Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 231 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 231 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 231” คืออะไร? 


“มาตรา 231” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 231 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “  ถ้าทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรืออยู่ในบังคับบุริมสิทธิประการอื่นนั้นเป็นทรัพย์อันได้เอาประกันภัยไว้ไซร้ ท่านว่าสิทธิจำนอง จำนำ หรือบุริมสิทธิอย่างอื่นนั้นย่อมครอบไปถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้รับประกันภัยด้วย
              ในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ หรือควรจะได้รู้ว่ามีจำนองหรือบุริมสิทธิอย่างอื่นไซร้ ท่านยังมิให้ผู้รับประกันภัยใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัย จนกว่าจะได้บอกกล่าวเจตนาเช่นนั้นไปยังผู้รับจำนอง หรือเจ้าหนี้มีบุริมสิทธิคนอื่นแล้ว และมิได้รับคำคัดค้านการที่จะใช้เงินนั้นมาภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันบอกกล่าว แต่สิทธิอย่างใด ๆ ที่ได้ไปจดทะเบียน ณ หอทะเบียนที่ดินนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นอันรู้ถึงผู้รับประกันภัย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการจำนองสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้นั้นด้วย
              ในกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรงก็ได้ เว้นแต่ตนจะได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าทรัพย์นั้นตกอยู่ในบังคับจำนำหรือบุริมสิทธิอย่างอื่น
              ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา หรือได้จัดของแทนให้
              วิธีเดียวกันนี้ท่านให้อนุโลมใช้บังคับแก่กรณีบังคับซื้อกับทั้งกรณีที่ต้องใช้ค่าเสียหายอันควรจะได้แก่เจ้าของทรัพย์สิน เพราะเหตุทรัพย์สินทำลายหรือบุบสลายนั้นด้วย“

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "การจำนำ" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 231” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 231 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2558
สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกจะมีหรือเกิดขึ้นในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ตั้งแต่เวลาที่ผู้รับประโยชน์ได้แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ขอเข้าถือเอาหรือรับประโยชน์จากสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 มิใช่เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแล้วจะทำให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ทันที และตราบใดที่ผู้รับประโยชน์ยังมิได้แสดงเจตนาเข้ารับหรือถือเอาประโยชน์จากสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังคงผูกพันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาตามปกติทั่วไป โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยได้แสดงเจตนาเพื่อรับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยครั้งแรกโดยการทวงถามให้จำเลยผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นลูกหนี้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ทรัพย์จำนองและสินค้ามันสำปะหลังได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2544 อันเป็นวันเริ่มสิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับประโยชน์ที่จะเรียกให้จำเลยผู้รับประกันภัยลูกหนี้ให้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ แต่เป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้เอาประกันภัยและจำเลยผู้รับประกันภัยได้ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยการซ่อมแซมและหาทรัพย์สินมาทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งการตกลงของผู้เอาประกันภัยกับจำเลยผู้รับประกันภัยเป็นการกระทำไปตามสัญญาประกันภัยที่ระบุว่า ให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยเลือกทำการสร้างใหม่ หรือจัดหาทรัพย์สินมาแทนทรัพย์สินที่เสียหายทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดแทนการจ่ายเงินชดใช้ก็สามารถทำได้ ซึ่งในขณะที่ตกลงกันดังกล่าวโจทก์ยังไม่ได้เข้าถือ เอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สำหรับสินค้ามันสำปะหลังเป็นกรณีจำเลยผู้รับประกันภัยจัดหามาทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัย จึงไม่เป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์ตามสัญญาประกันภัย ส่วนโกดังทรัพย์จำนองตามสัญญาจำนองซึ่งจำเลยจัดการซ่อมแซมให้ ไม่ใช่กรณีที่จำเลยผู้รับประกันภัยใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 231 จึงไม่จำต้องมีการบอกกล่าวหรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้รับจำนองก่อน

ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 231, ม. 374


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7350/2537
โจทก์บรรยายฟ้องว่า น. จดทะเบียนจำนองเรือพิพาทเป็นประกันหนี้ที่บุคคลต่าง ๆ มีต่อโจทก์ ส่วนจำเลยได้รับประกันภัยเรือพิพาทจากผู้รับโอนกรรมสิทธิ์เรือ เรือพิพาทเกิดอุบัติเหตุไม่สามารถใช้การได้ จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่ได้รับประกันภัยแก่โจทก์ แต่จำเลยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยทำให้โจทก์ไม่มีหลักประกันที่จะบังคับชำระหนี้ได้อีกต่อไปจึงขอให้บังคับเอาเงินประกันภัย เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายในเรื่องช่วงทรัพย์ ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่า บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าไร และหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ และโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาแก่บุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม สัญญาประกันภัยทางทะเลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 868 ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล แต่กฎหมายทะเลของประเทศไทยยังไม่มี ทั้งจารีตประเพณีก็ไม่ปรากฏ จึงต้องวินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ จึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษเป็นกฎหมายทั่วไปเพื่อเทียบเคียงวินิจฉัย เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความเป็นคำรับรอง(Warranty) ของผู้เอาประกันภัยว่า เรือพิพาทจะได้รับการตรวจสภาพและจะปฏิบัติตามคำแนะนำภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มคุ้มครองจึงเป็นคำมั่นสัญญาของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดตาม พระราชบัญญัติ ประกันภัยทางทะเล 1906 ของประเทศอังกฤษมาตรา 33 เมื่อเรือพิพาทเกิดอุบัติเหตุอับปางซึ่งจะเกิดจากการที่ผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามคำรับรองหรือไม่ก็ตาม การที่ผู้เอาประกันภัยฝ่าฝืนคำรับรองผู้รับประกันภัยย่อมปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 4, ม. 231 วรรคสอง, ม. 868
ป.วิ.พ. ม. 172


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2807/2537
ศ. จดทะเบียนจำนองที่ดินและตึกแถวพิพาทไว้แก่ธนาคาร ก.และได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยมีข้อความระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่าให้ธนาคาร ก. เป็นผู้รับประโยชน์และระบุด้วยว่าสัญญาย่อมระงับไป เมื่อทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัยโดยวิธีอื่นนอกจากทางพินัยกรรมหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ต่อมา ศ.ได้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองโดยโจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ก. แทน ศ.แล้วศ.ได้จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์โดยปลอดการจำนอง จึงทำให้สิทธิจำนองระงับไปและธนาคาร ก. หมดสิทธิที่จะได้รับช่วงทรัพย์ อันได้แก่สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ ศ. มีอยู่ต่อจำเลยอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 231 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยจึงกลับมาเป็นของ ศ. ตามเดิมเมื่อ ศ. โอนตึกแถวพิพาทให้โจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบเพราะไม่ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจนกระทั่งเกิดเพลิงไหม้ตึกแถว ดังนี้ โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิด้วยอำนาจกฎหมายจากธนาคาร ก. เพราะเป็นบุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์ และเอาเงินราคาค่าซื้อให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์สินเสร็จไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229(2) และไม่อาจอ้างได้ว่าสิทธิของ ศ. ตามสัญญาประกันภัยได้โอนมายังโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 875 เพราะสัญญาประกันภัยได้ระงับไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 226, ม. 231, ม. 875
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที