Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-31

มาตรา 655 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 655 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 655” คืออะไร? 


“มาตรา 655” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 655 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
              ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ดอกเบี้ย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ดอกเบี้ย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 655” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 655 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2558
เมื่อจำเลยยอมรับว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทเกิดจากการนำมูลหนี้ต่าง ๆ ที่มีก่อนหน้านั้น (หนี้กู้ยืมเงิน) มารวมเป็นยอดหนี้จำนอง ต้องถือว่าหนี้ประธานคือ หนี้กู้ยืมเงินซึ่งถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น สามารถแบ่งแยกดอกเบี้ยออกจากต้นเงินได้ ดังนั้น หนี้ในส่วนต้นเงินในเอกสารหมาย ล.7 ถึง ล.9 ซึ่งมีจำนวน 7,387,884 บาท จึงมิได้ตกเป็นโมฆะไปด้วย เมื่อรวมกับต้นเงินที่จำเลยขอกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 610,000 บาท แล้วรวมเป็นต้นเงินจำนวน 7,997,884 บาท ที่จำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์และโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 7,997,884 บาท นับแต่ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนองเป็นต้นไปเป็นเวลา 5 ปี เป็นดอกเบี้ยจำนวน 5,998,413 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 13,996,297 บาท
เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการจำนองที่ดินพิพาท ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 13,996,297 บาท แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินพิพาทมีราคาประเมินของทางราชการเป็นเงิน 19,645,000 บาท ราคาทรัพย์จำนองจึงสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาทรัพย์จำนองหลุดได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 151, ม. 654, ม. 655


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2554
การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำเลยที่ 1 ก็เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ อันเป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้โดยเฉพาะ หาได้มีผลต่อความรับผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องในคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาด ก็มีผลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามามีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับความรับผิดของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 59 (2) ที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 4 ด้วย
การโอนสิทธิเรียกร้องคดีนี้เป็นการโอนอันเนื่องมาจากการรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงิน ระหว่างธนาคาร ส. โจทก์ กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันแถลงแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้โจทก์รับโอนกิจการจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ดังนี้ กรณีจึงต้องด้วย พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 38 ตรี วรรคสอง ที่บัญญัติยกเว้นไว้ให้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ.
คำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง การที่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวใช้สิทธิขอรับชำระหนี้หรือได้รับชำระหนี้บางส่วนในระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ หาได้ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดไม่ คงมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ลดลงตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งมีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ลดลงตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น
การฟ้องเรียกให้ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นการฟ้องให้ผู้กู้ปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาก่อน ตามหนังสือขอให้ชำระหนี้นั้นมีเนื้อหาระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและขอให้จัดการชำระหนี้ทั้งหมด ไม่มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือดังกล่าวจึงเป็นเพียงแต่การทวงถามหรือเตือนให้ชำระหนี้เท่านั้น ไม่อาจแปลหรือถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี ทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ตามข้อตกลงแม้ลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม เมื่อโจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกิน 1 ปี มาทบรวมกับยอดเงินต้นแล้วดอกเบี้ยที่ทบนั้นก็กลายเป็นต้นเงินไม่เป็นดอกเบี้ยที่ค้างอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 224 วรรคสอง, ม. 306, ม. 655 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/60 วรรคสอง
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 38 ตรี วรรคสอง


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2554
โจทก์เบิกความยืนยัน โจทก์ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 290,000 บาท โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ตามเอกสารหมาย จ.1 แต่จำเลยอ้างว่าเมื่อปี 2535 จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 50,000 บาท เท่านั้น และในปี 2536-2538 จำเลยได้ทำการชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกปีเป็นจำนวน 3 ครั้ง ต่อมาปี 2539 และปี 2540 จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์จึงให้จำเลยทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 แต่ความจริงจำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท เท่านั้น ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2540 เป็นจำนวนเงินมากกว่า 30,000 บาท เพราะจำเลยมิได้ค้างชำระดอกเบี้ยเฉพาะในปี 2539 และ 2540 แต่ในปี 2536-2538 จำเลยก็ยังผ่อนชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ครบ การที่จำเลยอ้างว่าในปี 2543 ได้นำเงิน 80,000 บาท ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ยอมคืนสัญญากู้ยืมเงินให้ถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุน ทั้งจำนวนเงินดังกล่าวก็เป็นเพียงเงินต้นเท่านั้นไม่รวมไปถึงดอกเบี้ยด้วย จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะคืนสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลย จึงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 290,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นแก่โจทก์ 290,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินกู้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุนทรัพย์ชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ออก ศาลต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 653, ม. 655
ป.วิ.พ. ม. 150 ตาราง 1 (2) ท้าย ป.วิ.พ.
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที