Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 329 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 329 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 329” คืออะไร? 


“มาตรา 329” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 329 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ถ้านอกจากการชำระหนี้อันเป็นประธาน ลูกหนี้ยังจะต้องชำระดอกเบี้ยและเสียค่าฤชาธรรมเนียมอีกด้วยไซร้ หากการชำระหนี้ในครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ได้ราคาเพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด ท่านให้เอาจัดใช้เป็นค่าฤชาธรรมเนียมเสียก่อนแล้วจึงใช้ดอกเบี้ย และในที่สุดจึงให้ใช้ในการชำระหนี้อันเป็นประธาน
              ถ้าลูกหนี้ระบุให้จัดใช้เป็นประการอื่น ท่านว่าเจ้าหนี้จะบอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ก็ได้ “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "ลูกหนี้" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "ลูกหนี้" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 329” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 329 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2565
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสิบข้อ 8 ตกลงกันว่า หากจำเลยทั้งสิบผิดนัดชำระหนี้ยอมโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารแนบท้ายส่วนที่เหลือทั้งหมดแก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีมูลค่าเท่ากับมูลค่าคงเหลือจากการปลอดจำนอง คล้ายกับเป็นการโอนทรัพย์สินตีใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม แต่ผลจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้จำเลยทั้งสิบพ้นจากการถูกบังคับคดีโดยได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้และหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไปเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่า ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังสามารถประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินต่อไปรวมถึงการโอนขายที่ดินในโครงการแก่ผู้ซื้อโดยปลอดจำนองเป็นรายแปลงและมีโอกาสหาเงินผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์แม้จะได้รับดอกเบี้ยแต่ต้องแบกรับความเสี่ยงหากท้ายที่สุดจำเลยทั้งสิบไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องหาวิธีลดความเสี่ยงโดยตกลงว่าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว หากจำเลยทั้งสิบไม่อาจชำระหนี้ก็ต้องโอนทรัพย์จำนองส่วนที่เหลือจากการขายทั้งหมดแก่โจทก์ หากบังคับจำนองรายแปลงอาจจะยุ่งยากและขายไม่ได้ สัญญาประนีประนอมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบมิใช่การทำสัญญาตีใช้หนี้ที่จำเลยเพียงเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินไปชำระหนี้แก่โจทก์ หากแต่เป็นการประนีประนอมยอมความโดยแต่ละฝ่ายต่างยอมสละสิทธิบางอย่างของตนเพื่อแลกกับประโยชน์ที่จะได้มา ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างพิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มค่าและเป็นธรรม ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่กัน ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันราคาท้องตลาดทรัพย์ที่ต้องโอนชำระหนี้แก่โจทก์เพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาตลาดที่ตกลงกันไว้ก็ตาม ฝ่ายจำเลยจะกลับมาอ้างว่าต้องตีราคาใหม่ตามราคาท้องตลาดปัจจุบันเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่ทำสัญญาไว้ย่อมเป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือการใช้สิทธิบังคับชำระหนี้แต่ประการใด กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม อีกทั้งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการระงับข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ซึ่งกระทำต่อหน้าศาลและคู่ความได้ตรวจสอบแล้วไม่มีฝ่ายใดคัดค้านว่าสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาข้อหนึ่งข้อใดฝ่าฝืนต่อกฎหมายจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ว่าถูกอีกฝ่ายฉ้อฉลหลอกลวงหรือคำพิพากษาขัดต่อกฎหมายดังที่ยกขึ้นเป็นเหตุขอให้เพิกถอนการบังคับแต่ประการใด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมถึงที่สุดและผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 147หมายบังคับคดีระบุชัดเจนว่าให้จำเลยทั้งสิบปฏิบัติตามคำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสิบต้องรับผิด แม้ระหว่างปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยทั้งสิบชำระเงินบางส่วน ซึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 ก่อน เหลือเท่าใดจึงจะเป็นจำนวนหนี้ที่โจทก์สามารถบังคับคดียึดทรัพย์สินจำเลยทั้งสิบได้ การคำนวณดังกล่าวเป็นขั้นตอนของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการต่อไป และเมื่อทราบจำนวนหนี้สุทธิก็สามารถยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบโดยไม่ต้องรอให้จดทะเบียนรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนเพราะตามคำพิพากษารวมถึงสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องจดทะเบียนรับโอนทรัพย์สินส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนจึงจะบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบได้ การยื่นหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ได้ข้ามขั้นตอนกฎหมาย การออกหมายบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 329, ม. 656 วรรคสอง, ม. 656 วรรคสาม
ป.วิ.พ. ม. 145 วรรคหนึ่ง, ม. 147, ม. 238


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560
แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้
จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.อ. ม. 91, ม. 352
ป.พ.พ. ม. 206, ม. 329
ป.วิ.อ. ม. 40, ม. 43, ม. 44/1
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม. 17, ม. 25 (4)


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2560
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ย่อมระงับไปด้วยผลข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพราะโจทก์ได้รับเงินครบถ้วนแล้วนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้วเท่านั้น จำเลยยังมีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอยู่ ไม่อาจจำหน่ายคดีตามคำร้องของจำเลยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 329 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.อ. ม. 35 วรรคสอง, ม. 39 (2)
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที