Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 801 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 801 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 801” คืออะไร? 


“มาตรา 801” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 801 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง
              แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ
              (๑) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
              (๒) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
              (๓) ให้
              (๔) ประนีประนอมยอมความ
              (๕) ยื่นฟ้องต่อศาล
              (๖) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ตัวการตัวแทน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ตัวการตัวแทน" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 801” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 801 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561
คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้
ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
การมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แม้ระบุข้อความทำนองว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โดยการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งไม่ต้องระบุว่าให้ฟ้องในข้อหาใดเช่นกัน การระบุหมายเลขคดีในภายหลังเป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 374, ม. 801 (5), ม. 1300
ป.วิ.พ. ม. 55


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2561
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวระบุข้อความในการมอบอำนาจแต่เพียงว่า บ. มีสิทธิในการลงนามเอกสารดำเนินการทั้งหมดของบริษัทสาขาทั้งภายในและภายนอก อันมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ระบุกิจการ โดยมิได้ระบุให้ บ. มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมี บ. มาเบิกความยืนยันว่าตามหนังสือมอบอำนาจ พยานมีสิทธิดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพยานเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยชอบ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 801 วรรคหนึ่ง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2083/2554
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญระบุว่า บริษัทโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนขอแต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของบริษัทในกิจการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้รวม 9 ข้อ โดยในข้อ 2 ระบุให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญาหรือคดีอื่นใดทุกประเภทต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ทุกศาลทั่วราชอาณาจักร เป็นการมอบอำนาจให้ ถ. และหรือ ส. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้หลายประการ ทั้งได้ระบุให้มีอำนาจที่จะฟ้องคดีและดำเนินคดีทุกประเภทต่อศาลทุกศาลไว้โดยชัดแจ้งโดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง การมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ที่รวมถึงให้ยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) ด้วย ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเช่นนี้ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ถ. และหรือ ส. จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามแทนโจทก์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่ได้อ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทน คดีไม่มีประเด็นเรื่องตัวการตัวแทน การที่โจทก์อุทธรณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นอุทธรณ์นอกเหนือประเด็นข้อพิพาท ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของซึ่งได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหาย ถ้าเหตุแห่งการเสียหายนั้นเกิดขึ้นระหว่างที่ของดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตน และวรรคสองบัญญัติให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งนับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของนั้นไว้จากผู้ส่งของจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40 ดังนั้น ตราบใดที่สินค้าพิพาทยังมิได้ส่งมอบแก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งหรือส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่หรือบุคคลใด ๆ ตามกฎหมายหรือกฏข้อบังคับที่ใช้ ณ ท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทาง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงยังไม่สิ้นสุดลง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 801 (5)
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 39 วรรคหนึ่ง, ม. 40
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 45
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที