คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 277, 279 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 39 (4), 120 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 47

อัยการศาลทหารเคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลทหาร ศาลทหารเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยถึงความผิดที่ฟ้องนั้นแต่ประการใดดังนี้พนักงานอัยการย่อมนำคดีเดียวกันนั้นมาฟ้องจำเลยต่อศาลพลเรือนในวันเดียวกันนั้นอีกได้ไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนและเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ในชั้นเดิมพนักงานสอบสวนเข้าใจผิดว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารแต่ผู้ทำการสอบสวนนั้นก็คือนายตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งกระทำไปตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 47วรรคแรกตอนท้ายนั้นเอง เมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีนี้ใหม่ต่อศาลพลเรือนจึงไม่จำเป็นต้องสอบสวนใหม่

จำเลยพยายามเอาของลับของตนใส่เข้าไปในของลับของเด็กหญิงอายุ 11 ขวบนานราว 8 อึดใจก็ใส่ไม่เข้า เด็กหญิงนั้นรู้สึกเจ็บที่บริเวณของลับภายนอก และในครั้งต่อมาจำเลยเอาไข่ขาวทาที่ของลับของจำเลยเสียก่อนแล้วจึงพยายามใส่เข้าไปในของลับของเด็กหญิงนั้น นานราว 6 อึดใจก็ใส่ไม่เข้า การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งเช่นนี้แสดงให้เห็นการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าจำเลยได้ลงมือกระทำชำเราแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล มีความผิดตามมาตรา 277 ประกอบด้วย 80

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 254, 260, 282, 290

ศาลมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ 5492/2516 ให้อายัดเงินของจำเลยไว้ก่อนโจทก์ในคดีนี้และธนาคาร อ. ผู้รับคำสั่งอายัด ก็มิได้ปฏิเสธคำสั่งอายัดนั้นแต่ประการใดคำสั่งอายัดจึงมีผลตามกฎหมายแม้คำสั่งอายัดในคดีหมายเลขแดงที่ 5492/2516 จะเป็นคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนคำพิพากษา แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีนั้นให้จำเลยใช้หนี้ให้โจทก์ในคดีนั้นแล้ว โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 5492/2516 นั้นก็ได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและขอให้ศาลเรียกเงินที่ธนาคาร อ. ส่งมาตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ในคดีนั้นถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา260(2) แล้ว คำสั่งอายัดชั่วคราวยังมีผลอยู่ ธนาคาร อ. จะนำเงินที่ศาลมีคำสั่งอายัดชั่วคราวไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 5492/2516 นั้นส่งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีอื่นที่ขออายัดภายหลังไม่ได้ แต่เมื่อส่งมาแล้วก็ชอบที่จะกันเงินจำนวนนั้นไว้ชำระหนี้ให้โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่ 5492/2516

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2403/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 295

จำเลยจับมือโจทก์ร่วมกระแทกกับรถ มีรอยช้ำตามตัวมีรอยข่วนแขนถลอก 7 วันหาย ไม่เป็นอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2518

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

ตามฟ้องระบุวันเกิดเหตุระหว่างตั้งแต่ก่อนจนถึงภายหลังขยายอำนาจศาลแขวงมาถึงที่เกิดเหตุ จึงเป็นเรื่องที่ศาลจังหวัดและศาลแขวงพิจารณาคดีได้ แม้คดีในอำนาจศาลแขวง ศาลจังหวัดก็พิจารณาได้ศาลจังหวัดจึงควรรับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 537, 538

ป. และจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับพวกรวม 8 คน เข้าหุ้นส่วนทำการขายอาหารในภัตตาคารน.โดยเช่าภัตตาคาร น. มาจากบริษัท น.ต่อมาผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าวได้ก่อตั้งบริษัทโจทก์ขึ้นโดย ป. กับจำเลยที่2 ที่ 3เป็นผู้เริ่มก่อการในการประชุมตั้งบริษัทโจทก์ครั้งแรกที่ประชุมได้มีมติให้ถือเอาสัญญาเช่าที่ ป. และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผู้เริ่มก่อการทำไว้กับบริษัท น. เป็นสัญญาเช่าที่ผูกพันบริษัทโจทก์และต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1กับพวกเข้าแย่งดำเนินกิจการภัตตาคาร น. บริษัท น. ก็ได้แจ้งให้บริษัทโจทก์ทราบว่าการบุกรุกและยึดกิจการภัตตาคาร น. เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่เกี่ยวกับบริษัท น. ให้บริษัทโจทก์เข้าดำเนินกิจการภัตตาคารต่อไปดุจเดิม ข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ จึงน่าเชื่อว่าบริษัทโจทก์เข้าครอบครองภัตตาคาร น. โดยสวมสิทธิการเช่าจากห้างหุ้นส่วนผู้เช่าเดิมบริษัทโจทก์จึงฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งบุกรุกเข้าแย่งการครอบครองและเรียกค่าเสียหายได้ แม้โจทก์จะไม่มีหนังสือสัญญาเช่ากับบริษัท น. ต่อกันไว้ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับคดีเกี่ยวกับสัญญาเช่าภัตตาคาร น. แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 673/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138, 148

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับว่าโจทก์ฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 24 หมู่ที่ 12 ตำบลเมือง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย มาครั้งหนึ่งตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 74/2515 ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี และมาฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยโอนที่ดินตามหนังสือ น.ส.3 เลขที่ 224 หมู่ที่ 12 ตำบลเมืองอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย แล้วคู่ความต่างแถลงไม่สืบพยานโดยท้ากันขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ดังนี้ คำแถลงรับของคู่ความดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงอย่างใดที่จะให้ฟังว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน คดีของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ย่อมชนะคดีตามคำท้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 395, 401, 887, 888 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ของจำเลยตามกรมธรรม์ประกันภัยมีว่า โจทก์จะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกรายหนึ่ง ๆ ไม่เกิน 10,000 บาท รถยนต์ของจำเลยคันนั้นได้ชนกับรถยนต์คันอื่น ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชอบโจทก์ได้ซ่อมรถคันที่ถูกชนนั้นสิ้นเงินไป 25,000 บาท ขอให้จำเลยใช้เงิน 15,000 บาท ที่โจทก์จ่ายเกินไปให้โจทก์ดังนี้ บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับเงินค่าซ่อมรถจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าที่โจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์ส่วนจำนวนที่ยังขาดอยู่นั้นชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยใช้ให้ โจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะจ่ายเงินค่าซ่อมรถให้ผู้ต้องเสียหายเกินกว่าความรับผิดของตนซึ่งจำกัดไว้เพียง 10,000 บาท แต่เมื่อได้จ่ายไปแล้วแม้จำเลยจะไม่ได้มอบหมายให้จัดการแทนก็ตาม ก็ย่อมเป็นผลทำให้หนี้ค่าซ่อมรถที่ยังขาดอยู่นั้นระงับไป และจำเลยหลุดพ้นความรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายจึงอาจสมประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการและต้องตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการหรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ กรณีตามฟ้องเป็นเรื่องจัดการงานนอกสั่งที่อาจจะก่อให้เกิดหนี้ที่ผูกพันจำเลยให้ต้องชดใช้เงินที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการได้ออกทดรองจัดการงานให้จำเลยไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 401 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยศาลชอบที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 308 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 514, 516

ในการขายทอดตลาดของศาล ว. ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ราคาสูงสุด ช. ให้ราคารองลงมา ศาลสั่งอนุญาตให้ขายแก่ ว.ให้ว. วางเงินมัดจำในวันนั้น หากไม่นำเงินมาวางก็เป็นอันยกเลิกไม่ขายให้ ว. และให้ขายแก่ ช.ให้ ช. วางมัดจำในวันที่กำหนดให้ว. ขอผัดวางเงินศาลไม่อนุญาต ดังนี้ ศาลจะสั่งให้ขายให้แก่ ช. โดยมิได้ขายทอดตลาดใหม่หาได้ไม่เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 514 เมื่อ ว. ได้สู้ราคาสูงขึ้นไปกว่า ช. ช. ย่อมพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้ และศาลก็ได้สั่งให้ขายให้ ว. เมื่อ ว. ไม่ชำระราคาตามกำหนดและศาลไม่อนุญาตให้ผัดการวางเงินออกไปอีกว. จึงเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดที่ได้ละเลยเสียไม่ใช้ราคาศาลจะต้องเอาทรัพย์นั้นออกขายอีกซ้ำ ตามมาตรา 516 ถ้าได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมจำเลยโดย ว. ผู้รับมอบอำนาจจะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 420/2518

ประมวลรัษฎากร ม. 89 (3), 89 ทวิ บัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 1

โจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าไทยศิลาดลชนิดต่างๆ เพื่อขาย ได้เอาปลั๊ก สายไฟ โป๊ะไฟซึ่งใช้ผ้าไหมไทยทำด้วยมืออย่างประณีตมีราคาแพง ติดเข้ากับสินค้าไทยศิลาดลทำเป็นตะเกียงแล้วขายไปด้วยกัน โป๊ะกับคนโทศิลาดลมีราคาใกล้เคียงกันและโป๊ะมีราคามากกว่าคนโท เมื่อเอาเครื่องประกอบทองเหลืองเพื่อติดหลอดไฟรวมเข้ากับโป๊ะด้วยจะยิ่งมีราคามากขึ้นไปอีกจึงจะถือว่าสินค้าไทยศิลาดลของโจทก์เป็นทรัพย์ประธานเสมอไปหาได้ไม่ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่าได้มีการเจาะก้นแจกันศิลาดลเพื่อยึดโคมไฟฟ้าไว้ให้มั่นคงแข็งแรงสินค้าไทยศิลาดลของโจทก์ซึ่งได้ประกอบเข้ากันกับเครื่องไฟฟ้าและโป๊ะไฟ จึงเป็นแต่ชิ้นส่วนของโคมไฟฟ้า ทั้งตามเอกสารที่โจทก์อ้างมีภาพสินค้าไทยศิลาดลกับโป๊ะไฟด้วยกันและภาษาอังกฤษบรรยายประกอบ เห็นว่าเป็นภาพโฆษณาสินค้าไทยศิลาดลที่ทำเป็นโคมไฟฟ้าแบบราชวงศ์หมิงแบบขวดน้ำเต้าแบบหม้อชาหรือกาแฟลายมังกร แบบเทพนม แบบเศียรนาคแบบอื่นๆและแบบช้างฉะนั้นสินค้าไทยศิลาดลกับโป๊ะและเครื่องไฟฟ้าของโจทก์ซึ่งได้ประกอบเข้าด้วยกัน จึงไม่ได้เป็นศิลปวัตถุสำหรับดูเล่นเพื่อความสวยงามหรือเป็นเครื่องประดับแต่เป็นโคมไฟฟ้าตามความเป็นจริง โจทก์จึงต้องเสียภาษีประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 3(ก) ร้อยละ 10 ของรายรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418 - 419/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 183, 185

จำเลยที่ 1 ขับรถที่มีความสูงกว่าปกติออกจากปั๊มน้ำมันลอดสายเคเบิลโทรศัพท์ที่ขึงพาดอยู่บนเสาโทรเลขตามแนวถนนหน้าปั๊มน้ำมันด้วยการเร่งเครื่องยนต์ทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วล้อรถปีนขึ้นบนคานคอนกรีตหน้าปั๊มน้ำมันอันทำกันไว้มิให้เป็นทางรถเข้าออก ท้ายรถซึ่งสูงกว่าปกติจึงกระดอนสูงจนเหล็กประกับรูปตัวยู (U) ที่ติดอยู่บนโครงไม้ท้ายรถอันเป็นส่วนที่สูงที่สุดของรถเกี่ยวเอาสายเคเบิลโทรศัพท์ของโจทก์ที่ 2 ดึงลากไป เป็นเหตุให้เสาโทรเลขของโจทก์ที่ 1 ที่พาดอยู่หักและล้ม ดังนี้ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ขับรถที่ต่อโครงไม้สูงขึ้นไปมากกว่าปกติลอดผ่านสายเคเบิลโทรศัพท์โดยประมาทไม่ดูแลเสียก่อนการที่โจทก์นำสืบถึงความประมาทเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถปีนคานคอนกรีตด้วย เป็นการนำสืบในประเด็นเรื่องความประมาทเลินเล่อในการขับรถของจำเลยที่ 1 หาเป็นการสืบนอกฟ้องไม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE