คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2540
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 386, 856, 859, 860
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทข้อ 4 มี ข้อความว่า จำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาให้ลดลงเรื่อย ๆและให้หมดสิ้นภายในวันที่ 15 มกราคม 2531 แต่หลังจากครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 15 มกราคม 2531แล้ว ได้มีการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2531 เป็นต้นไป แม้ต่อมาจำเลยที่ 1ได้สั่งจ่ายเช็ค แต่โจทก์ได้ปฎิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเงินตามเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีผู้ทรงเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีผู้ทรงเช็คดังกล่าวจึงได้นำเรียกเก็บเงินและโจทก์จ่ายเงินตามเช็คให้ผู้ทรงไปก็ตาม เมื่อปรากฎว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ตามเช็คและโจทก์ยอมจ่ายเงินจำนวน 35,000 บาท ตามเช็คดังกล่าวไปเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1ตกลงกันโดยปริยายว่าจะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือเบิกเงินเกินบัญชีกันต่อไปอีก สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2531 เป็นต้นไป ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 2 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราดังกล่าวต่อไปเท่านั้น โจทก์จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่16 มีนาคม 2533 หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 145, 240, 246, 247
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดพิพาทเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 3 งาน 82 ตารางวา ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่ผู้คัดค้านครอบครองอยู่เนื้อที่ 1 งาน 63 ตารางวาส่วนผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ ดังนี้ประเด็นที่คู่ความโต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์คงมีเพียงตามคำขอในฟ้องอุทธรณ์ของผู้คัดค้านคือที่ดินซึ่งมีเนื้อที่เพียง 1 งาน 63 ตารางวา การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอเสียทั้งหมด จึงเป็นการไม่ถูกต้องมีผลเท่ากับเป็นการพิพากษายกคำร้องขอเกี่ยวกับที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 2 งาน 19 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 1382 ซึ่งยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องด้วย เป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากประเด็นที่คู่ความอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ปัญหาข้อนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก่เสียให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6660/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 991 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
ในวันครบกำหนดการใช้เงินตามเช็คพิพาท โจทก์ร่วมได้นำเช็ค ไปเบิกเงิน แต่ปรากฎว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ธนาคารซึ่งมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 จึงให้ไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายก่อน กรณีเช่นนี้ถือว่าธนาคารได้ปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นแล้ว แม้จะเป็นการปฎิเสธด้วยวาจาก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช็คและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าการปฎิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6657/2540
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 105, 146
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านเพื่อขอผัดส่งต้นฉบับเอกสารที่อ้างเป็นพยานไว้ผู้คัดค้านไม่อนุญาต และมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง เป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นตรวจคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งผู้คัดค้านมีอำนาจสอบสวนในเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 105การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งงดการสอบสวนพยานหลักฐานของผู้ร้อง โดยถือว่าผู้ร้องไม่ติดใจอ้างต้นฉบับเอกสารตามที่ผู้ร้องอ้างเป็นพยานไว้ และมีคำสั่งยกคำร้องที่ผู้ร้องขอผัดส่งต้นฉบับเอกสารหลังจากครบกำหนดวันนัดเป็นการกระทำในขั้นตอนของการสอบสวนตรวจคำขอรับชำระหนี้เท่านั้นยังไม่เป็นการแน่นอนว่าผู้คัดค้านจะทำความเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องหรือไม่ แม้ต่อมาหากผู้คัดค้านทำความเห็นควรอนุญาตหรือควรยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องด้วยเหตุใดก็ตาม ลำพังความเห็นของผู้คัดค้านก็หามีผลบังคับแต่อย่างใดไม่ เพราะศาลพิจารณาแล้วอาจยกคำขอรับชำระหนี้หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้น คำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายตามมาตรา 146 ผู้ร้องยังไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งกลับคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านในชั้นนี้ได้ ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1444/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 94
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้ยกที่พิพาทให้ ศ. แต่เป็นการขายที่พิพาทให้ ช. โดยให้ ศ. ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ทำนิติกรรมอำพรางต้องบังคับตามนิติกรรมซื้อขายที่ถูกอำพราง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 155 วรรคสอง นิติกรรมยกให้เป็นการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6632/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 78, 317 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 158
การที่ ป. มารดาเด็กหญิงส.ยินยอมให้เด็กหญิงส.เดินทางไปกับจำเลยก็เพื่อไปรับจ้างทำงานเป็นลูกจ้างขายผักที่ตลาดเท่านั้น มิได้ยินยอมให้จำเลยพาไปเพื่อการอนาจารแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่จำเลยพาเด็กหญิงส.เข้าไปในโรงแรมเพื่อกระทำอนาจารหรือร่วมประเวณี แม้จำเลยยังไม่ทันกระทำการดังกล่าวก็ตามพฤติการณ์ของจำเลยก็เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคหนึ่ง และวรรคสามอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว หาใช่เพียงขั้นพยายามไม่ จำเลยเพียงแต่ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าจำเลยพาเด็กหญิงส.ไปเพื่อการอนาจาร คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับคำเบิกความของจำเลยไม่ได้ยอมรับว่าจำเลยพรากเด็กหญิงส.อายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากความปกครองดูแลของนางป.มารดาเพื่อการอนาจารซึ่งเป็นข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ส่วนการที่จำเลยมอบเงิน 7,000 บาท ให้แก่ ป. ก็เพื่อเป็นค่าทำขวัญเด็กหญิงส. ที่ถูกชายอื่นพาไปข่มขืนกระทำชำเรามิใช่การมอบให้เพราะเหตุอันเกิดจากการที่จำเลยสำนึกผิดในการกระทำ จึงไม่ใช่เหตุบรรเทาโทษตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากเด็กหญิงส.อายุ 13 ปีเศษ ไปเสียจากความปกครองดูแลของ ป. ผู้เป็นมารดาเพื่อการอนาจารครบองค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์แล้ว หาจำต้องบรรยายว่าจำเลยกระทำอนาจารอย่างไรไม่ ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยสำคัญผิดในอายุของเด็กหญิงส. ว่าเกิน15 ปี แล้ว เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกามิใช่ข้อที่ได้ ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6630/2540
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 193/24, 193/33
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้มีข้อความระบุว่า"ถ้าหากนายพิลาไชยพร (จำเลยที่ 1) นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่นายวิจิตร (โจทก์) เสร็จสิ้นภายในวันที่25 มีนาคม 2536 นายวิจิตรจะไม่ขอคิดดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียวแต่ถ้าผิดนัด นายพิลาไชยพร จะต้องรับผิดตามสัญญาเดิมคือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อถูกฟ้องศาลบังคับคดีตามฟ้องข้าพเจ้า นายพิลาไชยพร พอใจตามข้อตกลงนี้ จึงได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน" ดังนี้ แม้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 แต่กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/24 จำเลยที่ 1ไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 119
ผู้ประกันขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์ขอให้ไม่ปรับหรือปรับน้อยลง ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่าให้ลดค่าปรับผู้ประกันลงเหลือ 250,000บาท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6611/2540
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172, 177, 249, ตาราง 1
จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าในส่วนของโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 48,662 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยในส่วนนี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในส่วนของโจทก์ที่ 1 ให้ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมแต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมเพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 48,662 บาท และให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 195,875 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 244,537 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกาในทุนทรัพย์264,573 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินจำนวน 500 บาทแก่จำเลยที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6558/2540
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 56, 72 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185
การที่ผู้เสียหายอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยมาก่อน แล้วต่อมา ได้หญิงอื่นเป็นภริยาและไปอยู่กับหญิงนั้น เมื่อจำเลยขอให้ไปพบ ผู้เสียหายไม่ยอมไป ในวันเกิดเหตุจำเลยพบผู้เสียหายอยู่กับหญิงอื่น โดยนุ่งผ้าขนหนูเพียงผืนเดียวออกมาบอกว่าจะเลิกกับจำเลย และไล่ให้กลับบ้านทั้งยังตบหน้าอีก ย่อมเป็นการข่มเหงน้ำใจ จำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยยิงผู้เสียหายไปในทันทีในระยะเวลาต่อเนื่องที่ยังมีโทสะอยู่ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยมีเหตุบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 แม้จำเลยจะมิได้ยกเหตุนี้ขึ้นต่อสู้ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดและความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายแล้วเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้รวมตลอดไปถึงความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งจำเลยมิได้ฎีกาด้วย