“มาตรา 36 หรือ มาตรา 36 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 36 ” หรือ “มาตรา 36 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน แต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด”
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ริบทรัพย์" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ริบทรัพย์" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 36” หรือ “มาตรา 36 อาญา” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2565
แม้ผู้ร้องจะมิได้เก็บรักษากุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ในที่มิดชิด แต่เสียบกุญแจรถจักรยานยนต์คาไว้ที่รูกุญแจรถจักรยานยนต์ ทำให้บุคคลภายในครอบครัวสามารถนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้โดยง่าย ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการที่จำเลยและบุคคลภายในครอบครัวนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ก็ตาม แต่ได้ความว่าบุคคลภายในครอบครัวเพียงแต่นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ขับซื้อของและทำธุระทั่วไปเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวเคยมีพฤติการณ์นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยินยอมหรืออนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อจะไปตกปลากับเพื่อน ไม่ได้ประสงค์จะนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปกระความผิด แต่เหตุที่จำเลยกระทำความผิดตามที่ถูกฟ้องเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เพราะมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองโดยผิดกฎหมาย การที่จำเลยขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่สั่งให้หยุดรถและขับรถจักรยานยนต์หลบหนีการจับกุม จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทันทีในขณะนั้นอันเป็นการกระทำความผิดของจำเลยโดยลำพัง ผู้ร้องย่อมไม่อาจทราบหรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดดังกล่าว ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13/2565
การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบรถกระบะของกลางเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 จำเลยย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จำเลยไม่ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ โจทก์ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์แต่ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในเวลาที่ขยายไว้ สิทธิที่ผู้ร้องจะขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดจึงต้องนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2564
ก่อนเกิดเหตุ จำเลยไปหาผู้ร้องและหยิบอาวุธปืนของกลางออกมาเพื่อใช้ซ้อมยิงปืนในค่ายทหารซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำเลยกระทำอยู่เป็นประจำ ภายหลังจากนั้นจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวมาใช้ก่อเหตุ อันแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้เข้มงวดกวดขันในการอนุญาตให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้อย่างแท้จริง และการที่จำเลยสามารถหยิบอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าววัตถุประสงค์ให้ผู้ร้องทราบก่อน ย่อมแสดงว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปใช้ได้ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงถึงว่าจำเลยจะนำไปใช้ในกิจกรรมใด ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนอาวุธปืนของกลาง