คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 428, 432

จำเลยทั้งสามกับ จ.จ้างเหมาให้ ฮ.สร้างตึกแถวให้คนละห้อง โดยต่างคนต่างจ้างและแยกกันทำสัญญาคนละฉบับ ฮ.ตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างตึกแถวดังกล่าว ทำให้ตึกของโจทก์ซึ่งอยู่ในที่ข้างเคียงสั่นสะเทือนและแตกร้าวเมื่อจำเลยเป็นผู้เลือกหาผู้รับจ้าง และการก่อสร้างก็ต้องเป็นไปตามการงานที่จำเลยสั่งให้ทำตามข้อบังคับในสัญญาจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้อง จ. ด้วย ศาลย่อมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดเพียง 3 ใน 4 ของจำนวนค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382

โจทก์จำเลยแบ่งที่ดินมรดกต่างครอบครองที่ดินที่แบ่งคนละแปลงแต่โฉนดที่โจทก์ได้รับมาในชื่อโจทก์เป็นโฉนดที่ดินแปลงอีกแปลงหนึ่งส่วนโฉนดที่จำเลยได้รับไปในชื่อจำเลยเป็นโฉนดที่ดินที่โจทก์ครอบครองโจทก์ครอบครองมาเกิน 10 ปีโดยเข้าใจผิดว่าครอบครองที่ดินตามโฉนดที่ตนมีชื่อ ดังนี้ แม้โจทก์เพิ่งทราบความผิดพลาดโจทก์ก็ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินที่ครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2518

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 38, 74

จำเลยเป็นคนงานของบริษัทวิสาหกิจสินแร่สยามอเมริกัน จำกัด ได้เบิกและขนวัตถุระเบิดจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทไประเบิดแร่ในเขตสัมปทานของบริษัทตามจำนวนที่ระบุไว้ใน เอกสาร ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตให้มีและใช้ระเบิดได้ทั้งจำเลยมีใบคู่มือให้ควบคุมการขนของกลางขึ้นเขาศูนย์ และมีบัตรอนุญาตให้ผ่านเข้าบริเวณเขาศูนย์เขตประทานบัตรได้ดังนี้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีวัตถุประสงค์ระเบิดของกลางไว้ในความครอบครองอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 46, 87, 90, 93

เอกสารตอนบนมีข้อความเป็นภาษาไทย ตอนล่างมีข้อความเป็นภาษาจีน โจทก์มิได้ส่งคำแปลเป็นภาษาไทย แต่ข้อความที่เป็นภาษาไทยอยู่บางส่วนนั้น อ่านได้ใจความว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ ดังนี้ ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานว่าได้มีการกู้ยืมเงินกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 324

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 324/2518

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 6, 22 (3), 24, 91 วรรคสอง, 94 (1)

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ชั่วคราวแล้ว อำนาจในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ก็เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ประกอบด้วยมาตรา 6 วรรคแปด หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งลูกหนี้ทำไว้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวยอมใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ จึงไม่สมบูรณ์ เพราะเกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 94(1) ทั้งเชื่อว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นด้วยการสมยอม จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งหนี้โดยชอบประกอบคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 วรรคสองไม่ได้

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 24 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังอาจกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนถ้าได้กระทำการตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลได้แต่เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายเท่านั้นเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายมิได้มีบทบัญญัติให้ศาลมีคำสั่งให้ความเห็นชอบหรืออนุญาตให้ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้เองแต่อย่างใดการที่ศาลทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จะถือว่าศาลให้ความเห็นชอบหรืออนุญาตไม่ได้ หากแต่เป็นเพราะศาลไม่ทราบว่าลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในคดีอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2518

พระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 ม. 12, 58, 72 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 174

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมาคม ส. ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตและร่วมกันเป็นตัวแทนประกันชีวิตของสมาคม ส.โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต จำเลยรับข้อเท็จจริงตามคำแถลงของเจ้าหน้าที่ที่โจทก์ส่งต่อศาลว่า สมาคม ส.จดทะเบียนถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคม ได้ออกระเบียบการโฆษณาหาสมาชิกโดยกำหนดในระเบียบการว่า สมาคมจะจ่ายเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ให้แก่ ่สมาชิกที่ถึงแก่กรรมจำนวนหนึ่งโดยสมาชิกผู้นั้นจะต้องเสียเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจำนวน 250 บาทและเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์อีกศพละ 20 บาทให้แก่สมาคม ส.ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ไม่พอวินิจฉัยได้ว่ากิจการสงเคราะห์ฌาปนกิจของสมาคม ส.เป็นการประกันชีวิตตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยให้การปฏิเสธการกระทำผิด โจทก์มิได้นำสืบพยานให้ได้ความตามฟ้อง คดีจึงไม่มีทางลงโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21, 27, 40, 62, 103, 243 (2) ประมวลรัษฎากร

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์รอพยานอยู่จนเวลา 10.30 น. พยานโจทก์ก็ยังไม่มาศาลทนายโจทก์แถลงว่านัดกับ ร. พยานโจทก์แล้วว่าจะมา แต่ไม่มา ไม่ทราบจะทำประการใดขอให้ศาลสั่งต่อไปดังนี้เป็นการแถลงของทนายโจทก์ซึ่งมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 เมื่อศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ให้ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ และนัดสืบพยานจำเลยต่อไปตามที่จำเลยแถลงขอสืบพยาน จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้วการที่วันรุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้สืบพยานโจทก์ใหม่ โดยอ้างว่าความจริงในวันนัด ร. มาศาลเมื่อเวลา 10.15 น. แต่มิได้เข้าห้องพิจารณาเพราะดูในกระดานนัดความของศาลไม่พบชื่อบริษัทโจทก์ ก็จะนำมาลบล้างคำแถลงของทนายโจทก์โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วยไม่ได้ทั้งเป็นการล่วงเลยเวลาสืบพยานโจทก์ไปแล้ว ไม่มีเหตุที่จะสืบพยานโจทก์ใหม่ศาลชอบที่จะยกคำร้องของโจทก์เสีย กรณีเช่นนี้ข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ตามคำร้องของโจทก์ชัดแจ้งแล้ว ศาลหาจำต้องไต่สวนคำร้องนั้นอีกไม่และมาตรา 21 ก็ไม่ได้บังคับว่าศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่งทั้งไม่ใช่กรณีที่ศาลไม่ให้โอกาสเต็มที่แก่คู่ความที่จะมาฟังการพิจารณาและใช้สิทธิเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาตามมาตรา 103 ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยเสร็จและมีคำพิพากษาแล้วจึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะใช้อำนาจตามมาตรา 243(2) ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของโจทก์เสียก่อนแล้วสั่งใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 475, 479, 1336

ช. ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากบริษัท อ. และขณะเดียวกัน ช. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าซื้อต่อไปจำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้ ช. เสร็จสิ้นแล้วแต่ ช. มิได้โอนทะเบียนรถคันพิพาทให้จำเลยต่อมาจำเลยได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว และโจทก์ได้นำรถคันพิพาทไปจ้างซ่อมเสียค่าจ้างซ่อมไปอีก แต่เนื่องจาก ช.ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทอ. เกินกว่าสองงวด เป็นการผิดสัญญา พนักงานบริษัท อ. จึงได้ยึดรถคันพิพาทไปดังนี้เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนรถคันพิพาทให้แก่โจทก์ได้โดยมิใช่ความผิดของโจทก์ เพราะการที่รถคันพิพาทถูกยึดไปนั้นเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัท อ. เจ้าของที่แท้จริงโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะโต้แย้งได้ ถือได้ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ จำเลยต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 แม้จำเลยจะมิได้ประมาทเลินเล่อก็ตาม จำเลยต้องคืนราคารถคันพิพาทแก่โจทก์และการที่โจทก์ต้องซ่อมรถคันพิพาทเสียค่าซ่อมไปนั้น ก็ถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องมาจากที่โจทก์ถูกรอนสิทธิ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 334, 339

จำเลยหลอกลวงพาผู้เสียหายไปเพื่อลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์เมื่อพาไปถึงที่เกิดเหตุจำเลยให้ผู้เสียหายนั่งรออยู่ก่อน ยังมิทันได้กระทำการอันใดที่จะถือได้ว่าลงมือลักทรัพย์ก็มีตำรวจมาค้นและจับจำเลยไปเสียก่อนเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 221

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ที่จะรับเป็นฎีกาได้จะต้องปรากฏว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงลายมือชื่อรับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากจำเลยได้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว 5,000บาท กรณีมีเหตุที่ศาลสูงจะพึงใช้ดุลพินิจในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยดังนี้ หาได้ยกเหตุว่าคดีมีปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดแต่ประการใดไม่ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

« »
ติดต่อเราทาง LINE