คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 610, 616, 627

บริษัทโจทก์ทำสัญญาขายสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพอดรวม 20 ตัวให้กรมตำรวจ และได้ตกลงว่าจ้างบริษัทจำเลยขนส่งสุนัขดังกล่าวโดยเครื่องบินจากประเทศเยอรมันตะวันตกมายังท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อส่งให้แก่กรมตำรวจ เมื่อจำเลยขนส่งสุนัขมาถึงท่าอากาศยานดอนเมืองอันเป็นตำบลที่กำหนดให้ส่งปรากฏว่าสุนัขตายไป 12 ตัว อีก 8 ตัวมีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากความผิดของบริษัทจำเลยที่มิได้จัดให้มีอากาศหายใจ เพียงพอสำหรับสุนัขเหล่านั้น กรรมการบริษัทโจทก์ที่ไปรับมอบจึงได้รับสุนัขที่ยังมีชีวิตจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยมาเพียง 8 ตัว ดังนี้ เมื่อปรากฏว่ากรมตำรวจผู้รับตราส่งยังมิได้เรียกให้ส่งมอบสุนัขตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 627 สิทธิทั้งหลายของบริษัทโจทก์ผู้ส่งสุนัขอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นจึงยังมิได้ตกไปได้แก่กรมตำรวจผู้รับตราส่ง โจทก์ในฐานะผู้ส่งจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 357 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 วรรค2

คดีความผิดฐานรับของโจร โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยรับรถจักรยานที่ถูกลักไว้จาก บ.โดย บ.มอบให้ไปขาย แม้นำสืบว่าจำเลยซื้อรถจักรยานของกลางไว้จาก บ. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยรับรถจักรยานของกลางไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง อันจะต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เพราะเหตุที่จำเลยได้รถจักรยานของกลางมาจะโดยซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใด ก็ย่อมเป็นความผิดฐานรับของโจรตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1908/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 1 (3), 310, 397

จำเลยจอดรถขวางกั้นไม่ให้โจทก์ถอยรถออกไปจากซอยที่เกิดเหตุ เป็นเพียงขัดขวางไม่ให้โจทก์นำรถออกไปได้เท่านั้น ส่วนตัวโจทก์มีอิสระที่จะออกไปจากซอยได้ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 แต่เป็นการรังแกข่มเหงทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ แม้ซอยนั้นจะอยู่ในที่ดินของผู้มีชื่อซึ่งแบ่งให้ผู้อื่นเช่าปลูกบ้าน แต่ประชาชนก็ชอบที่จะเข้าออกไปติดต่อกับผู้ที่อยู่ในซอยนั้นได้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำในที่สาธารณสถาน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 วรรคสอง(1)

การที่จำเลยในคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา กลับเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนั้นเป็นจำเลยในคดีใหม่ด้วยเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) เพราะโจทก์ในคดีหลังนี้ไม่ใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1915/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 421

เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำยึดที่ดินบังคับคดี แต่ยึดที่ดินของผู้อื่นโดยควรเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นของลูกหนี้ ไม่เป็นละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1906

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1906/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 456 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 249

ฎีกาที่ว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นโมฆะเสียเปล่า จะฟ้องร้องบังคับมิได้นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะมิได้ยกขึ้นว่าในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้

โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน โดยตกลงกันว่าจำเลยจะจัดการโอนกรรมสิทธิ์ภายในกำหนด 3 เดือน จำเลยผิดสัญญาไม่ไปจัดการจดทะเบียนให้ตามกำหนด โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ไปจัดการจดทะเบียน ดังนี้ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยหาตกเป็นโมฆะไม่ เพราะอยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้สมบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1883/2518

ประมวลรัษฎากร ม. 77, 79 (6) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2504

โจทก์สั่งสินค้าอุปกรณ์ท่อน้ำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรราคาสินค้าดังกล่าวที่เสนอขายเป็นราคามาตรฐานสากล แต่ผู้ขายหักส่วนลดให้โจทก์ 58% ราคาที่หักส่วนลดแล้วเป็นราคาตลาด ดังนี้ ต้องถือราคาที่หักส่วนลดแล้วเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ ที่จะคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร เพราะรายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79(6) หมายความว่ามูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นให้ความหมายคำว่า มูลค่าว่า ราคาตลาดของทรัพย์สินทั้งโจทก์ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคารและชำระเงินไปตามตั๋วแลกเงินในจำนวนราคาที่หักส่วนลดแล้ว ราคาสินค้าที่หักส่วนลดนี้จึงเป็นราคาที่แท้จริง เป็นราคาตลาดและราคา ซี.ไอ.เอฟ ที่ถูกต้องเชื่อถือได้ จำเลยไม่มีอำนาจที่จะอาศัยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า(ฉบับที่ 4) ประเมินราคา ซี.ไอ.เอฟ ใหม่ โดยถือเอาราคาสินค้าก่อนหักส่วนลดเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ มาเป็นหลักในการประเมินภาษีการค้าของโจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1803/2518

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ม. 4, 8, 11 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 86, 91, 352

ร.ส.พ.สาขาจังหวัดขอนแก่นดำเนินงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาจังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของ ร.ส.พ.ประจำอยู่ที่สาขาจังหวัดขอนแก่นจำเลยที่2 เป็นเจ้าของรถร่วมที่นำรถยนต์เข้าร่วมกิจการขนส่งสินค้ากับ ร.ส.พ. จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาเงินของ ร.ส.พ.สาขาขอนแก่น ได้เบียดบังเอาเงินของ ร.ส.พ.ซึ่งอยู่ในหน้าที่รักษาของจำเลยที่ 1 เอง ด้วยวิธีทำหลักฐานเท็จเบิกจ่ายเงินไป โดยให้จำเลยที่ 2 ทำหลักฐานเท็จยื่นต่อจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินค่าขนส่งสินค้า อันเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานฯมาตรา 4 ส่วน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานยังได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในการขอเบิกจ่ายเงินประเภทที่จะต้องขอเบิกจ่ายต่อ ร.ส.พ.สาขาอุดรธานี ด้วยการทำหลักฐานเท็จเสนอขออนุมัติจ่าย จนผู้จัดการ ร.ส.พ.สาขาอุดรธานีหลงเชื่ออนุมัติให้จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 2 ที่สถานี ร.ส.พ.สาขาอุดรธานี การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้เป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดส่วนนี้ การกระทำผิดของจำเลยหาต้องด้วยมาตรา 8 ด้วยไม่ และเมื่อเป็นความผิดตามบทมาตราดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1373, 1538, 1599 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 56, 145, 278, 283, 288

จำเลยแต่งงานกับนาง น. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จำเลยจึงไม่ใช่ทายาท ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของ น. ในคดีเดิมโจทก์ไม่ได้ฟ้อง น. เป็นจำเลย หากแต่ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมรดกของ น. แม้คำพิพากษาในคดีเดิมจะฟังว่า น. กู้เงินโจทก์ไปจริงก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของ น. เป็นจำเลย การที่โจทก์นำยึดที่พิพาทซึ่งมารดาของ น. ยกให้ น. ก่อนแต่งงานกับจำเลย โดยมีชื่อ น. เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว จึงเป็นการยึดทรัพย์ของผู้อื่นมิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ไม่มีสิทธินำยึด

ผู้ร้องทั้งสามเป็นบุตรของ น. เกิดจากจำเลย ในระหว่างที่ น. ยังมีชีวิตอยู่ น. จึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ร้อง ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1538เมื่อ น. ถึงแก่กรรม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เยาว์จึงไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมและเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของ น.เมื่อศาลมีคำสั่งให้ตั้ง ส. เป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้ร้องทั้งสาม ส. จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้ร้องทั้งสามได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 วรรคสุดท้ายและมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับมรดกของ น. ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 169, 914, 989, 1003

จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 สลักหลังให้โจทก์โจทก์สลักหลังต่อให้ จ. จ. นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารไม่ได้ จึงฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2514 แม้ในคดีที่ จ.ฟ้องโจทก์นั้น โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2515 โดยโจทก์ยอมชำระเงินให้ จ. และเข้าถือเอาเช็ครายพิพาทนี้ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เข้าถือเอาเช็คและใช้เงินตามความหมายของมาตรา 1003 ตอนแรก เพราะโจทก์ในฐานะผู้สลักหลังถูกฟ้อง มิใช่โจทก์จ่ายเงินตามเช็คให้ จ. และเข้าถือเอาเช็คไว้ไล่เบี้ย เมื่อโจทก์มาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสองในวันที่ 10 เมษายน 2515 พ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่โจทก์ถูกฟ้องแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003

กรณีดังกล่าวข้างต้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1003ได้บัญญัติถึงเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษต่างหากแล้วการนับอายุความจึงต้องบังคับไปตามมาตราดังกล่าว จะนำมาตรา 169 มาใช้บังคับโดยถือว่าให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่โจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 3 เมษายน 2515 เป็นต้นไป หาได้ไม่

« »
ติดต่อเราทาง LINE