Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 656 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 656 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 656” คืออะไร? 


“มาตรา 656” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 656 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
              ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
              ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ “

อ่านบทความ : จ่ายหนี้ด้วยวิธีไหนได้บ้างในทางกฎหมาย !

 

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 656” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 656 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3437/2559
โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า ห. และ จ. ร่วมกันทำมาหากินประกอบธุรกิจนากุ้งและทำประมง และกิจการอื่น ๆ ตลอดระยะเวลาสิบปี มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นที่ทำมาหาได้ร่วมกันจึงเชื่อได้ว่า ห. และ จ. อยู่กินฉันสามีภริยามาเป็นเวลาสิบปี ทรัพย์ที่ทำมาหาได้ต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของร่วม รวมทั้งหนี้สินที่เกิดจากกิจการที่ทำมาหากินร่วมกันย่อมถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกัน เมื่อ ห. กู้ยืมเงินจากจำเลยเพื่อนำไปซื้อลูกกุ้งและอาหารกุ้ง ซึ่งเป็นกิจการที่ ห. ทำร่วมกับ จ. และ จ. ร่วมรับรู้โดย ห.เป็นผู้โทรศัพท์แจ้งแล้ว จ. เป็นผู้มารับเงิน หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ จ. ต้องร่วมกับ ห. ชำระหนี้ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ จ. ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาท 2 แปลง ตีใช้หนี้ของ ห. และ จ. ให้แก่จำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยและ ส. หลอกลวง แต่การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงถือว่าจำเลยผู้ให้กู้ยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่น เป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่ามีการคิดราคาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ คือเวลาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 656 วรรคสอง, ม. 656 วรรคสาม


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13678/2558
ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง อันเป็นหลักทั่วไปในเรื่องหนี้ที่มีบทบัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป" ก็ดี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะในเรื่องเอกเทศสัญญา ลักษณะยืม ที่มีบทบัญญัติว่า "ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ" ก็ดี ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญว่าต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ยืมยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ทั้งสิ้น ซึ่งตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสาม มีบทบัญญัติว่า "ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ" นั้น มีความหมายว่า เมื่อผู้ให้กู้ยืมยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมแล้ว หากมีข้อตกลงให้คิดมูลค่าสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ชำระนอกเหนือไปจากจำนวนราคาตามท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ก็ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ ดังนี้ การยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมจึงเป็นสิทธิของผู้ให้กู้ยืมฝ่ายเดียวที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ สัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 6 ที่มีข้อความว่า "คู่สัญญาตกลงกันว่า ผู้กู้จะชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระเงินไม่ได้เป็นอันขาด" มิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด จึงหาเป็นโมฆะไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 321, ม. 656


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3262/2556
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศตามหมายเหตุแนบท้าย พ.ร.ก. และข้อความในตอนต้นของ พ.ร.ก. ก็ระบุไว้อย่างแจ้งชัดแล้วว่า พ.ร.ก. นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้ทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย พ.ร.ก. ดังกล่าวมิได้ใช้บังคับกับการทำนิติกรรมทั่ว ๆ ไป ดังเช่นที่ใช้ใน ป.พ.พ. แต่ใช้เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับหนี้สินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.ก. เท่านั้น บทบัญญัติต่าง ๆ ที่ระบุไว้จึงย่อมแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. รวมทั้งเรื่องการบังคับจำนองหรือการเอาทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนอง การที่โจทก์บังคับจำนองทรัพย์สินคือที่ดินพิพาทหลุดเป็นสิทธิโดยอาศัยอำนาจตามที่ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ให้อำนาจไว้โดยชอบแล้ว แม้ไม่ได้ดำเนินการตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ไม่ทำให้การโอนที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นโมฆะ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 656
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ม. 76
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที