คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2518
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 288, 80, 81
ตามปกติอาวุธปืนเป็นอาวุธร้ายแรง หากกระสุนปืนที่จำเลยยิงถูกอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกายผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก็เห็นได้ชัดว่าปืนกระบอกนั้นไม่อาจใช้ยิงให้ผู้เสียหายตายได้ แต่เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยยิงเฉียดถูกผู้เสียหายที่ต้นแขนซ้ายมีบาดแผลเล็กน้อย จึงเป็นเรื่องการกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เพราะกระสุนปืนที่จำเลยยิงนั้นถูกอวัยวะส่วนไม่สำคัญของร่างกาย หาใช่เพราะการกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 24, 55 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 61 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 334
ทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ ต่อมามีผู้คัดค้านว่าที่ดินที่ออกโฉนดให้โจทก์นั้นเป็นที่สาธารณของแผ่นดินซึ่งประชาชนใช้ร่วมกันกรมที่ดินจำเลยจึงได้เรียกให้โจทก์ส่งโฉนดที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพื่อส่งให้แก่จำเลย และให้โอกาสโจทก์ยื่นคำคัดค้านภายใน 30 วันโจทก์ยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินดังกล่าวมารดาโจทก์ครอบครองและยกกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ แต่โจทก์ยังไม่ได้ส่งโฉนดให้จำเลยและจำเลยก็ยังมิได้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาสั่งให้จำเลยระงับการเพิกถอนโฉนดของโจทก์ไม่ได้เพราะยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2631/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 683, 694 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (5), 226
ค้ำประกันหนี้ 10,000 บาท และว่าถ้าลูกหนี้ทำความเสียหายเกินกว่านั้นก็รับผิด ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามความเสียหาย 205,764 บาท
ศาลพิพากษาคดีอาญาให้ลูกจ้างใช้ทรัพย์ที่ยักยอกไปผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในความเสียหายนั้น จะนำสืบว่าลูกจ้างไม่ได้ทำความเสียหายและปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคู่ความในคดีอาญาด้วยไม่ได้ โจทก์ฟ้องผู้ค้ำประกันในคดีแพ่งโดยไม่ฟ้องลูกจ้างด้วยก็ได้
จำเลยที่ 1 ขอให้เรียกจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยร่วมศาลไม่อนุญาตไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความ ถ้าไม่โต้แย้งไว้ อุทธรณ์ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 183, 188 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382, 1600
เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งต่างก็เป็นทายาทของ ร.อ้างว่าครอบครองทรัพย์พิพาทเพื่อเป็นของตนภายหลัง ร.ตายเพียง 4 ปี แม้จะฟังเป็นความจริงข้างฝ่ายใด ก็ยังไม่มีฝ่ายใดได้กรรมสิทธิ์ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงข้อโต้เถียงในการเข้าครอบครองทรัพย์พิพาทของผู้ร้องและผู้คัดค้านว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายครอบครอง
เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินคดีโดยตั้งประเด็นว่าทรัพย์พิพาทเป็นมรดกและผู้ร้องเป็นทายาท แต่ตั้งประเด็นผู้ร้องได้ครอบครองทรัพย์พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความแล้วเมื่อผู้ร้องนำสืบฟังไม่ได้ ก็ชอบที่จะต้องยกฟ้อง และยังไม่สมควรที่จะแบ่งมรดกให้ในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2639 - 2640/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 159, 167, 240, 246, 249
ฎีกาจำเลยเป็นแต่เพียงโต้เถียงว่าที่ดินตามบัญชีท้ายฟ้องเป็นสินเดิมของ ล. โดยมิได้อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเป็นเหตุผลแห่งข้อโต้แย้งให้ชัดแจ้งในฎีกา ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบกับมาตรา 167 บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ในอันที่จะมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ศาลอุทธรณ์จึงหยิบยกเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ขึ้นกล่าวเองได้ แม้ประเด็นแห่งคดีมิได้มีข้อโต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม
โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา และจำเลยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา เมื่อเรื่องปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์จำเลยต่างฝ่ายต่างมีส่วนได้รับทรัพย์พิพาทจากกองมรดกเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยมีทรัพย์สินพอจะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 159 ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งให้คู่ความทั้งสองฝ่ายชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้น หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์พิพาท แล้วเอาฃำระค่าฤชาธรรมเนียมจากทรัพย์สินที่ยึดนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2518
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36
การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 เป็นเรื่องที่คนอื่นยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด หาใช่จำเลยในคดีเรื่องนั้นจะใช้สิทธิได้ด้วยไม่ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและสั่งริบของกลาง จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ถูกริบและคดีถึงที่สุดแล้วศาลก็ต้องบังคับคดีไปตามนั้น จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนของกลางหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2685/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ม. 54 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 425
ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มั่นคงยังเป็นที่สงสัย ต้องยกประโยชน์ให้เป็นผลดีแก่จำเลย ฉะนั้นในการพิจารณาคดีแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 54 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ว่า โจทก์ไม่มีพยนมาสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องที่โจทก์นำพยานอื่นมาสืบในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลจะรับฟังไม่ได้ เพราะขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวแล้ส เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นนายข้างจึงไม่ต้องรับผิดไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113
ทำสัญญาจะขายที่ดินรับเงินมัดจำไว้ 30,000 บาท ความจริงเป็นค่าวิ่งเต้นที่ผู้ขายสัญญาจะให้แก่ผู้ซื้อเพื่อจัดการให้พนักงานสอบสวนระงับคดีที่ผู้ขายต้องหาว่าปลอมเอกสาร เป็นการที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตาม มาตรา 113 ผู้ซื้อมาฟ้องให้โอนที่ดินหรือใช้ค่าเสียหายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2593/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 174 (2)
ศาลสั่งรับคำฟ้องมีความว่า ถ้าส่งสำเนาแก่จำเลยไม่ได้ให้โจทก์แถลงใน 7 วัน หากไม่แถลงให้ถือว่าทิ้งฟ้อง แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่าส่งหมายและสำเนาฟ้องแก่จำเลยไม่ได้ จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2592/2518
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 183
ศาลชั้นต้นกะประเด็นว่าผู้ขนส่งจำเลยต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในการที่ของๆ ผู้โดยสารหายไปหรือไม่ และพิพากษาให้ผู้ขนส่งรับผิดตาม มาตรา 638 ศาลอุทธรณ์จะยกเหตุว่าผู้โดยสารไม่ได้บอกราคาทรัพย์แก่ผู้ขนส่งทราบตาม มาตรา 620ซึ่งไม่มีประเด็นข้อต่อสู้ มาบังคับไม่ได้