รวมทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท ในทางกฎหมาย
ปัจจุบันการหมิ่นประมาทเกิดขึ้นแทบทุกวัน ทะเลาะกันแล้วโพสท์ลงโซเชียล ซึ่งมีความเข้าใจผิดหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท Legardy จะพาทุกท่านไปเจาะลึกครบทุกประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องการหมิ่นประมาท
หมิ่นประมาทต้องติดคุกไหม?
คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับศาลพิจารณาครับ ถึงแม้จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา326 หรือมาตราอื่นๆก็ตามที่มีโทษจำคุก ซึ่งโทษของการหมิ่นประมาทไม่ได้ร้ายแรงมาก ศาลท่านอาจมองว่าไม่ต้องติดคุกกันจริงๆก็สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของข้อความที่หมิ่นประมาทรวมถึงประวัติของคนที่ทำผิด หากเป็นการกระทำผิดซ้ำบ่อยๆหลายครั้งก็สามารถรับโทษสูงสุดได้เช่นกัน
คดีหมิ่นประมาทต้องเสียค่าปรับเท่าไหร่
หลังจากเกิดคดีหมิ่นประมาทแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะปรับน้อยหรือปรับมากซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว ต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน
1.ระยะเวลาของการหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้น หากเป็นการหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง เช่นมีการโพสท์เสียๆหายๆอยู่ตลอด ศาลก็สามารถพิจารณาให้มีโทษปรับที่หนักได้ แต่หากเป็นการโพสท์เพียงครั้งเดียว หรือโพสท์แล้วลบแต่บังเอิญว่าเราแคปเจอร์ทัน ก็จะมีโทษปรับที่น้อยลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องและระยะเวลาตามที่กล่าวข้างต้น
2.ความรุนแรงของถ้อยคำ หากถ้อยคำการหมิ่นประมาทนั้นมีความรุนแรงมากๆมีการบรรยายอย่างละเอียดและนำเรื่องส่วนตัวที่เจ้าตัวไม่อยากให้คนทั่วไปรับรู้ เช่น รสนิยมทางเพศ มาพูด ก็อาจจะต้องได้รับโทษที่หนักขึ้นนะครับ
3.ฐานะทางสังคมของผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ หากผู้กระทำมีชื่อเสียงหรือเป็นบุคคลสาธารณะกระทำต่อผู้ถูกกระทำที่เป็นบุคคลธรรมดาก็จะได้รับโทษที่หนักขึ้น ซึ่งหลักการนี้สามารถใช้กับผู้ถูกกระทำ หากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงก็สามารถใช้หลักการเดียวกันนี้ได้เช่นเดียวกันเพราะว่าบุคคลที่มีชื่อเสียงหากเป็นดารา ก็ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ ส่งผลต่องานโฆษณาต่างๆ ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมมากเช่นกัน
4.ผลกระทบของคนที่โดนหมิ่นประมาทได้รับ หากคนที่โดนหมิ่นประมาทนั้นอับอายขายหน้าอย่างรุนแรงถึงกับขั้นต้องลาออกจากงาน เสียสุขภาพจิตอย่างรุนแรงจนต้องถึงขั้นพบแพทย์ คนที่ทำการหมิ่นประมาทนั้นต้องรับโทษหนักขึ้นเช่นกัน
5.คนรับรู้จำนวนมากไหม หากการหมิ่นประมาทนั้นแพร่หลายเป็นวงกว้างและเกิดการส่งต่ออย่างรวดเร็ว ต้องดูหลายปัจจัยเป็นองค์ประกอบ หากเป็นการหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ หากโพสท์นั้นมีคนให้ความสนใจเยอะ มีคนกดไลค์เยอะ โทษก็จะหนักขึ้นไปอีก
ตรงนี้เป็นเพียงแค่บางปัจจัยเท่านั้นนะครับ หลักๆแล้วขึ้นอยู่กับศาลท่านพิจารณาค่าปรับคดีหมิ่นประมาท
อ่านบทความเรื่อง : หากไม่มีเงินเสียค่าปรับ ต้องทำอย่างไร ?
อายุความของหมิ่นประมาท
มีอายุความ 3เดือน นับตั้งแต่เมื่อทราบถึงการกระทำความผิดและรู้ตัวของผู้กระทำความผิด หากไม่กระทำภายใน 3เดือนนี้จะถือว่าเป็นการขาดอายุความ แต่หากฟ้องร้องดำเนินคดีต่อตำรวจหรือส่งเรื่องฟ้องศาลไปแล้วถ้าเป็นการหมิ่นประมาทต่อบุคคลที่สามจะมีอายุความ 5ปี
หากเป็นหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาหรือโลกออนไลน์ จะมีอายุความ10ปี
อ่านบทความเรื่อง "วิธีการนับอายุความ" ได้ที่นี่ คลิกเลย!
แจ้งความหมิ่นประมาท
หากต้องการฟ้องร้องการหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้น สามารถเลือกทำได้ 3แบบดังนี้
(1.)แจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีด้วยตนเอง หากกระทำด้วยขั้นตอนนี้จะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่อาจจะต้องรอคิวตามลำดับเพราะว่าในแต่ละวันมีคดีความเกิดขึ้นมากมาย อาจจะทำให้คดีไม่คืบหน้าได้ เมื่อคดีความมีความคืบหน้าแล้วทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเรียกผู้กระทำและผู้เสียหายมาเจรจาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายกัน เนื่องจากคดีหมิ่นประมาทเป็นคดีที่ยอมความได้ หากเจรจาไกล่เกลี่ยกันไม่ได้ ทางตำรวจก็จะส่งเรื่องให้อัยการเพื่อทำการส่งฟ้องต่อไปเพื่อไปต่อสู้กันในชั้นศาล
ทำไมแจ้งความแล้ว เจ้าหนี้ที่ตำรวจไม่ดำเนินการให้ หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย !
(2.)จ้างทนายความ การจ้างทนายความนั้นถือว่าเป็นขั้นตอนที่สะดวกรวดเร็วเพราะว่าทนายสามารถร่างฟ้องและยื่อนฟ้องต่อศาลได้เลย
(3.)แจ้งความและจ้างทนายไปพร้อมกัน ให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นดำเนินการทางอาญา และให้ทนายกับอัยการเป็นโจทก์ร่วมในการฟ้องจำเลย และทนายสามารถทำเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ได้อีกด้วย
หลักฐานที่ต้องใช้ในการฟ้องหมิ่นประมาท
(1.)ให้แคปเจอร์ข้อความที่มีการหมิ่นประมาทโดยให้เห็นจำนวนคนกดไลค์ กดแชร์ หรือคอมเมนท์ด้วยเพื่อให้เห็นว่าการหมิ่นประมาทนั้นเป็นวงกว้าง หากมีคนกดไลค์เยอะหรือแชร์เยอะ โทษที่จะได้รับก็จะหนักขึ้นไปด้วย
(2.)ลิงค์โปรไฟล์ หรือรูปโปรไฟล์ของคนที่หมิ่นประมาท เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าบุคคลนั้นได้ทำการหมิ่นประมาทจริงๆ อาจจะมีการใช้เฟสอวตาลเพื่อใส่ความให้คนอื่น ตรงนี้ต้องตรวจสอบให้ดีและรอบคอบนะครับ
(3.)พยานหรือบุคคลที่สามที่ได้ยินหรือเห็นข้อความหมิ่นประมาทนั้นๆ
"ทั้งหมดนี้ให้แคปเจอร์แล้วปรินท์ใส่กระดาษA4นะครับ(ยกเว้นพยาน) เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี"
หมิ่นประมาทกับดูหมิ่น ไม่เหมือนกันอย่าเข้าใจผิด
หมิ่นประมาท คือ การใส่ความ ด้วยวิธีการพูด วาดรูป หรือแสดงกิริยารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อาจเป็นการพูดเป็นเรื่องเป็นราวที่ใส่สีตีไข่เพิ่มเติมเพื่อใส่ร้ายผู้อื่นโดยที่คำพูดนั้นไม่เป็นความจริงหรือเป็นความจริงก็ได้และทำให้บุคคลที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นเสียหายทั้งทางด้านชื่อเสียง แต่ตรงนี้ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้นะครับหากข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้จะไม่ใช่การหมิ่นประมาท จะเป็นแค่ "คำด่า" หรือการ "ดูหมิ่น" เช่น A ด่า B ว่า "แม่มึงเป็นหมา" เนื่องจากการด่าคำนี้ ไม่ได้ทำให้Bถูกเกลียดชังหรือเสียงชื่อเสียงได้ เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะมีมารดาเป็นสุนัข
ซึ่งการด่าคนอื่นนั้นจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
การดูหมิ่นซึ่งหน้านั้น ต้องเป็นการดูหมิ่นที่อีกฝ่ายได้รับสารนั้นทันทีนะครับ เช่น การด่าต่อหน้าเลย หรือการพูดคุยโทรศัพท์กัน หรือการแชท แต่ถ้าเป็นการด่ากันผ่านอีเมล จะไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาทซึ่งหน้านะครับ เพราะผู้ถูกด่าจะไม่ได้รับสารนั้นในทันทีจนกว่าจะเปิดอ่าน
รู้หรือไม่? ปัจจุบันไม่สามารถฟ้องหมิ่นประมาทพ่วงไปกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ได้แล้ว!
เนื่องจากที่ผ่านมา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14(1) บัญญัติไว้ว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน
มีการนำมาตราดังกล่าวมาใช้กับการฟ้องหมิ่นประมาทเป็นจำนวนมาก ซึ่งผิดต่อวัตถุประสงค์จริงๆของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นบัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องกันการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ การอนาจารบนโลกออนไลน์ เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 ให้ดีขึ้น โดยได้ใส่เงื่อนไขว่า "อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา" เข้ามาเพื่อให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการมากขึ้น
สรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อัพเดทล่าสุด !
หมิ่นประมาทซึ่งหน้ากับหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์
ก็เหมือนการหมิ่นประมาทเลยครับต้องดูองค์ประกอบการรับผิด ซึ่งการหมิ่นประมาทซึ่งหน้านั้นคือการโต้ตอบระหว่างบุคคล เช่นการยืนด่ากัน แต่ตรงนี้ต้องดูองค์ประกอบแวดล้อมด้วยครับ ว่าการกระทำนั้นต่างฝ่ายต่างโมโห หรือตอบโต้ด้วยข้อความรุนแรงกันหรือเปล่า หากเป็นการตอบโต้กันด้วยถ้อยคำที่รุนแรงต่างฝ่ายต่างไม่ยอม อาจจะถือว่าไม่เป็นการหมิ่นประมาทได้เช่นกัน
ในส่วนของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำว่า "โฆษณา" กันก่อน
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า "โฆษณา" ว่า เป็นการเผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชนด้วยวิธีการป่าวร้อง, ป่าวประกาศที่เป็นกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ ดังนั้นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ก็ถือเป็นการป่าวประกาศให้ประชาชนโดยทั่วไปได้เห็นหรือทราบข้อความดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น การโพสท์บนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ข้อความดังกล่าวนั้นสามารถแพร่กระจายสู่สาธารณะได้อย่างรวดเร็วก็ถือว่าเป็นการโฆษณาเช่นกัน ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา328 นอกจากนี้อาจจะต้องรับผิดเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อีกด้วย
แล้วการด่ากันทางโทรศัพท์เป็นดูหมิ่นซึ่งหน้าไหม บทความนี้มีคำตอบ ! คลิกเลย
การนำข้อความไปเล่าหรือส่งต่อ ก็ถือเป็นความผิดหมิ่นประมาท
การที่เรารู้ถึงถ้อยคำหรือตัวอักษรที่หมิ่นประมาทมาจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วนำไปเล่าหรือส่งต่อให้บุคคลอื่นนั้น ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นเดียวกันนะครับ การอ้างว่าได้ยินมาอีกทอดหรือแค่เอาไปเล่าต่อ รวมไปถึงการแชร์ในสื่อสาธารณะ การข้อความหมิ่นประมาทในแอปพลิเคชั่นแชท หรือ การแคปเจอร์หน้าคอที่เป็นการหมิ่นประมาทแล้วส่งไปให้คนอื่นนั้น หากข้อความต้นทางเป็นการหมิ่นประมาทจริง บุคคลที่ส่งต่อด้วยวิธีการข้างต้นหรือวิธีการใดๆก็ตาม บุคคลที่ส่งต่อนั้นย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยนะครับ จะยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นนะครับ
คำพิพากษาฎีกาที่ 380/2503 จำเลยได้ยินอาของโจทก์เล่าให้ฟังว่าโจทก์กับ อ.ซึ่งเป็นญาติรักใคร่กันในทางชู้สาว นอนกกกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมามีนาง ส. มาถามจำเลย จำเลยก็เล่าข้อความตามที่ได้ยินมาให้นาง ส. ฟัง เช่นนี้ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด แม้จำเลยจะตอบไปโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำ และเล็งเห็นผลการกระทำของจำเลยได้ว่าจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์
การสืบพยานของคดีหมิ่นประมาท
หลังจากที่เกิดคดีหมิ่นประมาทขึ้นเลย ขั้นตอนการสืบพยานคดีหมิ่นประมาทมีดังนี้
1.ฝั่งจำเลยนั้นได้ทำผิดจริงไหม ซึ่งตรงนี้ฝ่ายจำเลยต้องทำการพิสูจน์ตนว่าสิ่งที่ได้ทำนั้นเป็นความจริงไหม ฝ่ายโจทก์จะต้องนำสืบโดยการรวบรวมหลักฐานว่าสิ่งที่จำเลยได้ทำนั้นเป็นการหมิ่นประมาทจริงไหม ไม่ใช่เป็นการที่บอกกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ หากเป็นการหมิ่นประมาท
2.หากเป็นการหมิ่นประมาทบนโลกออนไลน์ จะต้องทำการพิสูจน์ตัวตนว่าโปรไฟล์ที่ทำการหมิ่นประมาทนั้นเป็นของจำเลยจริงไหม อาจจะมีการปลอมตัวหรือสร้างเฟสอวตาล(เฟสบุคปลอม)เพื่อทำให้ฝ่ายจำเลยเสมือนเป็นผู้กระทำผิดได้เช่นกัน
3.ขั้นตอนการพิจารณาข้อความหมิ่นประมาท ต้องดูก่อนว่าข้อความดังกล่าวนั้นถือเป็นการหมิ่นประมาทจริงหรือไม่ อาจจะเป็นแค่คำด่า คำหยาบ การดูหมิ่น ไม่ใช่การหมิ่นประมาท หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ
4.ข้อความนั้นๆเชื่อมโยงไปยังโจทก์ได้อย่างไร หากมีชื่อของโจทก์ในการหมิ่นประมาท หรือมีการใช้อักษรย่อหรือข้อความอื่นใดก็ตามที่สามารถโยงไปถึงโจทก์ได้ ข้อความนั้นจะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
5.อายุความของคดีหมิ่นประมาท การแจ้งความร้องทุกข์นั้นได้แจ้งความภายในอายุความหรือเปล่า เพราะว่าคดีหมิ่นประมาทนั้นมีอายุความ 3เดือนนับตั้งแต่รู้ถึงการกระทำผิดนั้น
6.การตรวจสอบคำฟ้อง การหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นนั้นครบองค์ประกอบของการหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งการหมิ่นประมาทนั้นถือเป็นคดีอาญา ซึ่งคดีอาญานั้นศาลจะมีการตรวจสอบโดยละเอียด หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งศาลอาจยกคำฟ้องได้
อ่านมากกว่า 200คำปรึกษาจริงเรื่อง "หมิ่นประมาท" คลิกเลย !
Q: โพสต์แบบนี้ในทวิตเตอร์เป็นหมิ่นประมาทไหมคะ?
Q: ถ้าโดนหมานเรียกตัวไป สน. ข้อหาหมิ่นประมาท
Q: ฟ้องหมิ่นประมาทในกรุ๊ปแชทขององค์กรที่ทำงาน
หมิ่นประมาทโดยไม่ระบุชื่อมีความผิดหรือไม่
โดยปกติการที่หมิ่นประมาทและมีการระบุชื่อ จะง่ายต่อการวินิจฉัยว่าหมิ่นประมาทไหม แต่ในกรณีที่มีการใช้อักษรย่อหรือคำใบ้ต่างๆจะผิดฐานหมิ่นประมาทไหม ซึ่งตรงนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท
1.การหมิ่นประมาทโดยที่ไม่เอ่ยชื่อ แต่คนทั่วไปสามารถทราบทันทีว่าการหมิ่นประมาทนั้นหมายถึงใคร
เช่น เจ้าของโรงแรม5ดาวแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ บ้านอยู่ที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ชื่ออักษรย่อ บ. เป็นผู้ชาย ตัวสูง175 มีหนวด ผิวขาว ซุกชู้ไว้3คน
ซึ่งคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่นั้น สามารถรู้ได้ทันที่ว่า บุคคลที่กล่าวถึงนั้นคือใคร แบบนี้จะเข้าข่ายผิดฐานหมิ่นประมาทนะครับ
2.การหมิ่นประมาทโดยที่ไม่เอ่ยชื่อ และคนทั่วไปไม่สามารถทราบได้ทันทีว่าการหมิ่นประมาทนั้นหมายถึงใคร
ผู้ฟังต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องไปถามชาวบ้านระแวกนั้น โดยที่ไม่ทราบในทันที ว่าบุคคลดังกล่าวคือใคร ถ้าเกิดกรณีนี้ขึ้นจะไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เช่น เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก มีชู้3คน
ถ้าเป็นกรณีนี้เจ้าของโรงแรมในภาคตะวันออกซึ่งมีเยอะมาก ผู้ฟังไม่สามารถทราบได้ทันทีว่าบุคคลที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นคือใคร ซึ่งจะไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทครับ
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "หมิ่นประมาทโดยไม่ระบุชื่อ" คลิกเลย !
องค์ประกอบของการหมิ่นประมาท
1.ผู้กระทำ คือ บุคคลใดที่กระทำการหมิ่นประมาท
2.การใส่ความ คือ การพูดให้ร้าย ใส่ความในทางที่ไม่ดี ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดหากเป็นการเขียนข้อความ ทำเป็นรูปภาพ วีดีโอ ก็เช่นกัน
การที่จะนับได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้น ต้องไม่เป็นเพียงคำหยาบ ต้องเป็นการเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผลว่าการกระทำหมิ่นประมาทนั้นจะทำให้ผู้นั้นได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง ดูหมิ่น เกลียดชัง
3.คนที่โดนใส่ความ คือ คนที่โดนพูดให้ร้าย ดูหมิ่น ทำให้เกลียดชัง
4.บุคคลที่สาม คือ มีบุคคลที่มารับรู้ว่ามีการใส่ความที่ทำให้เสียชื่อเสียงเกิดขึ้น ความผิดจะสำเร็จก็ต่อเมื่อข้อความการหมิ่นประมาทนั้นไปถึงบุคคลที่สามแล้ว หากข้อความการหมิ่นประมาทนั้นไปไม่ถึงหรือบุคคลที่สามยังไม่ได้รับข้อความดังกล่าว ก็จะไม่เป็นการหมิ่นประมาทจะเป็นแค่การพยายามกระทำเท่านั้น
5.โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง จะยึดตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อหาหมิ่นประมาท
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 331 คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 332 ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
(1) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
(2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 333 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
ข้อยกเว้นของการหมิ่นประมาท
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 หากผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต
(1).เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวกับตน
ความชอบธรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องถูกต้องตามกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่คนทั่วไปมองว่าควรเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2510
พระภิกษุในวัดเดียวกันทำหนังสือร้องเรียนต่อสังฆนายกว่าพระภิกษุเจ้าอาวาสประพฤติผิดธรรมวินัยโดยร่วมประเวณีกับหญิงแม้เรื่องที่ร้องเรียนกล่าวหานั้นจะไม่เป็นความจริง แต่ได้ร้องเรียนไปโดยสุจริต โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นความจริง ดังนี้ ไม่มีผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะถือว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อ ความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)
หากโดนฟ้องหมิ่นประมาทแล้ว ควรรับมืออย่างไร
(2.)การแสดงความเห็นเพราะปฎิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
ขอยกกรณีตัวอย่างของเจ้าหน้าที่ตำรวจนะครับ เช่น นายAมีข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นพ่อค้ายาเสพติด ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท เพราะหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือการหาข้อมูล การสืบสวนและสอบสวนอยู่แล้ว
(3.)การติเพื่อก่อ หากเป็นการวิจารณ์เพื่อให้ปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะได้รับการยกเว้นความผิดเช่นกัน
สรุป
การหมิ่นประมาทนั้นเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทางLegardy อยากให้ทุกท่านก่อนโพสท์หรือก่อนพูดอะไรคิดไตร่ตรองให้เยอะ เพราะเมื่อเกิดคดีความหมิ่นประมาทขึ้นมาแล้ว ไหนจะต้องเสียทั้งเวลาเสียทั้งเงิน บางครั้งผู้กระทำผิดเองอาจจะต้องเสียเชื่อเสียงด้วยเพราะเคยเกิดคดีความ ก่อนกระทำสิ่งใดอยากให้ระลึกไว้เสมอ "ก่อนพูดเราเป็นนายของคําพูด แต่เมื่อพูดแล้ว คําพูดเป็นนายเรา" , "คำพูดบางคำคนพูดไม่เคยจำ คนฟังไม่เคยลืม" หากต้องการปรึกษาทนายเรื่องหมิ่นประมาท สามารถกดลิงค์นี้ได้เลยครับ
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที