คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335, 83
จำเลยทั้งสามร่วมคบคิดกันมาก่อนที่จะลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย ได้ว่าจ้างรถยนต์แท็กซี่ไปด้วยกัน เมื่อถึงสถานที่ที่จะลงมือลักทรัพย์ก็แบ่งหน้าที่กัน โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ที่ 3คอยอยู่ในรถใกล้ๆ บ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 3 นั่งคู่กับคนขับบอกให้เลื่อนรถไปข้างหน้าอีก 1 ช่วงเสาไฟฟ้า ในลักษณะคุมคนขับให้คอยรับจำเลยที่ 1 กับทรัพย์ที่ลักมา เมื่อจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์มาได้แล้วก็ขึ้นรถและจำเลยที่ 3 บอกให้ขับรถหนีไปถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันลักทรัพย์รายนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2422/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 368
จำเลยทำสัญญากู้ 3,000 บาท กับว่าจะจ่ายเงินสดอีก 2,000 บาท ในวันที่ศาลพิพากษาคดีที่บุตรจำเลยถูกฟ้องฐานขับรถโดยประมาททำให้บุตรโจทก์ตาย โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลปราณีแก่จำเลยในคดีอาญา ศาลพิพากษาจำคุกบุตรจำเลย จำเลยไม่จ่ายเงิน ดังนี้ เป็นสัญญาที่มีผลบังคับได้ แต่ต้องเป็นเรื่องบุตรจำเลยไม่ถูกจำคุกด้วย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงิน 5,000 บาทตามสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 96 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7), 39 (6) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3, 4
โจทก์แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า อ.(จำเลย)ออกเช็คให้ผู้แจ้ง ธนาคารเรียกเก็บเงินไม่ได้ ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย ได้ติดต่อ อ. แล้วไม่พบ ในชั้นนี้ผู้แจ้งเพียงแต่มาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบไว้เป็นหลักฐานชั้นหนึ่งก่อน หากติดตาม อ. ได้เมื่อใด ผู้แจ้งจะนำเช็คของกลางมามอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ อ. ในภายหลัง. ดังนี้ ข้อความที่โจทก์แจ้งดังกล่าวมีเจตนาเพียงมาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจรับทราบไว้เป็นหลักฐานว่า จำเลยออกเช็คชำระหนี้เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ เพราะบัญชีของผู้สั่งจ่ายปิดแล้วเท่านั้น ขณะแจ้งผู้แจ้งไม่มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดำเนินคดีกับ อ. ต่อไปประการใดไม่มีข้อความหรือพฤติการณ์ในขณะที่แจ้งความว่ามีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ส่วนข้อความที่ว่าหากติดตาม อ.ได้เมื่อใดผู้แจ้งจะนำเช็คของกลางมามอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีในภายหลัง ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่เป็นข้อบ่งว่าขณะแจ้งความนั้น ผู้แจ้งมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษ ข้อความที่แจ้งจึงไม่ใช่คำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2518)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ม. 3
การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเรื่องจำเลยออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คว่า ผู้แจ้งเกรงว่าเช็คฉบับดังกล่าวจะขาดอายุความจึงมาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบเพื่อกันเช็คขาดอายุความ ผู้แจ้งยังไม่ประสงค์จะร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใดโดยผู้แจ้งจะไปติดต่อด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่งก่อน หากไม่ได้ผลจะมาร้องทุกข์อีกครั้งในภายหลัง ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (7)
แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยออกเช็คล่วงหน้า แต่ธนาคารไม่จ่ายเงิน หากทราบว่าจำเลยไม่จ่ายเงินจริงจะมาร้องทุกข์ภายหลัง ดังนี้ไม่ใช่คำร้องทุกข์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2404/2518
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ม. 4 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 286
สิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จบำนาญของจำเลยซึ่งเดิมเป็นทหารประจำการที่มีต่อกระทรวงกลาโหม ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2365/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 197, 208
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องกล่าวซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัด และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลโดยละเอียดและชัดแจ้งทั้ง 2 ประการ
คำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยกล่าวว่า จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้คดี เพราะจำเลยไม่เคยได้รับหรือทราบว่าถูกฟ้องมาก่อน จึงให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดี เพราะจำเลยไม่ทางชนะ เนื่องจกาจำเลยอยู่ในอาคารพิพาทด้วยการเช่าซื้อจากโจทก์และชำระเงินไปมากแล้วนั้น ดังนี้ คำร้องของจำเลยไม่ได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งว่าเหตุใดจำเลยจึงไม่ได้รับหมายเรียก ฯลฯ จึงทำให้ไม่ทราบว่าถูกฟ้องอันเป็นเหตุให้ขาดนัด และคำร้องที่ว่าได้อยู่ในอาคารพิพาทด้วยการเช่าซื้อจากโจทก์และชำระเงินไปมากแล้วนั้น ไม่มีข้อความตอนใดคัดค้านคำพิพากษาของศาลว่า ได้วินิจฉัยคดีไปไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามด้วยเหตุผลประการใด หากมีการพิจารณาคดีใหม่แล้ว จะเป็นเหตุให้ตนชนะคดีได้อย่างไรบ้าง คำร้องของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2360/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91 พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 ม. 10, 14, 59, 60
จำเลยที่ 1 นำรถยนต์อันเป็นเครื่องอุปกรณ์การขนส่งจำนวน 3 คันออกวิ่งรับส่งคนโดยสารและเก็บค่าโดยสาร โดยนำรถยนต์คันหนึ่งซึ่งได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะออกวิ่งทับเส้นทางรถประจำทางในสัมปทานของบริษัทอื่นซึ่งเป็นลักษณะของการแข่งขัน เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14 และนำรถยนต์อีกสองคันซึ่งเป็นรถที่สังกัดอยู่ในสัมปทานรถประจำทางของจำเลยที่ 1 ออกวิ่งนอกเส้นทางที่กำหนด อันเป็นความผิดตามมาตรา 10 ดังนี้ รถยนต์โดยสารแต่ละคันเป็นองค์สำคัญแห่งความผิด การขนส่งของรถแต่ละคันเป็นความผิดต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 438, 444 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 40, 86, 197, 207, 226, 247
กรณีที่จำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องเป็นเรื่องที่จำเลยขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาเสียก่อน การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย และศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยประวิงคดีไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและถือว่าจำเลยไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบนั้นมิใช่เรื่องจำเลยขาดนัดพิจารณาจำเลยจะขอให้พิจารณาคดีใหม่หาได้ไม่
แม้จะพิจารณาจากฎีกาของจำเลยที่ขอให้พิจารณาคดีดังกล่าวใหม่ว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ แต่คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งจำเลยจะต้องโต้แย้งเสียก่อนจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ เมื่อมิได้โต้แย้งไว้ก็อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ในข้อนี้ให้จำเลยก็หามีสิทธิฎีกาต่อมาไม่ ศาลฎีกาย่อมให้ยกฎีกาของจำเลยดังกล่าว
โจทก์เป็นผู้เยาว์ช่วยมารดาขายของ นำของไปเร่ขายวันหนึ่งมีกำไร 10 บาทแม้จะเป็นการช่วยมารดาขายของ ก็เป็นการประกอบอาชีพอันเป็นความสามารถในการประกอบการงานและทางทำมาหาได้ของโจทก์นั่นเอง เมื่อโจทก์สามารถขายของมีกำไรวันละ 10 บาท และโจทก์ต้องเสียความสามารถดังกล่าวไปเพราะการละเมิดของจำเลย จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ อันเป็นค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 และในการคิดค่าเสียหาย ศาลชอบที่จะคิดจากการที่โจทก์เคยมีรายได้วันละ 10 บาทได้ หาใช่ว่าหากก่อนเกิดเหตุโจทก์ไม่ได้ทำงานทุกวัน จะต้องหักวันที่โจทก์ไม่ทำงานออกเสียก่อนไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2357/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369, 1436 วรรคสาม, 1447
สินสอดเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 วรรคสาม โดยไม่จำกัดว่าหญิงซึ่งยอมสมรสนั้นบรรลุนิติภาวะแล้วหรือยังดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงจะให้สินสอดแก่โจทก์ซึ่งเป็นมารดาของนางสาว ต.เพื่อตอบแทนในการที่นางสาวต.ยอมสมรสกับบุตรของจำเลยทั้งสอง และต่อมานางสาว ต.กับบุตรโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แม้นางสาว ต.จะบรรลุนิติภาวะก่อนสมรส จำเลยทั้งสองก็จะต้องรับผิดชำระเงินสินสอดให้โจทก์ตามที่สัญญาไว้