Banner blog website.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-06-01

มาตรา 1310 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“มาตรา 1310 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1310” คืออะไร? 


“มาตรา 1310” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1310 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น ๆ แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้าง
              แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสามารถแสดงได้ว่า มิได้มีความประมาทเลินเล่อ จะบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้นและเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าการนี้จะทำไม่ได้โดยใช้เงินพอสมควรไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างซื้อที่ดินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามราคาตลาดก็ได้ “

 

อ่านบทความ : ปลูกบ้านในที่ของผู้อื่นผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง?

 

ค้นหาได้ทุกเรื่อง : "บทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมาย" >> คลิก !


3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1310” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1310 ” ในประเทศไทย


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2559
ตามหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินที่จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ระบุว่า จำเลยขายฝากเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 252 ด้วย ซึ่งต้องแปลความว่าไม่รวมบ้านไม่มีเลขที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นการขายฝากสมบูรณ์เฉพาะที่ดินเท่านั้น แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์กับจำเลยตกลงขายฝากที่ดินพร้อมบ้าน 2 หลัง คือบ้านเลขที่ 252 กับบ้านที่ไม่มีเลขที่บ้านอีก 1 หลัง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจดทะเบียนขายฝากบ้าน 2 หลัง ดังกล่าวด้วยไม่ได้เพราะต้องประเมินราคาจึงจดทะเบียนขายฝากเฉพาะที่ดิน โจทก์กับจำเลยจึงได้ทำสัญญาซื้อขายบ้าน 2 หลัง เพิ่มเติมตามที่ตกลงกันตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่สัญญาขายฝากเป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติเรื่องซื้อขายมาใช้บังคับด้วย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ เมื่อการขายฝากบ้านทั้งสองหลังไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้สัญญาขายฝากที่ดิน และสัญญาซื้อขาย ยังทำวันเดียวกันแสดงให้เห็นเจตนาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาต้องการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 อีกด้วย ดังนั้นโจทก์ไม่อาจอ้างว่าบ้านทั้งสองหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยหลักส่วนควบได้ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านทั้งสองหลัง
คู่สัญญาไม่ได้ตกลงขายฝากบ้านเลขที่ 252 ด้วย บ้านหลังดังกล่าวยังเป็นของจำเลยโดยไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน และกรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1310 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่จำเลยปลูกบ้านเลขที่ 252 ในที่ดินของโจทก์ แม้ภายหลังขายฝากจำเลยจะได้ต่อเติมบ้านหลังดังกล่าวก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยต้องรื้อบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ดินของโจทก์
ส่วนบ้านไม่มีเลขที่ ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินบ้านหลังไม่มีเลขที่บ้านยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง การที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวในที่ดินที่ขายฝากต่อไปโดยโจทก์ไม่ได้ห้ามปราม จำเลยซึ่งเป็นผู้ปลูกสร้างย่อมเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ต่อไปจนแล้วเสร็จเพราะเชื่อตามสัญญาขายฝากว่าตนมีสิทธิไถ่ที่ดินคืนได้ภายในกำหนดในสัญญา การปลูกสร้างบ้านไม่มีเลขที่บ้านของจำเลยจึงเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต แต่เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้วจำเลยไม่ไถ่คืนภายในกำหนด ที่ดินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยเด็ดขาด กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะใช้ปรับได้โดยตรง จึงต้องใช้บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง อันได้แก่ ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่จำเลยผู้สร้าง และการที่โจทก์ปล่อยให้จำเลยปลูกสร้างบ้านต่อไปในที่ดินของโจทก์โดยมิได้ห้ามปรามถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อในการสร้างโรงเรือนของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้น และต้องใช้ค่าแห่งที่ดินที่เพิ่มให้แก่จำเลย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 4 วรรคสอง, ม. 150, ม. 456 วรรคหนึ่ง, ม. 1310 วรรคหนึ่ง

 


2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8305/2551
การพิจารณาว่าบุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาในขณะที่ปลูกโรงเรือน หากขณะปลูกสร้างโรงเรือนไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต แม้ภายหลังจึงทราบว่าเป็นที่ดินของบุคคลอื่นก็หาทำให้การกระทำที่สุจริตแต่แรกกลับกลายเป็นไม่สุจริตไปแต่อย่างใด เมื่อกรณีเข้าเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 แล้ว จะต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทำให้ที่ดินของโจทก์มีค่าเพิ่มขึ้นเพียงใด โจทก์ประมาทเลินเล่อ หรือไม่ ซึ่งมิได้มีประเด็นในคดีนี้คู่ความจึงมิได้สืบพยานไว้จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโดยให้โจทก์กับจำเลยไปว่ากล่าวกันใหม่จึงชอบแล้ว
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1310


3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8305/2551
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าที่ดินทั้งแปลงเป็นของโจทก์ แต่โจทก์และจำเลยต่างเข้าใจว่าที่ดินที่จำเลยปลูกสร้างบ้านเป็นของจำเลยที่ได้รับการยกให้มาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินโจทก์ เท่ากับว่าจำเลยสร้างโรงเรือนในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 จึงให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา จำเลยไม่ฎีกา จึงต้องฟังข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาจำเลยจะยื่นคำแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยครอบครองที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหาได้ไม่ หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยจะต้องฎีกาคัดค้านขึ้นมา
การพิจารณาว่าบุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่ จะต้องพิจารณาในขณะที่ปลูกสร้างโรงเรือน หากขณะปลูกสร้างโรงเรือนไม่ทราบว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยสุจริต แม้ภายหลังจึงทราบว่าเป็นที่ดินของบุคคลอื่น ก็ไม่ทำให้การกระทำที่สุจริตแต่แรกกลับกลายเป็นไม่สุจริต
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1310
ป.วิ.พ. ม. 247
 

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
แนะนำโดย Legardy
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.
เพียงกดปุ่ม ปรึกษาได้ทันที