Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-05-30

มาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 162 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 162” คืออะไร? 


“มาตรา 162” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 162 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ ในนิติกรรมสองฝ่าย การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้ การนั้นจะเป็นกลฉ้อฉล หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น “

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่อง "นิติกรรม" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

ค้นหาคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "นิติกรรม" ได้ที่นี่ คลิกเลย !

 


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 162” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 162 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16897/2557
โจทก์เสียสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงไปเพราะถูกศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนขายเพื่อให้กลับสู่กองทรัพย์สินของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ในคดีล้มละลายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกคนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 115 (เดิม) ไม่ใช่กรณีที่โจทก์เพียงถูกก่อการรบกวนขัดสิทธิในอันที่จะครองทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยปกติสุขตาม ป.พ.พ. มาตรา 475 และ 476 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินทั้งสองแปลงหลุดไปจากโจทก์ทั้งหมดเพราะการรอนสิทธิตามมาตรา 479 ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการรอนสิทธิ... และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อเท็จจริงต้องปรากฏว่าในเวลาที่ทำสัญญาซื้อขายโจทก์รู้หรือไม่ว่าเหตุรอนสิทธินั้นมีอยู่แล้ว จากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า โจทก์โดยกรรมการของโจทก์ ก็ได้รับรู้ข่าวเกี่ยวกับแชร์น้ำมันของพันจ่าอากาศเอกหญิง น. ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงในขณะซื้อขายว่าที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 รับโอนมาโดยไม่ชอบและอาจถูกเพิกถอนได้ แต่โจทก์ก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงจนรู้ได้เองอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเสียเช่นนั้นไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าเป็นกลฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 162 จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 479
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 162, ม. 475, ม. 476, ม. 479
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 115 (เดิม)


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2544
จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เสนอขายอาคาร 5 ชั้นพร้อมที่จอดรถใต้ดิน แต่ไปยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร 4 ชั้นต่อสำนักงานเขตประเวศ ต่อมาจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับโจทก์ระบุว่าอาคารพิพาทเป็นอาคาร 5 ชั้นพร้อมรายการประกอบแบบโดยทั่วไป ซึ่งผิดไปจากแบบที่จำเลยยื่นขออนุญาตไว้ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการปิดบังมิให้โจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทไว้เพียง 4 ชั้น นอกจากนี้ จำเลยได้ทำบันทึกการขออนุญาตก่อสร้างอาคารพิพาทฯ รับทราบว่าอาคารพิพาทที่จำเลยยื่นขออนุญาตก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะสำรวจเพื่อเวนคืน แต่จำเลยยังมีความประสงค์จะก่อสร้างโดยจะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาเงินค่าทดแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทมีราคาสูงถึง 15,000,000 บาท หากโจทก์ทราบหรือแม้แต่เพียงสงสัยว่าจะมีการเวนคืน โจทก์ย่อมจะไม่ยอมทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยอย่างแน่นอน เพราะเงินค่าทดแทนที่จะได้รับจากการถูกเวนคืนนั้นไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระให้แก่จำเลย การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงเรื่องการเวนคืนที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคารเพียง 4 ชั้นล้วนแต่เป็นกลฉ้อฉลของจำเลยซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่า หากจำเลยไม่ใช้กลฉ้อฉลดังกล่าว โจทก์ก็คงจะไม่แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทกับจำเลย การแสดงเจตนาของโจทก์จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ประกอบด้วยมาตรา 162 เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะ
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 159, ม. 162
ป.วิ.พ. ม. 104


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6188/2540
จำเลยทราบดีว่าที่ดินที่จำเลยเสนอขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ระบุว่าที่ดินมีเนื้อที่ 10 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวาความจริงที่ดินมีเนื้อที่เพียง 4 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวาเท่านั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยใช้กลฉ้อฉล ลวงโจทก์ให้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยเพื่อนำไปขายต่อให้บุคคลอื่น ดังนี้จำนวนเนื้อที่ของที่ดินย่อมเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญา การที่จำเลยทราบจำนวนเนื้อที่ดินในขณะทำสัญญาว่าขาดจำนวนไปกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในสัญญาแต่กลับนิ่งเฉย เสีย ไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ กรณีถือได้ว่าเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าวสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยคงจะมิได้กระทำขึ้นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลย ดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินมัดจำได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 159, ม. 162, ม. 176, ม. 378, ม. 391, ม. 456
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที