คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3632/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499มาตรา 42 (1) นั้น จะต้องทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอม บัญชี-เอกสาร หรือหลักประกันของธนาคารโจทก์ร่วมด้วย แต่การที่จำเลยไม่จัดให้มีหลัก-ประกันคุ้มกับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยปกปิดไม่ขออนุมัติโจทก์ร่วมและปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่จัดให้มีการจดแจ้งการรับอาวัลลงในสมุดทะเบียนไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัล ไม่ใช่เป็นการทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลงตัดทอน หรือปลอม บัญชีเอกสาร หรือหลักประกันของโจทก์ร่วม จำเลยเป็นผู้จัดการของธนาคารโจทก์ร่วมสาขานนทบุรี มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและดำเนินธุรกิจของโจทก์ร่วมสาขานนทบุรี จำเลยจึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบริษัทจำกัดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดฯ พ.ศ.2499 มาตรา42 (2) สมุดทะเบียนหนังสือค้ำประกัน สมุดบัญชีภาระในการรับรองตั๋วเงินของโจทก์ร่วมเป็นเอกสารบัญชีหรือเอกสารของบริษัทตามที่กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมสาขานนทบุรี มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและดำเนินธุรกิจในสาขานนทบุรีทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการสั่งให้พนักงานลงบัญชีหรือเรียกบัญชีมาตรวจสอบด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ลงบัญชีด้วย การที่จำเลยลงชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่มีหลักประกัน ไม่ขออนุมัติจากโจทก์ร่วมสำนักงานใหญ่ตามระเบียบ ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัล และไม่ลงบัญชีเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการละเว้นไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีโดยมีเจตนาเพื่อลวงให้โจทก์ร่วมขาดประโยชน์อันควรได้ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ มาตรา 42(2) ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 21, 70, 72
โจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยทั้งสองครอบครองอาคารเพื่อพานิชกรรมและจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรมดังกล่าวซึ่งครบองค์ประกอบความผิด มาตรา 21 ประกอบมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยมาตรา 70 ระบุถึงกรณีกระทำการดัดแปลงอาคารเพื่อพาณิชยกรรม มิใช่ดัดแปลงอาคารโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อพาณิชยกรรม จึงหาจำต้องบรรยายว่าจำเลยทั้งสองดัดแปลงอาคารโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อพาณิชยกรรมไม่ และที่โจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดก็เข้าใจได้ในตัวเองแล้วไม่จำต้องบรรยายในรายละเอียดอีกว่าร่วมกันกระทำโดยตลอดหรือแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร โจทก์ไม่จำต้องอ้างมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯเพราะมิใช่มาตราที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นใดเป็นความผิด ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)(6)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 40 (8), 48 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ม. 29 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ม. 8 (5), 4 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรฯ
ปัญหาว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรตามประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 แล้วทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่จำเลยที่ 1หรือไม่นั้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพื่อเพิ่มเติมปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นประเด็นในศาลภาษีอากรกลางแม้ศาลภาษีอากรกลางได้ยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ไปแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539กระทรวงการคลังได้มีประกาศ เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากรเพื่อให้โอกาสผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรให้ถูกต้องตามแบบชำระภาษีอากรที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และโจทก์ได้ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวแล้ว คดีจึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในคดีนี้ต่อจำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะเป็นปัญหาที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้ยกเป็นประเด็นขึ้นวินิจฉัยมาก่อนก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการ ชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 2 นั้น ผู้ยื่นขอ ชำระภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลังจะได้รับผลประโยชน์โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเฉพาะภาษีอากรส่วนที่ชำระหรือนำส่งนั้นเท่านั้นแต่ในกรณีของโจทก์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับการประเมินภาษีในปี 2528(ครึ่งปี) และปี 2529(ครึ่งปี) และสำหรับปี 2529 คงเรียกเก็บเบี้ยปรับร้อยละ50 ส่วนเงินเพิ่มเป็นไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์จึงเป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากภาษีอากรที่โจทก์ยังคงยื่นเสียไว้ไม่ครบถ้วนจากการที่โจทก์ยื่นขอชำระภาษีไว้ดังกล่าวแล้วหาใช่เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีอากรส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวไม่ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8(5) ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2520 มาตรา 4 การประกอบกิจการของโจทก์ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70แต่ถ้าโจทก์แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นมีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดดังกล่าว ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)เงินได้พึงประเมินของโจทก์เป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมาย เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายแล้วจึงเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 ดังนั้น การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้ต้องเริ่มมาจากเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อน แล้วจึงนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายมาหักออก มิใช่คำนวณมาจากกำไรสุทธิ สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายที่กฎหมายกำหนดไว้มาหัก แต่จะหักตามความจำเป็นและสมควร โจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ การที่โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์มีกำไรจากการประกอบกิจการร้อยละ 10 นั้น ไม่เพียงพอจะถือว่ากำไรร้อยละ 10 ของโจทก์นั้นเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณเสียภาษี เมื่อโจทก์ไม่นำหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์จะต้องมีรายจ่ายที่จะหักได้ตามกฎหมาย เป็นอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด โจทก์ต้องการให้หักค่าใช้จ่ายอีกเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาหักค่าใช้จ่ายให้เท่าที่ตรวจพบจึงเป็นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 77/1 (10), 81 (1), 81 (3), 81/3, 87, 89/10
โจทก์ได้ทำสัญญาให้บริการจัดหาศูนย์ฝึกอบรมด้านความปลอดภัยให้แก่บริษัทท. ตามบันทึกช่วยจำซึ่งแม้ตามข้อ 3.1 จะมีข้อความระบุว่า "ระยะเวลาของข้อตกลงนี้สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการผ่อนชำระค่าก่อสร้างและส่วนของการเช่าที่ดินในเวลา 4 ปี" ซึ่งทำให้เห็นว่าโจทก์ได้รับเงินในวันทำบันทึกช่วยจำในส่วนค่าก่อสร้าง อาคารก็จริง แต่เมื่อนำมาพิจารณาประกอบข้อความ ที่ระบุไว้ในบันทึกช่วยจำข้อ 3.2 วรรคสุดท้าย ที่ว่า "หลังจากผ่อนชำระค่าก่อสร้างครบ 4 ปี แล้ว ค่าเช่าจะเปลี่ยนเป็น 50,000 บาท ต่อเดือน และค่าเช่านี้จะปรับเพิ่ม 5% ทุก ๆ 12 เดือน" แล้วจะเห็นได้ว่าหลังจากก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมลงบนที่ดินที่ได้ทำการเช่า จากโจทก์เสร็จแล้ว ตัวอาคารศูนย์ฝึกอบรมที่โจทก์ทำการก่อสร้างก็มิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทท. แต่อย่างใดเพราะบริษัทดังกล่าวยังต้องเช่าจากโจทก์อยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้จากที่บริษัทดังกล่าวต้องเสียค่าเช่าอาคารศูนย์ฝึกอบรมที่โจทก์สร้างเสร็จพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มทุกปีลักษณะเช่นนี้จึงเห็นได้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าที่ดินและอาคารศูนย์ฝึกอบรมโดยบริษัทดังกล่าวต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารดังกล่าวเงินช่วยค่าก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า เมื่อคำว่า "บริการ" ประมวลรัษฎากรมาตรา 77/1(10) ให้หมายความถึงการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า การให้เช่าทรัพย์สินจึงถือเป็นการให้บริการอย่างหนึ่ง แต่เป็นการให้บริการที่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 81(1)(ต)ได้บัญญัติให้ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นกิจการที่ไม่มีสิทธิขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 81/3 ฉะนั้นโจทก์จึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินค่าบริการที่โจทก์ได้รับตามบันทึกช่วยจำที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัทท.และทำให้โจทก์ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีขายเงินค่าก่อสร้าง ตามใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในกิจการหลายประเภทได้แก่ การซ่อมแซมสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจและบริการส่วนบุคคลอื่น ๆแต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าภาษีขายที่โจทก์ลงรายงานไม่ทัน ภายใน 3 วันทำการนั้นเป็นภาษีขายของค่าบริการที่โจทก์ ได้รับตามบันทึกช่วยจำ ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งตามบัญชีรายงานภาษีขายของเดือนเมษายน 2537 ก็ไม่ปรากฏว่าภาษีขายดังกล่าวเป็นภาษีขายของค่าบริการที่โจทก์ได้รับตามบันทึกช่วยจำดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าภาษีขายที่โจทก์ลงรายงานไม่ทันภายใน 3 วันทำการเป็นภาษีขายของค่าบริการที่โจทก์ได้รับตามบันทึกช่วยจำดังกล่าว แต่ฟังได้ว่าเป็นภาษีขายของค่าบริการอื่นซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น โจทก์จึงมีหน้าที่ลงรายงานภาษีขายภายใน 3 วันทำการ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ที่โจทก์นำสืบถึงเหตุที่ลงรายงานภาษีขายดังกล่าวไม่ทันภายใน 3 วันทำการ ว่าเป็นเพราะพนักงานที่มีหน้าที่ลงรายงาน มีเพียงคนเดียว แต่ลาป่วยเป็นเวลา 5 วัน ไม่อาจลงรายการได้ จึงลงรายการต่อท้ายภายในเดือนเมษายน 2537 นั้น ไม่ถือเป็นข้อแก้ตัวให้โจทก์พ้นความรับผิดที่จะต้องเสีย เบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(10) เพราะเป็น เรื่องการบริหารงานภายในของโจทก์เอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3611/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 222, 420, 438, 537, 564 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 249
แม้สัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาจะมีผลผูกพันคู่สัญญาโดยไม่จำต้องมีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่ก็มีผลผูกพันคู่สัญญาตามระยะเวลาที่ตกลงกันเท่านั้น
คดีนี้เป็นเรื่องการเช่ามีกำหนดระยะเวลาเช่า ครบกำหนดและต่อสัญญากันมาถึงสามครั้งแล้ว และครั้งพิพาทเป็นครั้งที่สี่ ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาเช่าเพียงสองปี เมื่อครบกำหนดแล้ว โจทก์ไม่ต่อสัญญาให้อีก จำเลยที่ 1 ไม่ซ่อมแซมอาคารพิพาทในสภาพเรียบร้อยแล้วออกไปจากสถานที่เช่า ย่อมทำให้โจทก์เสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติ และที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับอัตราค่าเช่าที่จำเลยที่ 1 เช่าคลังสินค้าพิพาทอยู่โดยอาศัยสัญญาเช่าที่โจทก์และจำเลยที่ 1มีต่อกัน กรณีไม่จำต้องฟังพยานบุคคลมาสนับสนุนให้ชัดแจ้งเพราะอัตราค่าเช่าตามสัญญาทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างตกลงกันไว้ในขณะทำสัญญาแล้ว ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 ได้ส่งชำระค่าเช่าต่อมาโดยตลอดในระหว่างการพิจารณาของศาลนั้นเป็นปัญหาที่ต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
การเช่ามีกำหนดระยะเวลาเช่า ครบกำหนดแล้วจำเลยผู้เช่าไม่ยอมออกไปจากที่เช่า และโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายเป็นค่าเช่าอาคารคลังสินค้าพิพาทตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองอยู่ซึ่งศาลกำหนดให้แล้วดังนี้ ค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้พื้นที่อื่นที่เกี่ยวข้องในการให้เช่าวางตู้สินค้าเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนกัน จึงไม่กำหนดให้อีก
ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนแทนโจทก์ ระหว่างจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองคลังสินค้าโจทก์มาโดยตลอด ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไปในชั้นบังคับคดีศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177, 180
คดีแพ่งที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 และ 1718 มีประเด็นข้อสำคัญในคดีว่า ผู้ร้องคือจำเลยในคดีนี้เป็นทายาทหรือมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ มีเหตุจะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ และผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายดังนั้น การที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเกี่ยวกับจำนวนทายาท การให้ความยินยอมของทายาทและแสดงพยานหลักฐานบัญชีเครือญาติไม่ตรงต่อความจริง แม้จะเป็นความเท็จก็มิใช่เป็นข้อสำคัญในคดีอันอาจทำให้ผลของคดีร้องขอจัดการมรดกเปลี่ยนแปลงไป การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3604/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 131, 177, 240
เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การได้ ถ้าข้ออ้างตามฟ้องแย้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้ว ศาลย่อมจะต้องรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 178 แล้วย่อมเกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะนำไปสู่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่ความแพ้หรือชนะกัน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2)และมาตรา 133 บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว โจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นต่อไปได้ ตามมาตรา 223 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจหน้าที่จะต้องชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยร่วมที่ 2 ตามประเด็นแห่งคดีที่คู่ความได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ดังที่มาตรา 131(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ มาตรา 240 บัญญัติไว้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกต้อง แต่ไม่วินิจฉัยในประเด็นข้ออุทธรณ์ของจำเลยร่วมที่ 2 โดยอ้างว่า เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ ทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 2 ต้องตกไป จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ เพราะไม่เข้ากรณีที่ศาลจะไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้นตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 บัญญัติไว้และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เช่นนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3596/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142 (5), 177 วรรคสาม, 246, 247 พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ม. 31 (1), 34, 35, 54, 56, 67
คดีนี้โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทและแจ้งให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยไม่ออกไป โจทก์ก็ฟ้องคดีทันที ส่วนจำเลยเมื่อถูกโจทก์ฟ้องขับไล่ก็ฟ้องแย้งขอซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ทันทีเช่นกัน โดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 กำหนดไว้ ตามมาตรา 34,35,54,56 เมื่อ คชก. ตำบลท่าเสา และ คชก. จังหวัดสมุทรสาครยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวของโจทก์ จำเลย การฟ้องคดีของโจทก์ก็ดี การฟ้องแย้งของจำเลยก็ดีเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 57 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งขอซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246 และ 247
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่นา โจทก์ไม่อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ โจทก์ยกขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ กรณีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192 พระราชบัญญัติป่าไม้ ม. 74 ทวิ
แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องและระบุอ้างความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 74 ทวิ มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม แต่ในส่วนคำขอท้ายฟ้องนั้น โจทก์ระบุไว้เพียงว่าขอให้ริบเฉพาะไม้แปรรูปของกลาง โจทก์หาได้ขอให้ริบเครื่องมือเครื่องใช้ในการแปรรูปไม้ของกลางทั้งหมดมาโดยชัดแจ้งไม่ ดังนั้น ศาลจึงริบได้เฉพาะไม้แปรรูปของกลางตามคำขอท้ายฟ้องเท่านั้น ส่วนของกลางอื่นนอกจากนี้ศาลไม่อาจริบได้เพราะจะเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคหนึ่ง
แม้เครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 74 ทวิ จะเป็นทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติให้ริบโดยเด็ดขาด แต่โจทก์ก็ต้องมีคำขอให้ริบมาด้วย มิฉะนั้นศาลก็ไม่อาจสั่งให้ริบของกลางได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 159, 1656, 1705, 1719 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 172, 249
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทระบุสถานที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงความจริง วัน เดือน ปี ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นที่น่าสงสัยทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยพยานมิได้อยู่ในขณะนั้น การทำพินัยกรรมจึงขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 จำเลยมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอันเป็นข้อเท็จจริง แม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกปัญหาว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ต่อมาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่และได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ ผู้ตายเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรมส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริง และวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตามวันเดือนปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อแม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม และการลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามฟ้อง โจทก์มิได้ฟ้องผู้รับจำนองเข้ามาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เป็นการไม่ชอบ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล แม้จำเลยจะโอนที่ดินเป็นของตนแล้วนำไปจำนองกับบุคคลภายนอกเป็นการโอนตามพินัยกรรมที่จำเลยเข้าใจว่าสมบูรณ์และไม่ปรากฏว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องในการเป็นผู้จัดการมรดกหรือมีเหตุอันจะให้เพิกถอนผู้จัดการมรดกดังนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิจัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย