คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2277/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 138

คู่ความตกลงท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะว่า หากโจทก์นำ ส. ภรรยาโจทก์มาสาบานต่อหน้าศาลได้ว่ายังไม่ได้รับเงิน 9,000 บาท ตามที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ จำเลยยอมแพ้คดี ถ้า ส. ไม่กล้าสาบาน โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี ปรากฏว่า ส. ได้สาบานต่อหน้าศาลว่าไม่ได้รับเงินตามจำนวนที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ดังนี้ตามคำสาบานของส. แม้จะไม่ได้ระบุจำนวนเงิน 9,000 บาท ก็ถือได้ว่าตรงตามคำท้าแล้ว เพราะตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยไม่ชำระเงิน 9,000 บาท จำเลยจึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า และต้องชดใช้ต้นเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยด้วยตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2276

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2276/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 107, 525 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 288

ซ. ปลูกสร้างบ้านพิพาทแล้วยกให้ผู้ร้องกับหลานอีกคนหนึ่ง ต่อมา ซ. ได้จดทะเบียนยกที่ดินที่บ้านพิพาทปลูกอยู่ให้ผู้ร้องกับหลานอีก ดังนี้ แม้การยกบ้านพิพาทให้จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทำให้การให้ไร้ผล เพราะผู้ร้องได้เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน จึงเป็นเจ้าของรวมในบ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินนั้นด้วย

เมื่อจำเลยไม่มีส่วนเป็นเจ้าของในบ้านพิพาท โจทก์จึงนำยึดบ้านเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2227/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 531

หากจำเลยกล่าวขึ้นมึงกูต่อโจทก์ผู้เป็นบิดา ไม่นับถือโจทก์ว่าเป็นบิดาเปรียบโจทก์ว่าเป็นสุนัขและว่าโจทก์เป็นคนเลวไม่มีศีลธรรม จะฟ้องให้ต้องโทษถึงจำคุกจริงดังที่โจทก์บรรยายฟ้อง ย่อมทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง ซึ่งโจทก์ย่อมฟ้องเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 393

ด่าว่า "อีสัตว์ เดี๋ยวตบเสียนี่" เป็นดูหมิ่นตามมาตรา 393

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213 - 2214/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 340, 83

จำเลยที่ 1 หยิบแว่นตาจากกระเป๋าเสื้อผู้เสียหายขณะนั่งอยู่ในร้านขายอาหารไปใส่ส่องกระจกดู แล้วจำเลยทั้งสามเดินออกจากร้านไป ไม่คืนแว่นตา เมื่อผู้เสียหายไปขอคืน จำเลยที่ 1 ไม่คืนให้ กลับให้จำเลยที่ 2 เอาแว่นตาไป ผู้เสียหายขอคืนจากจำเลยที่ 2 ๆ ไม่ให้ จำเลยที่ 3 คว้าเอาไปอีกต่อหนึ่งต่อหน้าผู้เสียหาย แล้วพากันขึ้นรถประจำทางไป ผู้เสียหายตามไปทวงคืนอีก จำเลยที่ 2 ที่ 3 พูดว่า อย่าตามมานะ ถ้าตามจะเจ็บตัว ต่อมาในวันเกิดเหตุนั้นเอง จำเลยที่ 3 เอาแว่นตาไปจำนำ ดังนี้ จำเลยทั้งสามต้องมีความผิดฐานปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43, 47 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 339, 340 ตรี

พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยชิงเอาธนบัตร 740 บาท และตั๋วจำนำสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทราคา 300 บาท รวมเป็นเงิน 1,040 บาทของผู้เสียหายไป ขอให้ลงโทษและสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,040บาทแก่เจ้าทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหาย ย่อมมีความหมายว่าสำหรับตั๋วจำนำนั้น ถ้าจำเลยไม่สามารถคืนได้ก็ให้จำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 300 บาท แต่เงินจำนวนนี้เป็นราคาที่จำนำทรัพย์ หาใช่ราคาของเอกสารตั๋วจำนำไม่และเมื่อในสำนวนไม่ปรากฏว่าเอกสารตั๋วจำนำมีราคาเท่าใด ศาลจึงไม่อาจสั่งให้จำเลยใช้ราคาตั๋วจำนำไปในคดีนี้ (อ้างฎีกาที่ 40/2508 และ1163/2509)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 747, 764, 1002

ฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยเอาเช็คมาแลกเงินสดจากโจทก์ไปสองคราวและมอบใบหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้ ไม่มีข้อความว่าจำเลยมอบเช็คและใบหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ ไม่บรรยายว่าโจทก์จำเลยตกลงกันจำนำเช็คหรือใบหุ้นต่อกันกรณีไม่เป็นการจำนำ

จำเลยเอาเช็คมาแลกเงินสดไปจากโจทก์และมอบใบหุ้นให้โจทก์ยึดถือไว้โจทก์ให้ทนายมีหนังสือทวงถามให้จำเลยเอาเงินมาคืน ดังนี้ ไม่เป็นการบังคับจำนำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2168

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2168/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 797, 315 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

เงิน 10,000 บาทที่โจทก์ชำระให้จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนบริษัท ย. เป็นค่าเช่าซื้อรถไถนาที่โจทก์เช่าซื้อจากบริษัทย. จำเลยยังไม่ส่งมอบให้บริษัทจนเป็นเหตุให้บริษัทบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ยึดรถไถนาคืนและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงิน 10,000 บาทคืนจากจำเลย เพราะจำเลยรับเงินจำนวนนี้ไว้แทน และจะต้องส่งเงินให้แก่บริษัท เงินที่จำเลยรับไว้จากโจทก์จึงเป็นการชำระหนี้ไว้โดยชอบในฐานะตัวแทนและเป็นของบริษัท ไม่ใช่ของโจทก์หรือของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 ประมวลกฎหมายที่ดิน

โจทก์ขอรับใบแทนโฉนดและรับมรดกที่ดิน จำเลยคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้โจทก์ฟ้องใน 60 วัน ตาม ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 81 โจทก์ไม่ฟ้องในกำหนด ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องภายหลังกำหนดนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 172, 177, 183

โจทก์บรรยายในคำฟ้องมีข้อความชัดเจนว่า จำเลยได้เปิดบัญชีเดินสะพัดเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ และได้ตกลงขอเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์. แล้วจำเลยได้นำเงินสดและเช็คเข้าฝากและสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีเป็นการหมุนเวียนเดินสะพัดเรื่อยมา เมื่อตัดทอนแล้วเป็นหนี้โจทก์จำนวนหนึ่ง ขอให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ดังนี้ คำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น แม้โจทก์จะมิได้กล่าวถึงเช็คที่อ้างว่าจำเลยสั่งจ่ายเงินเป็นเช็คเลขที่เท่าใด เมื่อใด ก็เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

การที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยพาคนมาฝากเงินได้รับค่านายหน้าแล้วโจทก์จะนำไปหักหนี้ของจำเลย จำเลยจึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ นั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในหนี้สินที่จำเลยเบิกเงินเกินบัญชี มิได้ฟ้องว่ากรรมการผู้จัดการธนาคารโจทก์อนุญาตให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจ ทำให้โจทก์เสียหาย จึงไม่มีข้อต้องพิจารณาว่าการกระทำของกรรมการผู้จัดการธนาคารโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจำเลยจะไม่ต้องรับผิด

« »
ติดต่อเราทาง LINE