Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-26

มาตรา 393 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“มาตรา 393 หรือ มาตรา 393 อาญา คืออะไร?


“มาตรา 393 ” หรือ “มาตรา 393 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
              [อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๘] “

 

ปรึกษาปัญหาทางกฎหมายฟรี
ตลอด 24 ชั่วโมง

  • ทนายให้ ปรึกษามากกว่า 3000 ครั้ง
    ฟรีบนแพล็ตฟอร์ม
  • ฟรี และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • ปรึกษาได้ทุกเรื่องราว ไม่ระบุตัวตนของผู้ถาม


3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 393” หรือ “มาตรา 393 อาญา” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13173/2558
การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทหรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าวดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อพิเคราะห์ถึงถ้อยคำที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหายว่า "ก็ผู้หญิงชั่ว" และมองไปที่ผู้เสียหายนั้น ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า "ชั่ว" ว่า เลว ทราม ร้าย ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหาย จึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่า เป็นผู้หญิงเลว ผู้หญิงทราม ผู้หญิงร้าย ผู้หญิงไม่ดีจึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551
การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
mini_call_to_action_picture

ทนายความมากกว่า 500 คน ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษา เพียง 33 บาท