่างประเทศได้รับเงินเกินไป 18,096,689.72 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชำระค่าภาษีเงินได้ร่วมกับบริษัทในต่างประเทศหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 39 บัญญัติว่า "ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
"เงินได้พึงประเมิน" หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ฯลฯ"
มาตรา 40 บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินนั้นคือเงินได้ประเภทต่อไปนี้
(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้างเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างออกให้เป็นค่าภาษีเงินได้หรือภาษีอากรอื่น ฯลฯ
(2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าสวนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้ออกให้เป็นค่าภาษีเงินได้หรือภาษีอากรอื่น ฯลฯ
(3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปีหรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่นหรือคำพิพากษาของศาล
(4) เงินได้ที่เป็น
(ก) ดอกเบี้ยจากพันธบัตร หุ้นกู้ เงินกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือเงินฝาก"
ตามบทบัญญัติมาตรา 40(3) และ (4)(ก) ดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าเฉพาะเงินค่าสิทธิในกรรมวิธีผลิต และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเท่านั้นที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน ไม่ได้บัญญัติรวมถึงภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยที่ผู้จ่ายเงินออกชำระแทนให้ผู้มีเงินได้อันจะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน เช่นที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในมาตรา 40(1) ว่าเงินที่นายจ้างออกให้เป็นค่าภาษีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน และมาตรา 40(2)ว่าเงินที่ผู้จ่ายเงินได้ออกให้เป็นค่าภาษีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้เป็นเงินได้พึงประเมิน ฉะนั้น เงิน 18,096,689.72บาท ที่โจทก์ชำระเป็นค่าภาษีเงินได้แทนบริษัทในต่างประเทศนั้น จึงไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) และ (4)(ก) ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสิทธิในกรรมวิธีผลิตและดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้บริษัทต่างประเทศไปเต็มจำนวน 74,747,567.84 บาท โดยมิได้หักค่าภาษีเงินได้จำนวน 18,096,689.72 บาทไว้ หากโจทก์หักภาษีเงินได้จำนวนดังกล่าวออกบริษัทในต่างประเทศจะได้รับเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยไปเพียง56,650,878.12 บาท แต่โจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้แทน เป็นเหตุให้บริษัทในต่างประเทศได้รับเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยเกินไปเท่ากับจำนวนภาษีเงินได้ที่โจทก์ชำระแทนเป็นเงิน 18,096,689.72 บาท เงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์ผู้จ่ายเงินจะต้องรับผิดร่วมกับบริษัทในต่างประเทศชำระภาษีเงินได้นั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยรับฟังไม่ได้เพราะโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน 74,747,567.84 บาทเป็นเงิน 18,096,689.72บาท เต็มจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องชำระแล้ว หาใช่ชำระภาษีเงินได้ของเงินค่าสิทธิและดอกเบี้ยจำนวน 56,650,878.12 บาทไม่ หากให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้อีกก็เป็นการชำระภาษีซ้ำซ้อน แม้ในกรณีสมมุติว่าโจทก์มิได้หักและนำส่งเงินภาษีเงินได้ทั้งมิได้ชำระภาษีเงินได้แทนโจทก์ก็คงต้องรับผิดร่วมกับบริษัทในต่างประเทศชำระภาษีเงินได้เท่าจำนวนที่มิได้หักและนำส่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากรกับเสียเงินเพิ่มเท่านั้น สรุปแล้วโจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท โรงกลั่นน้ำมันไทย จำกัด จำเลย - กรมสรรพากร
ชื่อองค์คณะ ภิญโญ ธีรนิติ สีห์ คลายนสูตร ภักดิ์ บุณย์ภักดี
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan