คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 475, 479, 1336

ช. ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากบริษัท อ. และขณะเดียวกัน ช. ได้ทำสัญญาให้จำเลยเช่าซื้อต่อไปจำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้ ช. เสร็จสิ้นแล้วแต่ ช. มิได้โอนทะเบียนรถคันพิพาทให้จำเลยต่อมาจำเลยได้ขายรถคันพิพาทให้โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว และโจทก์ได้นำรถคันพิพาทไปจ้างซ่อมเสียค่าจ้างซ่อมไปอีก แต่เนื่องจาก ช.ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทอ. เกินกว่าสองงวด เป็นการผิดสัญญา พนักงานบริษัท อ. จึงได้ยึดรถคันพิพาทไปดังนี้เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนรถคันพิพาทให้แก่โจทก์ได้โดยมิใช่ความผิดของโจทก์ เพราะการที่รถคันพิพาทถูกยึดไปนั้นเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัท อ. เจ้าของที่แท้จริงโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะโต้แย้งได้ ถือได้ว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ จำเลยต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 475 แม้จำเลยจะมิได้ประมาทเลินเล่อก็ตาม จำเลยต้องคืนราคารถคันพิพาทแก่โจทก์และการที่โจทก์ต้องซ่อมรถคันพิพาทเสียค่าซ่อมไปนั้น ก็ถือว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องมาจากที่โจทก์ถูกรอนสิทธิ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 334, 339

จำเลยหลอกลวงพาผู้เสียหายไปเพื่อลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์เมื่อพาไปถึงที่เกิดเหตุจำเลยให้ผู้เสียหายนั่งรออยู่ก่อน ยังมิทันได้กระทำการอันใดที่จะถือได้ว่าลงมือลักทรัพย์ก็มีตำรวจมาค้นและจับจำเลยไปเสียก่อนเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 906/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 221

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ที่จะรับเป็นฎีกาได้จะต้องปรากฏว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นลงลายมือชื่อรับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากจำเลยได้ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว 5,000บาท กรณีมีเหตุที่ศาลสูงจะพึงใช้ดุลพินิจในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยดังนี้ หาได้ยกเหตุว่าคดีมีปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดแต่ประการใดไม่ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 895

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 895/2518

พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508

โจทก์ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักร มีบิดาเป็นคนต่างด้าว และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาแต่ พ.ศ.2491 แล้ว ขณะฟ้องก็ยังถือใบสำคัญดังกล่าวอยู่จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 โจทก์จึงเสียสัญชาติไทยไปโดยผลแห่งกฎหมาย

แม้บิดาโจทก์เป็นผู้จัดการขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมาให้โจทก์เพื่อไปศึกษายังต่างประเทศ แต่โจทก์ก็ไม่ได้ไป ยังคงถือใบสำคัญต่อมา โจทก์ได้ไปขอเปลี่ยนสมุดใบสำคัญใหม่ใน พ.ศ.2498 ขอต่ออายุใบสำคัญมาจนถึง พ.ศ.2508 อันเป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ขอกลับคืนสัญชาติไทยไม่ได้ผลแล้ว จึงไม่ขอต่ออายุใบสำคัญอีก การได้ใบสำคัญทำให้โจทก์ไม่ต้องเข้าตรวจคัดเลือกเพื่อเป็นทหารได้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบสำคัญเมื่อเข้าทำงานเป็นลูกจ้างสถานทูตแจ้งต่อมหาวิทยาลัยตอนเข้าศึกษาว่าเป็นคนสัญชาติอังกฤษ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์สมัครใจขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวเป็นคนสัญชาติอังกฤษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326

กล่าวว่าหญิงเป็นคนสำเพ็งคนไม่ดี 5 ผัว 6 ผัว แม้กล่าวด้วยความหึงหวงสามีมิให้คบกับหญิงนั้นก็เป็นหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616 - 617/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 425, 438, 442

เมื่อจะเกิดเหตุเป็นเวลาเริ่มมืดแล้วโจทก์ได้นำรถยนต์บรรทุกไปบรรทุกไม้สนมาจอดอยู่ที่ริมถนนเพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของรถ และต่อสายไฟมาที่สาลี่พ่วงท้ายรถแต่ยังไม่ได้ติดหลอดไฟและเปิดไฟ ขณะกำลังต่อสายไฟอยู่รถยนต์บรรทุกน้ำมันของจำเลยได้วิ่งตามหลังรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งมาด้วยความเร็วสูงครั้นมาถึงตรงที่รถโจทก์จอดอยู่ มีรถเปิดไฟสว่างวิ่งสวนทางมาคนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยไม่เห็นรถโจทก์ที่จอดอยู่เพราะมิได้เปิดไฟ จึงวิ่งเข้าชนรถสาลี่ของโจทก์ เป็นเหตุให้รถของโจทก์และของจำเลยเสียหาย โจทก์ได้รับบาดเจ็บและลูกจ้างคนหนึ่งของโจทก์ถึงแก่ความตาย เช่นนี้การที่รถโจทก์จำเลยเกิดชนกันขึ้น เป็นความประมาทเลินเล่อของทั้งสองฝ่าย และตามพฤติการณ์แห่งการละเมิดของทั้งสองฝ่ายมีความร้ายแรงพอๆ กัน โจทก์ในฐานะเป็นนายจ้างรถคันเกิดเหตุคันหนึ่งจึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดด้วยค่าสินไหมทดแทนตามที่โจทก์จำเลยต่างขอมาสมควรให้เป็นพับไปแก่ตนแต่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งการละเมิดที่เกิดขึ้นแก่ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายนั้นให้แก่มารดาผู้ตายครึ่งหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 601/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 163, 169, 456, 461, 1299, 1336, 1373 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55

เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง ได้แจ้งการครอบครองไว้ตาม ส.ค.1 และที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว ต่อมาจำเลยซื้อที่พิพาทจากโจทก์ โจทก์ส่งมอบที่พิพาทให้จำเลยครอบครองนับแต่ปี 2503 จนบัดนี้ ต่อมาทางการออกโฉนดให้ในนามของโจทก์ เพราะใน ส.ค.1 เป็นชื่อของโจทก์ โดยโจทก์ตกลงกับจำเลยว่า เมื่อออกโฉนดแล้วโจทก์จะโอนให้จำเลยภายหลังดังนี้ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเป็นแต่เพียงมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ตามโฉนดแทนจำเลย เพื่อความสะดวกในการออกโฉนดเท่านั้นจำเลยจึงมีสิทธิฟ้องโจทก์ขอให้ศาลแสดงสิทธิของจำเลยได้ ไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติเรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2518

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1435, 1439 (1), 1445, 1489 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 242, 247

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยเหตุว่าเพราะจำเลยผิดสัญญาหมั้นจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439(1) ที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยที่ผิดไปจากคำฟ้องของโจทก์กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีเสียใหม่ให้ถูกต้องตามประเด็นแห่งคดีได้

การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435โดยฝ่ายชายมีอายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์นั้น หาตกเป็นโมฆะไม่ ทั้งนี้ โดยอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงเปรียบเทียบ คือ การสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1445(1) ในเรื่องอายุทำนองเดียวกัน มาตรา 1489 ก็มิได้บัญญัติให้เป็นโมฆะแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับบัญญัติว่าให้ผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นมีอำนาจร้องขอต่อศาลได้ และไม่ได้บังคับให้ศาลจำต้องสั่งให้เพิกถอนโดยเด็ดขาดด้วย แต่ให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนเสียก็ได้เท่านั้น คงมีแต่เฉพาะในเรื่องการผิดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1445(2)(3)(4)และ (5) เท่านั้นที่ให้ถือว่าเป็นโมฆะ

การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 เป็นโมฆะหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องหรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่ศาลล่างยกประเด็นนข้อนี้ขึ้นวินิจฉํยเสียเองโดยคู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้จึงไม่ชอบ

จำเลยได้ร่วมประเวณีกับ ร.และเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นร. ย่อมต้องได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียง และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2518

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 80, 81

ตามปกติอาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรง หากกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก็เห็นได้ชัดว่าปืนกระบอกนั้นไม่อาจใช้ยิงให้ผู้เสียหายตายได้ แต่เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงเฉียดถูกผู้เสียหายที่ต้นแขนซ้ายมีบาดแผลเล็กน้อย จึงเป็นเรื่องการกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เพราะกระสุนปืนที่จำเลยยิงนั้นถูกอวัยวะส่วนไม่สำคัญของร่างกาย หาใช่เพราะการกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2518

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 55 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 61 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334

ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ ต่อมามีผู้คัดค้านว่าที่ดินที่ออกโฉนดให้โจทก์นั้นเป็นที่สาธารณของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกันกรมที่ดินจำเลยจึงได้เรียกให้โจทก์ส่งโฉนดที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อส่งให้แก่จำเลย และให้โอกาสโจทก์ยื่นคำคัดค้านภายใน 30 วันโจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินดังกล่าวมารดาโจทก์ครอบครองและยกกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ แต่โจทก์ยังไม่ได้ส่งโฉนดให้จำเลยและจำเลยก็ยังมิได้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาสั่งให้จำเลยระงับการเพิกถอนโฉนดของโจทก์ไม่ได้เพราะยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

« »
ติดต่อเราทาง LINE