คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 21 (4), 86
คำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งถอนการบังคับคดีได้แนบเอกสารต่างๆที่โจทก์ได้ติดต่อดำเนินการต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดสวรรคโลกในการขายทอดตลาดแทนหลายครั้งตลอดมาโดยมีจ่าศาลจังหวัดสวรรคโลกรับรองสำเนาถูกต้องและในวันนัดไต่สวนคำร้องศาลได้สอบถามทนายโจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีกรมบังคับคดีแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงว่าเหตุที่ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนการบังคับคดีเนื่องจากไม่ได้รับเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีดังกล่าวจากศาลจังหวัดสวรรคโลกศาลชั้นต้นได้บันทึกข้อเท็จจริงที่ได้ความตามที่สอบถามไว้ซึ่งพยานหลักฐานที่ได้ดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆในการบังคับคดีสมบูรณ์เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนต่อไปและการที่ศาลได้สอบถามข้อเท็จจริงจนได้ความดังกล่าวมาถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้วฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการบังคับคดีโดยไม่ไต่สวนคำร้องของโจทก์ต่อไปจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3673/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 120 เดิม, 157, 587
การที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลก็โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของบุคลากรในบริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นสำคัญ ขณะที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งการที่จำเลยทำสัญญากับโจทก์ที่ 1 เนื่องจากเชื่อในความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 1 และเป็นผู้ที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยตามสัญญา โจทก์ทั้งสองได้แจ้งประวัติของโจทก์ที่ 2ให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยทราบและจำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ที่ 1 เพราะเชื่อในความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่มีการศึกษาระดับ O(โอ) จากวิทยาลัยว่ายานฮ่องกง จี.ซี.อี.มีความรู้ด้านภาษาเซี่ยงไฮ้จีนกลาง กวางตุ้ง และภาษาอังกฤษ มีประสบการณ์ด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นผู้จัดการโรงแรมอายุน้อยที่สุดของฮ่องกง เมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่เคยแจ้งหรืออ้างว่ามีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมเลย ดังนั้นจำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่าการที่จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1เกิดจากความสำคัญผิดในคุณสมบัติของโจทก์ที่ 2 ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม สัญญาจ้างจึงสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆียะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 120(เดิม)(มาตรา 157ที่แก้ไขใหม่) ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ยังมิได้รับอนุญาตจากกรมแรงงานให้ทำงานในประเทศไทย มิใช่คุณสมบัติซึ่งปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจอ้างเป็นเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆียะได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาจ้างดังกล่าว และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสองแต่จำเลยต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3672/2540
พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 41, 42
จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ร่วมไม่จัดให้มีหลักประกันคุ้มกับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยปกปิดไม่ขออนุมัติโจทก์ร่วมและปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่จัดให้มีการจดแจ้งการรับอาวัลลงในสมุดทะเบียนไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัล ไม่ใช่เป็นการทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลงตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสารหรือหลักประกันของโจทก์ร่วม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(1)
สมุดทะเบียนหนังสือค้ำประกัน และสมุดบัญชีภาระในการรับรองตั๋วเงินของธนาคารโจทก์ร่วม เป็นเอกสารบัญชีหรือเอกสารของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและดำเนินธุรกิจในสาขาซึ่งรวมถึงการสั่งให้พนักงานลงบัญชีหรือเรียกบัญชีมาตรวจสอบ จึงถือได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ลงบัญชีด้วยการที่จำเลยลงชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่มีหลักประกัน ไม่ขออนุมัติจากโจทก์ร่วมตามระเบียบ ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัลและไม่ลงบัญชีเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการละเว้นไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีโดยมีเจตนาเพื่อลวงให้โจทก์ร่วมขาดประโยชน์อันควรได้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. 2499 มาตรา 42(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3671/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 11, 26 พระราชบัญญัติกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบางภาษี…พ.ศ.2533
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2535 นับแต่วันดังกล่าวไปอีก 120 วัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ คือวันที่ 24 ตุลาคม 2535อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปี เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ม. 33 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 55 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ม. 12, 19, 66 (2) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ม. 44, 49, 89 (6) พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 21, 36 วรรคสอง พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร พ.ศ.2511 พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ แขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงวัดดอน แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2516 ม. 14 วรรคหนึ่ง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนและมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 เนื่องด้วย พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา 66(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518และมาตรา 12 ประกอบมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการยกเลิก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 แต่ก็ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1ความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไว้ในมาตรา 89(6)มาตรา 44 วรรคหนึ่ง และมาตรา 49 ดังนั้น การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ถือเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่งและเนื่องจาก พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ที่ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงอนุมาตรา (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง(1) ถึง (5) นั้น ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511 แล้วแต่กลับปรากฏว่าฝ่าจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบการที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้น การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบ สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกากับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบ การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2531 ดังนั้นการใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ตรงกับหลักการสำคัญของการกำหนดเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์แล้ว เมื่อราคาที่ดินโจทก์สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การที่คณะกรรมการฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถือตามราคาประเมินที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าว ย่อมมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามความเป็นจริง ทั้งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ไม่มากจนถึงกับว่าเมื่อมีการซื้อขายกันจะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เฉลี่ยตามตารางวา โดยถือเกณฑ์ราคาประเมินที่ดินรวมกับราคาเฉลี่ยของราคาที่ดินที่สูงขึ้นต่อปีใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 จึงนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว แม้โจทก์จะได้ขายที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปก่อนที่คณะกรรมการจะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปี แล้วก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาในขณะเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับเป็นสำคัญนั่นก็หมายถึงว่าพิจารณาถึงวันบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือขณะบังคับใช้ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ที่จะเวนคืนแล้วแต่กรณี พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับต่างบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 21 วรรคสองตามลำดับ ให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินเหลือจากการดำเนินการเวนคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดตามโฉนดที่ดินของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2511 แม้ภายหลังโจทก์ได้โอนขายที่ดินโฉนดที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินแปลงเดิมที่ถูกเวนคืนอันเป็นที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนให้แก่ผู้อื่นไปแล้วตั้งแต่ปี 2523 ก่อนที่คณะกรรมการฯจะกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปีก็ตาม ที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนซึ่งโจทก์ได้ขายไปแล้วนั้นก็ยังต้องถือว่าเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืน เมื่อที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์อยู่ในทำเลที่ดีกว่าเดิมเช่นนี้ ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวก็ย่อมจะสูงกว่าเดิมอันเนื่องมาจากการตัดถนนของทางราชการอย่างแน่นอน การที่ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมดังกล่าวจะต้องนำราคาที่ดินที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองมิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม และบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม ที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนและให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติ ที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้น เพราะการเวนคืน จึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3669/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 230 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 132, 292
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีและขอวางเงินโดยมีเงื่อนไข ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้อง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ถอนการยึดที่ดินทั้งสองแปลงที่ผู้ร้องขอให้งดการบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดแล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกา ของผู้ร้องที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกามีอำนาจจำหน่ายคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3617/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 74, 296 วรรคสอง
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยปรากฏตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารท้ายฟ้องว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่เลขที่ 66 ถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานครในชั้นบังคับคดีก็ปรากฏตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนในสำนวนของกรมบังคับคดีก็ระบุว่าจำเลยมีภูมิลำเนาดังกล่าวแม้ว่าต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาเป็นเลขที่ 869 ซอยรัชดานิเวศน์ ถนนประชาอุทิศแขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องจำเลยและในการดำเนินกระบวนพิจารณาตลอดมา จำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เลขที่ 66 ถนนเทียมร่วมมิตร จึงต้องถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ สถานที่นั้น ดังนั้นเมื่อมีการส่งหมายเรียกหมายนัด และเอกสารต่าง ๆ ที่ภูมิลำเนาดังกล่าวไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการส่งโดยชอบและจำเลยได้รับโดยชอบแล้ว จำเลยจะยกเรื่องการย้ายภูมิลำเนาไปที่ใหม่ของจำเลยโดยที่จำเลยไม่ได้แจ้งการย้ายภูมิลำเนาไปที่ใหม่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลทราบมาเป็นข้ออ้างว่าไม่ได้รับหมายแจ้งวันขายทอดตลาดที่ดินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 59, 91, 272, 274 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 176 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 109, 110, 114, 115
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 109,110,114 และ 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33,83,91,273 และ 274 จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสามแต่ละข้อหาตามฟ้องเป็นการกระทำโดยมีเจตนาในการกระทำผิดแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดทั้งสามข้อหาตามฟ้องโดยมีเจตนาต่างกัน จำเลยจะฎีกาโต้เถียงว่า การกระทำผิดของจำเลยตามคำฟ้องโจทก์เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียว โดยจำเลยมีเจตนาเพียงต้องการผลิตสินค้าแล้วใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายเพื่อการจำหน่าย ซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวหาได้ไม่ ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยจึงถูกต้องแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2540
ประมวลรัษฎากร ม. 65 ตรี (15), 65 ตรี (18), 79 ทวิ, 79 เด (6)
การที่กรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ใช้มาตรฐานในการคำนวณต้นทุนสินค้าตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค.0810/13252ลงวันที่ 29 กันยายน 2530 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบผู้ประกอบกิจการค้าพืชผลการเกษตรหากไม่สามารถพิสูจน์ผู้ขายได้ ให้ถือราคารับซื้อตามราคาตลาดที่ปรากฏในเอกสารของส่วนราชการนั้น อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ไม่ปรากฏเหตุผลว่าโจทก์ซื้อมันเส้นในราคาสูงไปอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ไม่เชื่อถือ ใบสำคัญหรือหลักฐานแสดงการรับจ่ายเงินค่ามันเส้นของโจทก์ที่สุ่มมา ตรวจสอบเพียงบางฉบับ มิใช่เหตุที่จะฟังว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์สูงเกินสมควร เพราะราคาซื้อขายมันเส้นโดยทั่วไปมิได้มีราคาตายตัวหรือมีราคาเดียว และราคาซื้อขายมันเส้นโดยเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาที่จำเลยที่ 1นำมาใช้เป็นเกณฑ์คำนวณมีทั้งที่สูงและต่ำกว่าราคาที่โจทก์ระบุว่ารับซื้อมันเส้นจากผู้ค้าพืชไร่ อีกทั้งโจทก์ตรวจสอบคุณภาพมันเส้นที่จะรับซื้อด้วยว่ามีค่าความชื้นและสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานที่โจทก์กำหนดหรือไม่โดยหากปรากฏว่ามันเส้นที่จะรับซื้อมีค่าความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานโจทก์จะคำนวณนำหนักมันเส้นโดยตัดน้ำหนักตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อนที่เกินมาตรฐานและคำนวณเงินค่ามันเส้นที่ต้องจ่ายให้ผู้ขายจากน้ำหนักสุทธิภายหลังการตัดน้ำหนักดังกล่าวแล้ว ส่วนการซื้อขายมันเส้นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาจัดทำไม่ปรากฏว่าราคาซื้อขายมันเส้นได้นำมาจากการซื้อขายเช่นกรณีของโจทก์หรือไม่ ดังนั้นการที่โจทก์รับซื้อมันเส้นในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาก็อาจอยู่ภายในกรอบของราคาตลาดได้ มิใช่แสดงว่าราคาที่โจทก์ซื้อสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบแสดงหลักฐานการจ่ายเงินค่ามันเส้นว่าโจทก์จ่ายเป็นเช็ค โดยในใบสำคัญจ่ายจะระบุชื่อธนาคารและหมายเลขเช็คซึ่งสามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินได้จากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ รวมทั้งโจทก์ยังบันทึกรายการซื้อมันเส้นในสมุดรายวันซื้อด้วย โดยจำเลยทั้งสี่ก็มิได้นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่กลับยอมรับว่าเมื่อได้ตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของโจทก์แล้วพบว่ายอดเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายและมีการนำมาเรียกเก็บแต่ละยอดตรงกับยอดเงินตามใบรับเงินที่โจทก์อ้างว่าจ่ายเป็นค่าซื้อมันเส้นดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะตรวจสอบรายจ่ายโดยเรียกผู้มีชื่อที่ระบุว่าขายมันเส้นให้โจทก์มาสอบถามแล้ว พบว่าหลักฐานการซื้อขายมันเส้นของโจทก์บางรายการไม่น่าเชื่อถือก็หาอาจสรุปว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์ทั้งหมดทุกรายการเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเนื่องจากการตรวจสอบของจำเลยทั้งสี่เพียงแต่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากรายชื่อผู้ขายบางส่วนเท่านั้น มิได้ตรวจสอบจากเอกสารการจ่ายเงินของโจทก์ทุกรายการ และมิได้ให้โอกาสโจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินทั้งหมด การตรวจสอบและให้โจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินเพียงบางส่วนจากสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาจทราบได้ว่าจำนวนเงินรายจ่ายในส่วนที่มีการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบนี้เป็นเงินเท่าใด จึงไม่ชอบที่จะถือว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นทั้งหมดของโจทก์เป็นรายจ่ายที่ไม่อาจพิสูจน์ตัวผู้รับได้ แต่กลับฟังได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์เป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปจริง มิใช่รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับและมิใช่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันจะถือว่าเป็นรายจ่าย ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(15) และ(18) แม้ในขั้นตอนการตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์มีรายได้จากการขายมันอัดเม็ดต่ำไป แต่จากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบมิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 พบว่าโจทก์ได้ขายมันอัดเม็ดไปจริงแล้วแสดงรายได้จากการขายมัดอัดเม็ดต่ำไปหากแต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายมันอัดเม็ดสูงกว่าที่แสดงไว้เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 คำนวณการสูญเสียน้ำหนักในขั้นตอนการผลิตมันอัดเม็ดของโจทก์ โดยใช้วิธีบวกน้ำหนักมันเส้นที่โจทก์ตัดออกในขณะรับซื้อกลับเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณ จึงทำให้ตัวเลขแสดงยอดมันอัดเม็ดที่ควรผลิตได้สูงกว่าที่โจทก์ระบุในบัญชีขาย แล้วจำเลยที่ 1จึงถือว่าจำนวนมัดอัดเม็ดที่ขาดหายไปเป็นการขายของโจทก์การประเมินด้วยวิธีการเช่นนี้เท่ากับเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1เห็นว่าโจทก์มีสินค้าขาดจากบัญชีคุมสินค้า จึงให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ(6)เดิม ที่ใช้ บังคับในขณะนั้น ซึ่งการประเมินด้วยวิธีการตามมาตรา 79 ทวิ(6)เดิมเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ภาษีการค้า หาได้มีบทบัญญัติให้นำไปใช้ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ให้ถือว่ายอดมันอัดเม็ด ที่ขาดไปจากบัญชีขายของโจทก์เป็นการขายเพื่อถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 448 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2485 ม. 82, 84, 103
คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495 มาตรา 103 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 60(2) และ 62 เป็นคำสั่งทางปกครองมิใช่นิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องใช้กำหนดเวลาทางปกครองปรับแก่คดี เมื่อตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาในการที่จะนำคดีมาฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือ ลักษณะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 448 วรรคหนึ่ง