คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 112, 113, 115, 341
การเล่นแชร์ เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น ไม่มีนักกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำสัญญาหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ คงบังคับกันได้ตามหลักสัญญาทั่วไป เมื่อพฤติการณ์เป็นที่เข้าใจกันระหว่างผู้เล่นว่า จำเลยซึ่งเป็นนายวงตกลงยอมเป็นผู้รับผิดชอบใช้เงินแก่ลูกวงที่ยังไม่ได้ประมูล (เปีย) ในเมื่อวงแชร์ล้ม ดังนี้ เมื่อวงแชร์ล้มจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นลูกวงและยังมิได้ประมูล
หากจะมีมติของคณะรัฐมนตรีห้ามข้าราชการและพนักงานองค์การของรัฐเล่นแชร์จริง ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบังคับบัญชาทางวินัยเท่านั้นการเล่นวงแชร์หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย หรือขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะไม่
แม้โจทก์เปียแชร์วงอื่นซึ่งจำเลยเป็นนายวงได้ไปแล้วและโจทก์มีกำไรก็ตามก็เป็นเรื่องของแชร์วงนั้น ๆ จะให้นำกำไรนั้นมาหักออกจากจำนวนเงินที่โจทก์เสียหายและจำเลยต้องชดใช้ในวงพิพาพไม่ได้เพราะเป็นสัญญาต่างรายกัน ผู้เข้าเล่นแตกต่างกันไปทั้งจำนวนและผู้เข้าเล่นตลอดจนระยะเวลา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 161 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84
อายุความคดีละเมิด 1 ปี ครบกำหนดวันที่ 8 ซึ่งเป็นวันเสาร์โจทก์ยื่นฟ้องวันจันทร์ที่ 10 ดังนี้ ไม่ขาดอายุความ ศาลรู้เองตามปฏิทินว่าเป็นวันหยุดราชการประจำสัปดาห์ โดยโจทก์ไม่ต้องเบิกความถึง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2117/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 369, 387 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93 ประมวลรัษฎากร
ในสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ผู้ซื้อชำระเงินไม่ตรงตามงวดแต่ผู้ขายก็รับชำระ ไม่ถือเอากำหนดเวลาผ่อนชำระรายเดือนเป็นสำคัญ แม้จะไม่ชำระราคาที่ดินตามกำหนด ผู้ขายก็ต้องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อนเลิกสัญญาตาม มาตรา387 ผู้ขายไม่รับชำระราคาที่ดินจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ซื้อบังคับให้โอนที่ดินได้
สัญญาจะซื้อขายที่ดินท้ายฟ้อง จำเลยรับตามนั้น ฟังได้โดยไม่ต้องอาศัยต้นฉบับที่โจทก์ส่งศาลภายหลัง แม้ไม่ปิดอากรแสตมป์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 337
โจทก์จะรื้อบ้านของโจทก์ จำเลยไม่ยอมให้รื้อ อ้างว่าเป็นของจำเลย ถ้ารื้อจะให้ตำรวจจับ แต่จะยอมให้รื้อถ้าโจทก์ให้เงินจำนวนหนึ่งแก่จำเลย ดังนี้ เป็นเรื่องโต้เถียงกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทในทางแพ่ง จำเลยพูดว่าจะใช้สิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและพูดเป็นทำนองเสนอข้อแลกเปลี่ยนเพื่อระงับข้อพิพาท ไม่เป็นการข่มขืนใจโจทก์ให้ยอมให้เงินหรือยอมสัญญาจะให้เงินแก่จำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249
ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคัดลอกจากอุทธรณ์คำต่อคำ ก็เป็นการกล่าวโดยชัดแจ้งตาม มาตรา 249 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2450/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 119
ธ.หลอกให้ว.พิมพ์ลายนิ้วมือลงในใบมอบอำนาจให้จำนองและในสัญญาค้ำประกันแก่ ก. โดยอ้างว่าเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินแก่ ธ.เป็นการสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม การค้ำประกันและจำนองเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 127, 172, 821, 1088
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อจากโจทก์อยู่ จำเลยที่ 3 ได้คิดบัญชีกับโจทก์แล้วได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้มอบอำนาจให้ทำแทน แต่มีพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เชิดใช้จำเลยที่ 3ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตลอดมา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการก็ต้องรับผิดร่วมด้วย ส่วนจำเลยที่ 3แม้จะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ก็ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการในกิจการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้นด้วย ตามมาตรา 1088
จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อให้โจทก์ด้วยเช็คซึ่งจำเลยที่ 3เป็นผู้สั่งจ่าย แต่เช็คขึ้นเงินไม่ได้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้มาคิดบัญชีกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ การที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์แจ้งว่า หากจำเลยที่ 3 ไม่ตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โดยดีจะให้ตำรวจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 3 ในข้อหาออกเช็คไม่มีเงินนั้น เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามปกตินิยมเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 127 หาได้จัดว่าเป็นการข่มขู่ไม่ และตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์นั้น ก็มีลักษณะเป็นการยอมความกันในความผิดอันยอมความได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ตกเป็นโมฆะ
เมื่อมีการรับสภาพหนี้แล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่แต่วัน ทำสัญญารับสภาพหนี้ตามมาตรา 172,181
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2399/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 335, 339 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11
จำเลยลักไก่ 4 ตัวไปจากบ้านผู้เสียหาย ผู้เสียหายชวนเพื่อนบ้านออกติดตามไป 1 ชั่วโมงเศษ ถึงกระท่อมนาซึ่งอยู่ห่างบ้านผู้เสียหายประมาณ 100 เส้น คนละหมู่บ้านกัน พบเข่งไก่กับไก่ 4 ตัวอยู่ในกระท่อม จำเลยนั่งอยู่ใกล้เข่งไก่ ผู้เสียหายเข้าไปถามจำเลย จำเลยลุกขึ้นยืนถือเหล็กแหลมจ้องมาทางผู้เสียหายกับพวก ผู้เสียหายกับพวกจึงช่วยกันจับจำเลยไว้ ดังนี้ เมื่อจำเลยถือเหล็กแหลมจ้องขู่ผู้เสียหายนั้น การลักทรัพย์ของจำเลยขาดตอนไปแล้ว ไม่ใช่อยู่ในระหว่างพาทรัพย์ไป การขู่จะทำร้ายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลัง มิได้ต่อเนื่องในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2436 - 2437/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
เจ้าหนี้ทำใบมอบอำนาจให้ ร. ทนายความดำเนินคดีและขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแทนได้ทุกประการ ถือได้ว่า ร. เป็นตัวความฟ้องอุทธรณ์ได้ โดยไม่ต้องแต่งทนาย
หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ทำขึ้นโดยรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจะขอรับชำระไม่ได้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 94(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2432/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158
ฟ้องว่าเบิกความเท็จ บรรยายคำเบิกความที่ว่าเป็นเท็จและว่าความจริงเป็นอย่างไร กับว่า เป็นข้อสำคัญในคดีแต่มิได้บรรยายว่าสำคัญแก่คดีอย่างไร เป็นฟ้องไม่สมบูรณ์ตาม มาตรา 158(5)