คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5, 1382, 1686 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (7), 292 (2) พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2459 ม. 8
ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้ช่วยกันออกเงินซื้อที่ดินโดยให้ล.เป็นผู้จัดการขณะร่วมกันออกเงินซื้อที่พิพาทซึ่งยังไม่มีใบสำคัญสำหรับที่ดินเพื่อทำเป็นป่าช้าฝังศพโดยตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าและให้ล. เป็นทรัสตีต่อมาล.ได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าอันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดินฉบับที่2พ.ศ.2459มาตรา8การตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1686แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้ ลักษณะของป่าช้าจีนบ้าบ๋าไม่ใช่สถานีที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือกลุ่มพวกพ้องของล. เท่านั้นแต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมากโดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใครถือได้ว่าทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายอันเป็นประโยชน์ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วไปลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือทรัสต์มหาชนจึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเองดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไปแม้ต่อมาล. ได้ถึงแก่กรรมที่ประเทศสิงคโปร์แล้วก็ตามแต่ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าก็ไม่ได้เลิกหรือสิ้นสภาพไปผู้มีส่วนได้เสียของทรัสต์ดังกล่าวหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนได้ แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของล. คนในบังคับอังกฤษผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตามแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่าที่พิพาทเป็นของล. ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของล. ดังที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอทั้งตามลักษณะที่พิพาทในขณะนั้นก็ยังเป็นป่าช้าฝังศพของชาวจีนอยู่และที่พิพาทส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพก่อปูนซีเมนต์มีรูปแบบเป็นฮวงซุ้ยของชาวจีนทั่วไปจากสภาพของป่าช้าดังกล่าวย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าไปยึดถือเพื่อตนทั้งตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพเนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทอย่างเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้างการดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา5ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3147/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 172
จ. บิดาโจทก์ได้ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจากล.ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นเงิน125,000บาทแต่ชำระราคากันไว้เพียง25,000บาทยังไม่ครบถ้วนราคาที่ดินและมีข้อตกลงในสัญญาด้วยว่าล. จะไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บิดาโจทก์เมื่อล. กลับจากต่างประเทศและให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบเขตที่ดินเสียก่อนด้วยข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นลักษณะสัญญาจะซื้อขายไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแม้ล. จะมอบที่ดินพิพาทให้บิดาโจทก์ครอบครองและบิดาโจทก์ได้มอบให้โจทก์ครอบครองแทนต่อมาก็ตามกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของล. การที่บิดาโจทก์และโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนล.ดังนี้การร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของอ. และจำเลยที่4ต่อศาลชั้นต้นก็ดีการกระทำของอ. กับจำเลยที่4ดังกล่าวรวมทั้งที่จำเลยที่2ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งจำเลยที่3เป็นผู้จัดการมรดกของอ. จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของอ. กับจำเลยที่4และมีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยที่3เป็นผู้จัดการมรดกของอ. ก็ดีจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่2ที่3และที่4 ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทั้งไม่ได้ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเพียงว่าขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่1ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์และรับเงินราคาที่โจทก์วางไว้ต่อสำนักงานวางทรัพย์ตลอดจนสอบแนวเขตที่ดินแก่โจทก์ด้วยเห็นได้ชัดแจ้งว่าโจทก์มุ่งประสงค์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่1ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่ดินโดยตรงโดยมิได้มีเจตนากล่าวถึงเรื่องการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ศาลจึงวินิจฉัยประเด็นที่ว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382ให้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 83, 90 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ม. 13 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและเพื่อขาย การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ในบ้านเกิดเหตุพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางโดยที่ก่อนจำเลยทั้งสามจะถูกจับ จำเลยทั้งสามได้ถือถุงออกจากรถยนต์เก๋งคันสีแดงเข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ซึ่งในการตรวจค้นและยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง พบเมทแอมเฟตามีนวางอยู่บนโต๊ะรวม 2 กอง โดยมีถุงวางอยู่ 1 ใบ เมื่อตรวจค้นลิ้นชักด้านขวาของโต๊ะ ก็พบถุงผ้า ในถุงผ้ามีเงินสดจำนวน 360,000 บาท และซองใส่เอกสารสีน้ำตาลซึ่งภายในมีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกสีเหลืองจำนวน27 ถุง เมื่อรวมกับบนโต๊ะแล้วมีทั้งหมด 28 ถุง จำนวน 5,600 เม็ด พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มากับจำเลยที่ 1 และรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟ-ตามีนจำนวนดังกล่าว และถูกจับพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนของกลางฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและเพื่อขาย กับสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตาม พ.ร.บ.ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 89 กับมาตรา 62วรรคหนึ่ง และ 106 ทวิ มีระวางโทษเท่ากันคือจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10กำหนดระวางโทษไว้สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ดังนี้เมื่อความผิดตามมาตรา 8และ 10 ดังกล่าวประกอบ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 89 บทหนึ่ง กับประกอบมาตรา 62 วรรคหนึ่งและ 106 ทวิ อีกบทหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกัน จึงต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งกฎหมาย 2 บทดังกล่าวมีโทษเท่ากัน จึงลงโทษตามกฎหมายบทใดบทหนึ่งก็ได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 106 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534มาตรา 8 และ 10 ประกอบ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 89 บทหนึ่ง กับประกอบมาตรา 62วรรคหนึ่ง และ 106 ทวิ อีกบทหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ.มาตรา 90 ซึ่งกฎหมาย 2 บท ดังกล่าวมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420, 569, 1336
แม้เดิมอ. จะเป็นผู้ปลูกสร้างตึกแถวพิพาทลงบนที่ดินพิพาทของตนเองโดยชอบก็ตามแต่ต่อมาอ. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และทำพินัยกรรมยกตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่1กรณีจึงเป็นเรื่องตึกแถวพิพาทของจำเลยที่1ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทของโจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยที่1โดยยอมให้จำเลยที่1มีสิทธิเป็นเจ้าของตึกพิพาทซึ่งได้ก่อสร้างบนที่ดินดังกล่าวมาแต่เดิมแต่อย่างใดดังนั้นหากต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ตึกแถวพิพาทตั้งอยู่บนที่ดินของโจทก์อีกต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยที่1รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกไปแล้วแต่จำเลยที่1เพิกเฉยย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของตนได้โจทก์ย่อมมีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1336ที่จะขอให้บังคับจำเลยที่1รื้อถอนตึกแถวพิพาทออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้ เดิมจำเลยที่2ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับอ. ต่อมาอ. ทำพินัยกรรมยกตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่1เมื่ออ.ถึงแก่กรรมตึกแถวพิพาทตกเป็นของจำเลยที่1ซึ่งรับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทของจำเลยที่2มาจากอ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา569วรรคสองการอยู่ในตึกแถวพิพาทของจำเลยที่2จึงเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าเมื่อสัญญาเช่าหมดอายุแล้วและโจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทได้บอกกล่าวให้จำเลยที่1รื้อถอนตึกแถวพิพาทและได้บอกกล่าวให้จำเลยที่2ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้วแต่จำเลยที่2เพิกเฉยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาโดยอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ย่อมเป็นการอยู่โดยละเมิดถือได้ว่าจำเลยที่2มีฐานะเป็นบริวารของจำเลยที่1โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่2ออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่2ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกับจำเลยที่1ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713 ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ประเด็นแห่งคดีมีเพียงว่า มีเหตุที่จะแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ และจำเลยเป็นบุคคลต้องห้ามในการที่จะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ดังนั้นแม้จำเลยเบิกความในคดีแพ่งดังกล่าวว่า เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ตาม คำเบิกความดังกล่าวก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีนั้นแต่อย่างใดไม่เพราะสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทในการที่จะรับมรดกยังมีอยู่ แม้เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้วก็ตาม หากจำเลยละเลยหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ จำเลยย่อมถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ โจทก์ยังคงมีสิทธิรับมรดกอยู่เช่นเดิม คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดฐานเบิกความเท็จ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3086/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 472 วรรคแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 46, 84, 93, 172
ขณะที่โจทก์ตกลงขายสินค้าให้จำเลยโจทก์ทราบถึงความประสงค์ของจำเลยอยู่แล้วว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์เพื่อนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศเมื่อทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องเพราะสีของผ้าตกซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากการนำสีที่ไม่มีคุณภาพมาใช้ในการผลิตทำให้สินค้านั้นเสื่อมราคาผู้ซื้อในต่างประเทศปฏิเสธไม่ยอมรับซื้อสินค้านั้นจนจำเลยจำต้องลดราคาให้ผู้ซื้อจึงยอมรับซื้อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา472วรรคแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา46วรรคสามมิได้บัญญัติให้คู่ความที่อ้างอิงเอกสารที่ได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศส่งสำเนาคำแปลให้คู่ความฝ่ายอื่นเมื่อจำเลยได้ทำคำแปลภาษาต่างประเทศโดยมีคำรับรองมายื่นต่อศาลชั้นต้นเพื่อแนบไว้กับเอกสารเหล่านั้นแล้วศาลก็ชอบที่จะรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ โจทก์ได้กล่าวไว้โดยแจ้งชัดในคำฟ้องว่าโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดจากจำเลยในอัตราที่ตกลงกันไว้คือร้อยละ15ต่อปีจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธในข้อนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันว่าจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ15ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 696/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32, 91 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 192, 212 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยมีเจตนาที่จะมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองมีความผิดมาตั้งแต่เริ่มครอบครองเป็นกรรมหนึ่งและมีเจตนาที่จะพกอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะโดยผิดกฎหมายก็เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งจึงเป็นความผิดสองกรรม อาวุธปืนซึ่งไม่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับและเครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา32แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาเรื่องของกลางก็ตามแต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบของกลางมาแล้วทั้งมิใช่กรณีเพิ่มเติมโทษจำเลยก็ชอบที่จะวินิจฉัยในเรื่องของกลางด้วยศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ริบของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3085/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1719 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 197, 225 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่คู่ความจะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งนอกจากจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยแล้วต้องเป็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นด้วยและกรณีที่จะถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นนั้นต้องได้ความว่าคู่ความได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นขึ้นกล่าวอ้างเป็นประเด็นแห่งคดีมาในคำฟ้องหรือคำให้การและศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตรงตามประเด็นดังกล่าวนั้นด้วย กรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโจทก์ทั้งสองก็มิได้บรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายต่างๆดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ไว้ในคำฟ้องดังนี้แม้ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์มาโจทก์ทั้งสองและจำเลยจะได้แถลงรับกันตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาก็ตามก็ถือมิได้ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเป็นประเด็นในคดีทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นด้วยข้ออุทธรณ์ของจำเลยจึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว คำฟ้องโจทก์บรรยายว่าเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลชั้นต้นจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยเช่นนี้เห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อจัดการมรดกของผู้ตายเมื่อจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแต่จำเลยเพิกเฉยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองในการจัดการทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทโจทก์มีอำนาจฟ้องแม้จำเลยอ้างว่ายังมีข้อโต้แย้งว่าผู้ใดจะเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายบ้างก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดกเสียไป โจทก์ฟ้องให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทอ้างว่าเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเมื่อโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อจัดการมรดกการรวบรวมทรัพย์มรดกก็ดีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก็ดีล้วนแต่เป็นการจัดการมรดกทั้งสิ้นแม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อนำไปรวบรวมดำเนินการแก่ทายาทก็มีความหมายให้โจทก์รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทนั่นเองการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทก็เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องดังนี้ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษานอกคำฟ้องแต่อย่างใด คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขดำที่6258/2538ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นฐานยักยอกแม้คดีนี้กับคดีอาญาดังกล่าวโจทก์กับจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกันแต่คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทส่วนคดีอาญาดังกล่าวโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นฐานยักยอกโฉนดที่ดินพิพาทประเด็นในคดีแพ่งและคดีอาญามิได้เป็นประเด็นอย่างเดียวกันไม่ว่าข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะฟังว่าจำเลยจะมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ก็ตามแต่ในคดีแพ่งจำเลยเป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทก็ต้องส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกดังนั้นคดีนี้กับคดีอาญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการพิพากษาคดีนี้ไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 46
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46ที่บัญญัติว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญานั้นหมายถึงข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและศาลต้องฟังยุติมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่ใช่ประเด็นปลีกย่อยสำหรับคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่2ได้บุกรุกเข้าไปปลูกสร้างเรือนในที่ดินพิพาทสำหรับคดีแพ่งคดีนี้ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามได้เพียงว่าจำเลยที่2ได้บุกรุกที่ดินพิพาทจริงส่วนปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยที่2บุกรุกเนื้อที่เท่าไรเป็นไปตามคำพิพากษาคดีอาญาหรือตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้เป็นเพียงข้อปลีกย่อยในรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันอีกในชั้นพิจารณาซึ่งโจทก์โจทก์ร่วมและจำเลยที่2จะต้องสืบพยานในประเด็นนี้กันต่อไปอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3071/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 321 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 271, 292 (3), 295
หลังจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยแล้วต่อมาศ. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่ถูกยึดกับฝ่ายจำเลยโดยศ. ได้ขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินจากธนาคารน. และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วธนาคารน.จึงได้ออกแคชเชียร์เช็คจำนวน6,200,945.44บาทเพื่อให้ศ. ใช้ชำระค่าซื้อที่ดินต่อมาได้มีการมอบแคชเชียร์เช็คดังกล่าวแก่โจทก์และโจทก์ได้ขอถอนการยึดทรัพย์ที่ดินของฝ่ายจำเลยเพื่อจะได้จดทะเบียนโอนขายแก่ศ. และจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคารน. ต่อไปและเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตแล้วก็ตามแต่การที่โจทก์ศ. และธนาคารน.ตกลงให้โจทก์ถือแคชเชียร์เช็คดังกล่าวไว้เป็นประกันในการที่ยอมถอนการยึดทรัพย์ที่ดินให้เท่านั้นหากต่อมาตกลงซื้อขายกันไม่ได้โจทก์ย่อมคืนแคชเชียร์เช็คให้แก่ธนาคารน. ได้การที่ศ. จะชำระค่าที่ดินโดยแคชเชียร์เช็คดังกล่าวก็เพื่อให้จำเลยที่2จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ศ. ในคราวเดียวภายในวันเดียวกันเพียงแต่ต้องมอบแคชเชียร์เช็คให้โจทก์ก่อนเพื่อให้ขั้นตอนการถอนการยึดทรัพย์ซึ่งต้องกระทำก่อนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กระทำได้สำเร็จโดยศ. มีเจตนาจะชำระเงินค่าที่ดินตามแคชเชียร์เช็คนั้นให้แก่จำเลยที่2เป็นค่าซื้อที่ดินโดยเงื่อนไขว่าต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ศ.ได้ในวันเดียวกันนั้นเมื่อจำเลยที่2ยังไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ศ. ได้จำเลยที่2จึงยังไม่มีสิทธิได้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คนั้นเป็นการชำระค่าที่ดินและการมอบแคชเชียร์เช็คให้โจทก์ยึดถือไว้เช่นนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์แล้วโจทก์ย่อมจะคืนแคชเชียร์เช็คแก่ธนาคารน. ตามข้อตกลงได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยและโจทก์มีสิทธิบังคับคดีจำเลยต่อไปได้