คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23, 229, 234, 236, 247

การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยโดยเหตุว่าอุทธรณ์ของจำเลยยื่นต่อศาลชั้นต้นโดยไม่วางเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าธรรมเนียมใช้แก่โจทก์เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา229นั้นมิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยด้วยเหตุเนื้อหาในอุทธรณ์ของจำเลยต้องห้ามอุทธรณ์อันจะเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา236และอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับการวางเงินค่าขึ้นศาลของจำเลยซึ่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ดังนี้จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้ การขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23จะมีผลผูกพันให้ผู้ขอต้องดำเนินกระบวนพิจารณาภายในกำหนดเวลาที่ขยายต่อเมื่อผู้ขอได้ทราบคำสั่งนั้นก่อนสิ้นกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแต่ในคดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมของจำเลยในครั้งที่2เมื่อวันที่18กรกฎาคม2538หลังจากวันที่17กรกฎาคม2538อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นกำหนดนัดให้จำเลยมาทราบคำสั่งและอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมให้แก่จำเลยออกไปอีก7วันนับแต่วันครบกำหนดเดิมซึ่งจะครบกำหนดในวันที่19กรกฎาคม2538จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวและศาลชั้นต้นก็มิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้แก่จำเลยทราบและตามคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมของจำเลยอ้างว่าได้ทราบคำสั่งในวันที่21กรกฎาคม2538อันเป็นเวลาภายหลังจากกำหนดระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นได้สั่งอนุญาตไปแล้วจำเลยจึงไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายและไม่ต้องผูกพันให้ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ขยายให้จึงต้องถือว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งคือวันที่21กรกฎาคม2538ระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมจึงสิ้นสุดลงวันที่28กรกฎาคม2538เมื่อจำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมต่อศาลในวันที่25กรกฎาคม2538จึงยังไม่พ้นกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 797, 900 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 183, 225

สัญญาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมนั้นคู่สัญญาคือจำเลยที่1กับโจทก์เท่านั้นจำเลยที่3ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ด้วยเพียงแต่ว่าโจทก์ได้ตกลงกับจำเลยที่1กำหนดเงื่อนไขการชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่1สั่งซื้อจากโจทก์ว่าจำเลยที่1จะชำระเป็นเช็คและกำหนดตัวผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามของจำเลยที่1ได้คือจำเลยที่2หรือที่3และเช็คที่สั่งจ่ายต้องเป็นเช็คของธนาคารที่ระบุไว้ในข้อตกลงเท่านั้นดังนั้นการที่จำเลยที่3ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คทั้ง15ฉบับตามฟ้องจำเลยที่3จึงกระทำไปในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่1เท่านั้นเมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยที่3กระทำนอกขอบอำนาจในฐานะตัวแทนของจำเลยที่1ซึ่งเป็นตัวการจำเลยที่3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จำเลยที่1ค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้นไม่มีข้อความในคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่3รับผิดตามเช็คที่จำเลยที่3เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและเมื่อมีการชี้สองสถานศาลชั้นต้นก็กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ2เพียงว่าจำเลยทั้งสามซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามฟ้องแล้วค้างชำระราคาจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าสินค้าและค่าปรับแก่โจทก์ดังฟ้องหรือไม่ดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยที่3จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา900หรือไม่จึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6115/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1722

ผู้ร้องมิใช่ภริยาชอบด้วยกฎหมายของ จ. ทั้ง จ. มิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของ จ. อันมีสิทธิที่จะรับมรดกของ จ. การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก จ. ขอโอนทรัพย์สินกองมรดกของ จ. มาเป็นของผู้ร้อง ดังนี้ประโยชน์ส่วนได้เสียของผู้ร้องย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกอยู่ในตัวผู้ร้องจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 226, 420, 880

ตามสัญญาให้บริการเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จะต้องให้บริการเป็นผู้ประสานงานส่งข้อมูลขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่ระบุไว้เพื่อขอความช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ และเมื่อปรากฏว่าเครื่องส่งสัญญาณเอส.โอ.เอส. ที่จำเลยที่ 2 ติดตั้งไว้ที่เครื่องบริการเงินด่วนของธนาคาร ท. ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ข้อมูลของจำเลยที่ 2 เนื่องจากถูกคนร้ายงัดทำลายเข้าไปในเครื่องบริการเงินด่วนแล้ว เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2ละเลยไม่แจ้งเหตุร้ายต่อไปยังสถานีตำรวจท้องที่เพื่อขอความช่วยเหลือตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติผิดสัญญาต่อธนาคาร ท. ผู้ซื้อบริการ แต่การที่จำเลยที่ 2 ละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อธนาคาร ท. คู่สัญญาเพราะการละเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาในกรณีดังกล่าวมิได้เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่น เป็นเหตุให้เขาเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยวินาศภัยในความเสียหายของเงินสดในเครื่องบริการเงินด่วน ของธนาคาร ท. ที่ถูกคนร้ายลักไป ได้ใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยไปแล้วมาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 วรรคแรก เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาว่าหากจำเลยที่ 2 ผิดสัญญา จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ธนาคาร ท. สัญญาให้บริการเป็นเพียงสัญญาให้บริการแก่ธนาคาร ท. เพื่อช่วยป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของธนาคารอีกทางหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สัญญา ที่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคาร ท.ในกรณีที่ทรัพย์สินของธนาคารถูกโจรกรรม ธนาคาร ท.คงมีสิทธิตามสัญญาข้อ 3 ที่กำหนดให้ธนาคาร ท. ได้รับการประกันตามขอบข่ายของกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท ค.ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ระบุว่า ธนาคาร ท.ผู้ใช้บริการเป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น ธนาคาร ท.จึงไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อเรียกค่าเสียหายตามจำนวนเงินที่ถูกคนร้ายลักไปได้ และโจทก์ย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของธนาคาร ท. มาฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6095

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6095/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 335 (11)

แม้จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และเพิ่งกระทำความผิดคดีนี้เป็นคดีแรกทั้งผู้เสียหายได้รับของกลางคืนหมดแล้วไม่ติดใจเอาความกับจำเลย แต่แผ่นเหล็กจำนวน6,500 แผ่น ราคา 75,000 บาท ของนายจ้างจำเลยเป็นทรัพย์จำนวนมาก การลักทรัพย์ต้องใช้รถยนต์บรรทุกขน ต้องร่วมกระทำความผิดมากกว่า 1 คน พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง แม้จำเลยจะมีภาระต้องดูแลครอบครัวตามที่จำเลยอ้าง ก็ไม่ใช่เหตุปรานีที่จะรอการลงโทษแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1361

ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น ในกรณีเจ้าของขายรถยนต์แล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสองบัญญัติถึงตัวทรัพย์สินว่าจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนการมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ย่อมเป็นการคุ้มครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าขอรวมทุกคนก่อน เป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียน และผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้องและถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ฯก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ นอกจากจะไม่ขัดต่อบทกฎหมายแล้วยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือ จดทะเบียนรถยนต์อีกด้วย ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันพิพาทขอให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นั้น จึงมีเหตุสมควรอนุญาตตามที่ขอได้

เดิมสังหาริมทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1โดยอาศัยสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของรวมประกอบกับไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าของรวมจำต้องครอบครองทรัพย์สินที่ตนมีกรรมสิทธิ์รวม โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6051

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6051/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1452, 1496 เดิม, 1495

เมื่อการสมรสระหว่างโจทก์และ ส. ผู้ตายเป็นการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐเนววาดา ประเทศสหรัฐอเมริกาและชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1459 วรรคหนึ่งแล้ว ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับ ส. สามีโจทก์ตามกฎหมายไทยอีก จึงเป็นการจดทะเบียนในขณะที่ ส.มีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยจดทะเบียนสมรสกับ ส.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 194, 655 วรรคหนึ่ง

การตกลงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ที่ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้นำดอกเบี้ยที่ผู้กู้ค้างชำระไม่น้อยกว่า1ปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา655วรรคหนึ่งบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหาได้บัญญัติว่าข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นดังกล่าวจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้กู้กับผู้ให้กู้ไม่ดังนั้นหากข้อตกลงได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ฝ่ายเดียวย่อมมีผลใช้บังคับได้ไม่จำต้องให้ผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อด้วย ตามหนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองมีข้อตกลงว่าผู้จำนองยินยอมจะเอาประกันอัคคีภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้ให้ผู้รับจำนองเป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยโดยผู้จำนองยินยอมเสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเองถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันภัยอัคคีภัยดังกล่าวและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยเองผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบถ้วนภายใน1เดือนนับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบจากข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยจะรับผิดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยไปหากโจทก์ยังไม่ได้ชำระก็ยังไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระคืนแก่โจทก์นอกจากนี้เบี้ยประกันภัยที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระนั้นเป็นเบี้ยประกันในอนาคตที่จำเลยยังไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระและยังไม่ทราบจำนวนเบี้ยประกันภัยที่แน่นอนและมิได้ระบุจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ขอให้จำเลยชำระจึงไม่ทราบว่าจำเลยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยไปจำนวนเท่าใดจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6112

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6112/2540

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คธนาคาร ก. จำนวน4 ฉบับ เพื่อชำระหนี้การกู้ยืมเงินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและการบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คฯลฯ ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพากษาชำระหนี้ให้โจทก์ร่วม โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยมีตราของบริษัท ซ. ประทับอยู่ด้วยนั้น ไม่ว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท ซ. จำเลยก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัทและเมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินก็ถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับบริษัท ซ. ออกเช็คพิพาท ดังนี้โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวได้ โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันกระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6111

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6111/2540

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 7, 302 วรรคหนึ่ง

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้นให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302(3)(4)" และ มาตรา 302 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์กล่าวถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและผิดสัญญาที่จำเลยตกลงหรือสัญญาว่าจะเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิการเช่าตึก 7 ชั้นคืนให้แก่โจทก์นั้น มิได้แยกต่างหากจากสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลแพ่งได้พิพากษาตามยอมแล้ว หากแต่เป็นการยอมรับภาระในหนี้ค่าธรรมเนียมการโอนสิทธิการเช่าโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องผ่อนชำระหนี้ให้ครบจำนวนหนี้ตามข้อ 1แห่งสัญญาประนีประนอมยอมความจึงจำเป็นต้องพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมด้วยว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วหรือไม่ กรณีเช่นนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่ง และคำฟ้องนี้จำต้องให้ศาลแพ่งวินิจฉัยเสียก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง ดังนั้น โจทก์จึงต้องเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีหรือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นคือศาลแพ่ง

« »
ติดต่อเราทาง LINE