สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2540

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 448 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2485 ม. 82, 84, 103

คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495 มาตรา 103 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 60(2) และ 62 เป็นคำสั่งทางปกครองมิใช่นิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องใช้กำหนดเวลาทางปกครองปรับแก่คดี เมื่อตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนดังกล่าวไม่มีกำหนดเวลาในการที่จะนำคดีมาฟ้องศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือ ลักษณะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 448 วรรคหนึ่ง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2490 โจทก์รับราชการตำแหน่งนายอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งที่ 837/2490 ลงวันที่ 25 ธันวาคม2490 ให้โจทก์ออกจากราชการเพื่อรอฟังผลการสอบสวนกรณีโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์รอฟังผลการสอบสวน แต่กรรมการไม่เคยสอบสวนโจทก์เลย จนกระทั่งกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งที่ 1042/2496 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2496 ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการ อ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ราชการและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งการสอบสวนนั้นจะต้องทำให้แล้วเสร็จอย่างช้าไม่เกิน 30 วันนับตั้งแต่เรื่องกล่าวหา หากมีความจำเป็นให้ขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ไม่เกิน2 ครั้ง ถ้าขยายเวลาแล้วยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ การสอบสวนจะใช้ได้เมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 9 เดือน นับแต่วันตั้งเรื่องกล่าวหา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495 มาตรา 82 วรรคสี่ และมาตรา 84วรรคสอง โจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2490 จนกระทั่งถูกปลดออกจากราชการวันที่ 20 ตุลาคม 2496 รวมเวลา 5 ปี 10 เดือน การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเกินเวลาที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495 มาตรา 82 วรรคสี่และมาตรา 84 วรรคสอง กำหนด จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ติดต่อจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการดังกล่าวเพื่อจะนำอายุการรับราชการของโจทก์ไปขอเบิกจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์พึงจะได้รับตามกฎหมาย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1042/2496 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2496 ที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นโมฆะ

จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะจำเลยมีคำสั่งที่ 1042/2496 ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2496 โจทก์ทราบคำสั่งแล้วหากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่โจทก์กลับปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาเกิน 10 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นให้งดชี้สองสถานและวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำขอของจำเลยว่า คดีขาดอายุความพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งที่ 837/2490ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2490 ให้โจทก์ออกจากราชการเพื่อรอฟังผลการสอบสวนกรณีโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ต่อมากระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งที่ 1042/2496 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2496 ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่23 กันยายน 2537

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และการที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ สำหรับกรณีที่โจทก์ฎีกาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ในคดีปกครองหากผู้ใดถูกกระทบสิทธิจากการกระทำหรือคำสั่งทางปกครอง ผู้นั้นย่อมต้องใช้สิทธิฟ้องร้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กำหนดเวลาดังกล่าวหาใช่อายุความตามหลักแห่งกฎหมายเอกชนหรือกฎหมายแพ่งไม่ แต่กรณีนี้คงพอแปลความมุ่งหมายในการฎีกาโต้เถียงของโจทก์ได้ว่า โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งตามปัญหาดังกล่าวเห็นว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495 มาตรา 103 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485 มาตรา 60(2) และ 63 โดยเป็นการสั่งการฝ่ายเดียวในทางปกครองที่มุ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิหรือหน้าที่หรือสถานภาพทางกฎหมายของจำเลย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองมิใช่นิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต้องใช้กำหนดเวลาทางปกครองปรับแก่คดี แต่เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏกำหนดเวลาในการที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาแล้วทางกฎหมายปกครองในกรณีเช่นนี้ซึ่งต้องใช้สิทธิให้มีการเยียวยาโดยรวดเร็วประกอบกับลักษณะการกระทำทางปกครองคดีนี้ เห็นว่า บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือ ลักษณะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง ประกอบมาตรา 448 วรรคหนึ่งดังนั้นเมื่อโจทก์เห็นว่า คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการสอบสวนและมิได้สอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาตามกฎหมายและคำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิของโจทก์จนเกิดความเสียหาย โจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้องหรือภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันล่วงสิทธิ เมื่อปรากฏจากคำฟ้องโจทก์ว่า กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2496 ซึ่งถือเป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิฟ้องร้องแล้ว โจทก์จะต้องฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้อง แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2537 เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการล่วงสิทธิและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้สิทธิฟ้องร้อง คดีโจทก์จึงพ้นกำหนดเวลาใช้สิทธิฟ้องร้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ถูกกระทำละเมิดในปี 2533 เพราะมิได้รับเงินช่วยค่าครองชีพตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2533 นั้น ในวันดังกล่าวมิใช่วันล่วงสิทธิ แต่เป็นผลกระทบมาจากคำสั่งที่ให้ปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2496 ดังนั้น เมื่อพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจึงเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย สอน การสมพรต จำเลย - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ชื่อองค์คณะ สมบัติ เดียวอิศเรศ อุดม มั่งมีดี อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE