คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2094/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1467

สามีภริยาก่อนใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ภริยามีสิทธิร้องขอให้ลงชื่อในโฉนดที่ดินสินสมรสร่วมกับสามีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1439 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 248

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น เรียกค่าทดแทนความเสียหายจากจำเลย 26,050 บาทจำเลยปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนความเสียหาย 4,320 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ 1,220 บาท โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยใช้ค่าทดแทนความเสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ แม้ในชั้นฎีกา คดีจะมีทุนทรัพย์ 3,100 บาท แต่จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีที่จะพิจารณาว่าโจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องถือตามทุนทรัพย์ที่พิพาทในศาลชั้นต้น มิใช่ถือตามทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา เมื่อคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นจำนวน 26,050 บาท โจทก์จึงฎีกาในข้อเท็จจริงได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 12/2518)

ค่าอาหารเลี้ยงพระและแขกในวันแต่งงาน ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2518

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ม. 17, 22, 29 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 46, 47, 55, 60

อ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดส่งใบรับรองภาษาอังกฤษของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่ลงนามรับรอง พร้อมกับคำแปล นอกจากนี้ใบมอบอำนาจซึ่งมีคำแปลประกอบก็ปรากฏว่า ท. ประธานกรรมการบริษัทโจทก์ เป็นผู้มอบอำนาจและแต่งตั้งให้ อ. ฟ้องคดีนี้ มี ม.ผู้จัดการหอการค้ารับรองลายเซ็นชื่อ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นรับรองลายเซ็นของผู้จัดการหอการค้าฯ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียวรับรองลายเซ็นชื่อของเจ้าพนักงานกระทรวงการต่างประเทศอีกชั้นหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารแท้จริง และมิได้เถียงว่าคำแปลไม่ถูกต้อง จึงเป็นการเพียงพอที่จะให้ฟังได้ว่าบริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องคดีนี้แทนได้ และคดีหาจำเป็นต้องมีพยานบุคคลมาสืบการแปลเอกสารนั้นอีกไม่

เครื่องหมายการค้าของโจทก์พิมพ์เป็นอักษรโรมันไว้ที่หีบห่อ (กล่อง)สำหรับบรรจุสินค้าเครื่องกันสะเทือนว่า KAYABA และ KYB ส่วนของจำเลยใช้คำว่า KAYADA และ KYD ซึ่งต่างกับของโจทก์เพียงอักษร D ส่วนของโจทก์เป็นอักษร B เท่านั้น นอกนั้นเหมือนกันหมดทุกตัวอักษร ทั้งสำเนียงการอ่านก็คล้ายกัน ลักษณะหีบห่อ(กล่อง) สีสรร ตลอดจนการวางรูปของตัวอักษรก็เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ที่สุด และยังใช้กับสินค้าเครื่องกันสะเทือนเหมือนกัน ดังนี้นับได้ว่าอาจทำให้สาธารณชนหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเป็นการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลย และชอบที่จะฟ้องร้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยว่าฝ่ายใดสมควรที่จะได้รับการจดทะเบียนดีกว่ากันนั้นได้

ในกรณีดังกล่าว แม้โจทก์จะมีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดีกว่าจำเลย และจำเลยไม่มีสิทธิจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เพราะเป็นการเลียนแบบล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และนับแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาจนถึงวันฟ้องก็เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปีแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 วรรคแรกและกรณีไม่ต้องด้วยวรรคสองเพราะไม่มีประเด็นเรื่องการลวงขาย โจทก์จึงหมดสิทธิเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าจากจำเลย และตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ให้บริบูรณ์ตามกฎหมายเสียก่อนโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้จำเลยผลิตสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลย และไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยเรียกเก็บคืนซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยจากตลาดการค้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2067/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 188 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 63

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ให้ บ. ยืมโฉนดที่ดินไป ต่อมา บ. หลบหน้าไม่คืนโฉนดให้ ผู้ร้องจำเป็นต้องใช้โฉนดที่ดินในการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม จึงได้ยื่นฟ้องบ. ศาลพิพากษาให้ บ. คืนโฉนดที่ดินและออกคำบังคับให้บ. ส่งโฉนดคืน ผู้ร้องได้ยื่นคำขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้ว แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่า การบังคับคดีทางศาลยังไม่ปรากฏเป็นประการใดให้ผู้ร้องดำเนินการทางศาลเสียก่อน ผู้ร้องจึงขอให้นัดไต่สวนและมีคำสั่งว่า โฉนดที่ดินของผู้ร้องเป็นอันตราย ชำรุด เสียหาย เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 63 ดังนี้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลโดยดำเนินคดีอย่างคดีที่ไม่มีข้อพิพาทได้ เพราะในกรณีที่โฉนดที่ดินสูญหายนั้น มาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินให้เจ้าของที่ดินไปขอรับใบแทนโฉนดจากเจ้าพนักงานที่ดิน มิใช่มาร้องขอต่อศาล และในพฤติการณ์ดังกล่าวจะถือว่าโฉนดที่ดินสูญหายได้ก็ต่อเมื่อปรากฏแจ้งชัดในคดีที่ผู้ร้องฟ้อง บ. ว่าไม่มีช่องทางที่จะบังคับคดีเอากับ บ.ด้วยประการใดๆ แล้วเท่านั้น ต่อเมื่อปรากฏว่าโฉนดที่ดินสูญหายจริง และเจ้าพนักงานที่ดินไม่ยินยอมออกใบแทนโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องตามมาตรา 63 จึงจะถือว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทางแพ่งในอันที่จะดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานที่ดินเป็นอีกคดีหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2036

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2036/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 140, 1299, 1329

ส.ภริยาโจทก์ได้ขายที่พิพาทให้แก่ก.กับพวกไปโดยโจทก์มิได้ให้ความยินยอม โจทก์ฟ้อง ส.และก.กับพวกเป็นคดีแรกขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายเสีย ปรากฏว่า ก. กับพวกขายที่พิพาทแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วโจทก์จึงขอให้ศาลเรียกจำเลยที่ 1 เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่าง ส. กับ ก. และพวก เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนเสีย และเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ก. กับพวก กับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ศาลฎีกาพิพากษายืน ขณะที่คดีแรกอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ได้ขายฝากที่พิพาทแก่จำเลยที่ 2 และที่พิพาทหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ให้ทำลายนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองเสียดังนี้ การที่โจทก์ฟ้อง ส. กับพวก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นโมฆียะในคดีแรกนั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว เมื่อในที่สุดศาลพิพากษาว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 วรรคแรกการที่ ก.กับพวก โอนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ก็ดี หรือจำเลยที่ 1ขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ดี เป็นอันใช้ยันโจทก์ไม่ได้ เพราะการขายต่อ ๆ มา จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะโอนขายได้ เข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีอำนาจดีกว่าผู้โอน เพราะนิติกรรมอันเดิมเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกเสียแล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิตามเอาทรัพย์สินตามมาตรา 1336 ได้ กรณีเช่นนี้ จะนำมาตรา 1299 และ 1300 มาปรับแก่คดีหาได้ไม่ ส่วนมาตรา 1329 นั้น ต้องได้ความว่า ได้ทรัพย์สินมาในระหว่างที่ยังไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรม ถ้าได้มาภายหลังล้างโมฆียะกรรมแล้ว ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1962/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 74 (2), 74 (3), 74 วรรคท้าย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยซึ่งมีอายุ 14 ปี กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยให้การขอให้ศาลมอบจำเลยให้บิดารับตัวไป แต่หามีบิดามารดาจำเลยมาขอรับจำเลยไปดังคำให้การของจำเลยไม่ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจฯมีกำหนด 3 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้มอบตัวจำเลยให้บิดา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรมอบตัวให้บิดา แต่พิพากษาแก้เป็นว่าให้ส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนด 1 ปี บิดามารดาของจำเลยมายื่นคำร้องอ้างว่า ในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยประพฤติตัวดีน่าจะกลับตัวได้ หากได้อยู่กับบิดามารดา ขอรับตัวจำเลยไปดูแลแทนการส่งตัวไปสถานพินิจฯ การที่มีบิดามารดามาขอรับตัวจำเลยไปเช่นนี้ ถือได้ว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งเดิมได้เปลี่ยนแปลงไป มีทางให้ศาลเลือกใช้วิธีการที่จะเป็นผลดีแก่จำเลยมากกว่าวิธีการเดิมที่ได้สั่งไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 วรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว หาจำเป็นต้องมีการดำเนินการตามคำสั่งเดิมเสียก่อนจึงจะมีคำสั่งใหม่ได้ไม่ เมื่อศาลเห็นด้วยกับคำร้องก็มีอำนาจพิพากษาแก้เป็นให้มอบจำเลยให้แก่ผู้ร้อง ให้ผู้ร้องระวังจำเลยไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 212/2511 และ 1209/2511)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177, 318 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 ว่าจำเลยได้รับคำบอกเล่าจากผู้อื่นถึงเรื่องที่โจทก์ยอมรับกับผู้นั้นว่าเป็นผู้พรากผู้เยาว์ไปจริง คำเบิกความดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่ประกอบการรับฟังว่าโจทก์ได้พรากผู้เยาว์ไปจริงหรือไม่ ถือได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่าข้อความที่จำเลยเบิกความเท็จเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไรแล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา158(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33, 78, 90, 91, 278, 279, 284

จำเลยใช้อุบายหลอกลวงหญิงผู้เสียหายว่าจะให้สีผึ้ง 1 ตลับ ผู้เสียหายหลงเชื่อตามไปเอาจากจำเลยที่สวนหลังบ้านแล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหาย ดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานหลอกลวงหญิงไปเพื่อการอนาจารกระทงหนึ่ง และฐานกระทำอนาจารอีกกระทงหนึ่ง

สีผึ้งของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดต้องริบ

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยไม่ต้องมีการสืบพยานหลักฐานอย่างใดถือว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ควรลดโทษให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1950

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1950/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 121, 138, 1299, 1300, 1329, 1336, 1599 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

ม. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินที่พิพาทได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลว่า จำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลโอนเอาที่ดินโฉนดที่พิพาทไป ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากโฉนดที่พิพาท ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า ม. ได้ถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลจริง พิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1ออกจากโฉนดที่พิพาท คดีถึงที่สุด ระหว่างที่จำเลยที่1 ยังไม่ได้แก้ชื่อในโฉนดที่พิพาทให้เป็นของ ม. ตามเดิมจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นวันที่ ม. ถึงแก่กรรม ดังนี้ โดยผลคำพิพากษาดังกล่าวถือว่าได้มีการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ซึ่งตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ท่านให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จึงเท่ากับจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทเลย ที่พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ ม. อยู่ตามเดิม จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท และจะยกเอาเหตุที่ได้รับโอนโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริต มายันโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกที่พิพาทจาก ม. เจ้าของที่พิพาทเดิมหาได้ไม่

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกที่พิพาทคืนจากผู้ไม่มีสิทธิในฐานโจทก์เป็นทายาทรับมรดกคนหนึ่งของ ม. เจ้ามรดกโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1949/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271, 289

บทบัญญัติในมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับให้ฝ่ายชนะคดียื่นคำร้องขอบังคับคดีภายใน 10 ปีหาใช่ให้บังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปีไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปีแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิบังคับคดีได้ตลอดไป แม้จะพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาและคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองของผู้ร้องซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิได้ ก็ยังมีผลบังคับต่อไปเช่นเดียวกัน

แม้จำเลยจะได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่า โจทก์หมดสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ก็ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องรอการชี้ขาดคดีนี้ ซึ่งผู้ร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง เพราะหากศาลสั่งในอีกคดีหนึ่งนั้นว่า โจทก์หมดสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไป การบังคับคดีเอาทรัพย์ที่ยึดไว้ขายทอดตลาดย่อมไม่อาจกระทำได้มีผลให้หนี้จำนองของผู้ร้องซึ่งยังไม่ได้รับชำระคงติดเป็นภาระกับทรัพย์จำนองต่อไปอยู่เอง

« »
ติดต่อเราทาง LINE