Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-29

มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 9 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 9” คืออะไร? 


“มาตรา 9” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 9 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
              ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
              ความในวรรคสองไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้น ซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ลายมือชื่อ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ลายมือชื่อ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 9” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 9 ” ในประเทศไทย 


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2558
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้นเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี และมิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ จำเลยทั้งห้าไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งห้าคัดค้านนั้น แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยทั้งห้าอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรมหรือการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าโต้แย้งคัดค้านกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าเสียหายจึงยังไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าว
การที่จำเลยทั้งห้าไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธมาในศาลชั้นต้นว่าสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาปลอม และจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจทำสัญญาจำนองแทน ส. จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การที่ ป. และ บ. ลงลายมือชื่อในช่องพยานในสัญญาค้ำประกันเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. แม้จะไม่ระบุว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ถือว่าเป็นการรับรองลายพิมพ์นิ้วมือแล้ว การลงลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. จึงถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 19 ต่อปี นั้น ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินควรศาลย่อมลดเบี้ยปรับได้ แต่เนื่องจากมีการโอนหนี้ของโจทก์คดีนี้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แล้ว สิทธิในการคิดดอกเบี้ยจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 9 วรรคสอง
ป.วิ.พ. ม. 27, ม. 227, ม. 228, ม. 249 วรรคหนึ่ง
พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ม. 10 วรรคหนึ่ง


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2555
การที่โจทก์ฎีกาในบางตอนปฏิเสธว่าลายพิมพ์นิ้วมือซ้ายในการถอนเงินและปิดบัญชีไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. เจ้าของบัญชีเงินฝากประจำ แต่บางตอนกลับรับว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส. นั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของ ส.
สัญญาระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งทรัพย์ที่ฝากเป็นเงิน ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน คู่ความจะตกลงรูปแบบและกำหนดเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งจะตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น ส. กับจำเลยที่ 1 สามารถตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการถอนเงินใหม่เป็นให้ ส. ถอนเงินโดยให้พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายแทนการลงลายมือชื่อได้ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง แม้มิได้มีผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ใช้บังคับได้ระหว่างคู่สัญญา เนื่องจากเป็นวิธีการและข้อตกลงที่ผู้ฝากจะสั่งให้ผู้รับฝากคืนทรัพย์สินที่ฝากแก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 665 วรรคแรก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 9 วรรคสอง, ม. 665 วรรคแรก
ป.วิ.พ. ม. 249 วรรคหนึ่ง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6542/2552
ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ด้านหลังมี ณ. เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 5 ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ ที่พิมพ์ลงในหนังสือมอบอำนาจจริง และมีเจตนาในการทำนิติกรรมการโอนที่ดินโดย ณ. ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และในวันเดียวกันก็มีหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งรับรองโดย ณ. เช่นเดียวกัน แต่เป็นการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดจนให้ผู้รับมอบอำนาจให้ถ้อยคำต่างๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแทนโจทก์จนเสร็จการ การที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คน จึงเป็นการสมบูรณ์ ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และตามมาตรา 822 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าลงลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ ทั้งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยที่ 1 ไป แสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 2 หลงเชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจเช่นนั้นจริง โจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 9 วรรคสอง, ม. 821, ม. 822
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที