“มาตรา 460 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 460” คืออะไร?
“มาตรา 460” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 460 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว
ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำแล้ว “
อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "การซื้อขาย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "การซื้อขาย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 460” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 460 ” ในประเทศไทย.
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19816/2555
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักปุ๋ยของสหกรณ์การเกษตร ด. ผู้เสียหายที่เป็นของนายจ้างไป แต่กลับได้ความตามทางพิจารณาเกี่ยวกับทางปฏิบัติในการซื้อปุ๋ยของสหกรณ์การเกษตร ด. ผู้ขายว่า ต้องมีการขนส่งปุ๋ยมาตรวจนับ ณ ที่ทำการของสหกรณ์การเกษตร ด. ก่อนการชำระค่าปุ๋ยตามจำนวนที่ตรวจนับได้ ดังนี้ถือว่าสหกรณ์การเกษตร ด. และผู้ขายซึ่งเป็นคู่สัญญามีเจตนาเอาการตรวจนับปุ๋ย ณ ที่ทำการของสหกรณ์การเกษตร ด. เป็นสาระสำคัญในการโอนกรรมสิทธิ์ปุ๋ยกัน เมื่อปุ๋ยตามฟ้องสูญหายไประหว่างขนส่งก่อนการตรวจนับ กรรมสิทธิ์ในปุ๋ยจึงยังไม่ตกเป็นของสหกรณ์การเกษตร ด.
แม้คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดินซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดยไม่มีผู้ร้องทุกข์ก็ตาม แต่เมื่อสหกรณ์การเกษตร ด. ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในปุ๋ยจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 335 วรรคสอง
ป.พ.พ. ม. 460
ป.วิ.อ. ม. 2 (4), ม. 3 (2), ม. 30
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6656/2551
หลักเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้น เป็นหลักการพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดในทางแพ่งของสัญญาซื้อขายที่ได้มีการกระทำโดยสุจริต ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการพิจารณาความรับผิดในทางอาญาดังเช่นกรณีนี้ เนื่องจากทรัพย์สินของผู้เสียหายที่วางไว้ในร้านของผู้เสียหายเพื่อจำหน่ายแก่ผู้มาซื้อ กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในทรัพย์สินดังกล่าวย่อมเป็นของผู้เสียหาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเอาไปซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวด้วยวิธีการนำไปซุกซ่อนไว้ในเสื้อผ้าของจำเลย โดยมีเจตนาที่จะไม่ชำระราคาทรัพย์สินนั้น จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพื่อได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 195 วรรคสอง, ม. 460
ป.อ. ม. 334
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1074/2546
การที่โจทก์ส่งมอบข้าวเปลือกให้จำเลยสีเป็นข้าวสารแล้วส่งคืนข้าวสารแก่โจทก์โดยโจทก์ให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยเป็นปลายข้าวและรำข้าวนั้น ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง จำเลยมีหน้าที่จะต้องนำข้าวเปลือกจำนวนที่ได้รับมอบจากโจทก์อันกำหนดไว้แน่นอนมาดำเนินการสีเป็นข้าวสารส่งมอบให้แก่โจทก์ ต่อมาเกิดไฟไหม้โรงสีข้าวของจำเลยซึ่งขณะนั้นในโรงสีไม่มีข้าวเปลือกมีแต่ข้าวสารแสดงว่าข้าวสารที่จำเลยจะต้องส่งมอบแก่โจทก์นั้นเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว ฉะนั้น การที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบข้าวสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้เพราะเหตุไฟไหม้ที่ไม่ปรากฏว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใด จึงถือไม่ได้ว่าเหตุไฟไหม้นั้นเนื่องมาจากพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ การชำระหนี้ของจำเลยด้วยการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ย่อมกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ที่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 วรรคหนึ่ง
ส่วนกรณีที่จำเลยผิดนัดในการส่งมอบข้าวสารแม้การชำระหนี้จะกลายเป็นพ้นวิสัยนั้น ปรากฏว่าการที่จำเลยจะต้องส่งข้าวสารคืนแก่โจทก์นั้นต้องรอคำสั่งจากโจทก์ว่าจะให้ส่งไปจำนวนเท่าใด เมื่อโจทก์ยังมิได้เรียกให้จำเลยส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดในการส่งมอบข้าวสารแก่โจทก์อันจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 217
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 217, ม. 219, ม. 460