คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 93 (2), 123, 142 วรรคหนึ่ง, 183
แม้จำเลยที่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แต่เมื่อคดีนี้มีการชี้สองสถานและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อนี้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทโดยโจทก์และจำเลยต่างไม่โต้แย้งคัดค้านเช่นนี้จึงถือได้ว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ระหว่างคู่ความการที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและประเด็นข้อพิพาทข้อนี้เป็นคนละประเด็นกับที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าจำเลยต้องชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์ได้แจ้งต่อศาลตลอดมาว่าเอกสารต่างๆตามที่จำเลยอ้างมานั้นมีจำนวนมากยังค้นไม่พบต่อมาโจทก์ได้ส่งเอกสารตามคำสั่งเรียกมาให้เป็นบางส่วนแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังค้นหาเอกสารไม่พบจริงไม่มีเจตนาจะบิดพลิ้วไม่ส่งเอกสารแต่อย่างใดกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมสามารถนำสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา93(2)กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา123ที่จะถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4930/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1304 (2), 1308 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 142 (5)
ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกจดที่ดอนไม่ได้จดแม่น้ำที่ดินของโจทก์ก็ไม่ได้เกิดที่งอกริมตลิ่งหากแต่เป็นที่งอกที่เกิดจากที่ดอนนอกแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่งอกดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1308 จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นที่ดินซึ่งอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยซึ่งเท่ากับปฎิเสธว่าที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า"โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่งอกริมตลิ่งหรือไม่"และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทมิใช่ที่งอกริมตลิ่งโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องถือว่าเป็นการวินิจฉัยตรงตามประเด็นข้อพิพาทแล้วหาใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ ฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและจำเลยก็มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2539
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 189
จำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปแล้วถูกนายดาบตำรวจก. กับพวกยึดรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปไม่ยอมให้ขับออกไปจำเลยที่2ได้มาพูดกับนายดาบตำรวจก. กับพวกเป็นทำนองให้ปล่อยรถยนต์บรรทุกไม้แปรรูปและจำเลยที่1เมื่อนายดาบตำรวจก.กับพวกไม่ยอมต่อมาจำเลยที่2ก็พาจำเลยที่1ขึ้นรถยนต์ขับหนีไปแสดงว่าจำเลยที่2รู้แล้วว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและมีจำเลยที่1เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษจำเลยที่2จึงต้องมีความผิดฐานช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษเพื่อไม่ให้ต้องโทษหรือไม่ให้ถูกจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา189
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4946/2539
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 115
การที่จำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งภายในระยะเวลา3เดือนก่อนจำเลยถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการโอนนั้นได้เพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆของจำเลยเพียงแต่จำเลยฝ่ายเดียวรู้ว่าเป็นการโอนที่ทำให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่นก็เป็นการเพียงพอที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้เพิกถอนการโอนนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา115โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสุจริตและการเสียค่าตอบแทนของผู้รับโอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4941/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 224, 406, 411, 415 วรรคสอง, 419 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 247
ศาลอุทธรณ์ภาค1วินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างที่พิพาทยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพพ.ศ.2511มาตรา12โจทก์จะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ข้อที่ว่าโจทก์รู้หรือไม่รู้ว่ามีบทกฎหมายดังกล่าวหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดปัญหานี้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค1หยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่ทราบว่าการซื้อขายที่พิพาทจะเป็นโมฆะในขณะตกลงซื้อขายกันแต่เพิ่งทราบเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอื่นจึงถือว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนเงินจากจำเลยตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีอื่นนั้นเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน1ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เมื่อการซื้อขายที่พิพาทตกเป็นโมฆะตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคดีอื่นดังนั้นเงินค่าที่พิพาทที่จำเลยผู้ขายได้รับจากโจทก์ผู้ซื้อจึงต้องคืนแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้หากมีการเรียกเงินดังกล่าวคืนเมื่อจำเลยไม่คืนให้ต้องถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนและตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้เรียกให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ต้องถือว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนเงินนับแต่วันฟ้อง ที่พิพาทราคา250,000บาทการที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยเป็นจำนวน410,000บาทจึงเกินไปจากราคาที่พิพาทที่โจทก์มีสิทธิเรียกคืนแม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 113, 169 วรรคสอง, 360 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 247, 248 วรรคสอง, 249 วรรคท้าย
ตามสัญญาเช่ามีข้อความว่าเมื่อครบกำหนดอายุแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าอยู่ต่อไปโดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุกๆ3ปีและเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็นสองเท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บข้อสัญญานี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไปไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่าป. ผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วกรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา360ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169วรรคสองมาใช้บังคับคำมั่นของป.จึงไม่เสื่อมเสียไปมีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตามให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม ที่โจทก์ฎีกาว่าโดยพฤตินัยและตามหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนจำเลยต้องรู้หรือควรรู้ว่าป. ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเพราะเป็นคนในอำเภอเมืองสมุทรสงครามด้วยกันมีประชากรไม่มากน่าจะทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกันและกันดีเป็นฎีกาข้อเท็จจริง เมื่อฟังว่าคำมั่นของป. มีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าการที่โจทก์เรียกเก็บค่าเช่าค่าตอบแทนเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อดังกล่าวโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาเช่าเอกสารหมายจ.4ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และทายาทผู้รับโอนต่อๆไปในภายหน้าให้ต้องปฏิบัติตามไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดไม่ควรมีผลบังคับแม้ปัญหานี้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โจทก์ก็ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคท้าย เจ้าของทรัพย์สินจะให้เช่าทรัพย์สินของตนในลักษณะใดก็ได้เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกจึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7, 387, 391
โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แม้โจทก์ชำระค่างวดล่วงเลยเวลาที่กำหนดจำเลยก็ยอมรับเงินนั้นตลอดมาไม่ได้มีการทักท้วงหรือให้จ่ายเบี้ยปรับตามสัญญาแต่อย่างใดแสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาการชำระค่างวดเป็นสาระสำคัญดังนั้นแม้โจทก์จะผิดสัญญาในข้อนี้จำเลยก็จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญายังมิได้แต่จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา387เสียก่อนการที่จำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือแจ้งริบเงินมัดจำและบอกเลิกสัญญานั้นเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยเพื่อขอให้ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามสัญญาหรือจะเลิกสัญญาแก่โจทก์หากจำเลยไม่ตอบแจ้งมาภายใน10วันจะถือว่าจำเลยประสงค์เลิกสัญญาและจำเลยไม่ตอบไปให้โจทก์ทราบแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาจะเลิกสัญญาอยู่การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยวาเมื่อจำเลยไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไปจำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าเสียหายตามหนังสือชดใช้ค่าเสียหายคืนสู่สภาพเดิมเอกสารหมายจ.9นั้นถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาสนองตอบตกลงเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วสัญญาว่าจ้างงานสถาปัตยกรรมห้องชุดและควบคุมงานและสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันโดยความตกลงของคู่สัญญาผลของการเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาเช่นนี้เมื่อไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาได้มีการตกลงกันไว้ประการใดก็ต้องให้คู่สัญญาได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391โดยที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้พร้อมด้วยดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ15ต่อปีตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดอาคารชุดนั้นใช้บังคับสำหรับกรณีที่มีการผิดสัญญาและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิเลิกสัญญาแต่การเลิกสัญญาโดยความตกลงของคู่สัญญาโดยไม่ได้มีการผิดสัญญาและคู่สัญญามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยประการใดเงินที่ได้ชำระกันตามสัญญาผู้รับเงินจึงต้องคืนเงินนั้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5ต่อปีนับแต่เวลาที่ได้รับไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4911/2539
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2524 ม. 46 วรรคสาม (4)
การที่พรรคดำรงไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองได้ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปแต่ไม่มีสมาชิกของพรรคดำรงไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวนั้นเลยพรรคดำรงไทยจึงต้องเลิกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา46(4)แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมืองพ.ศ.2524แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2)พ.ศ.2535มาตรา7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4909/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 681
ตามสัญญาค้ำประกันข้อที่ว่าผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ให้แก่บริษัทในการที่บริษัทจะได้รับความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างในการปฏิบัติตามหน้าที่การงานทั้งปวงนั้นเห็นได้ชัดว่าความเสียหายที่จำเลยที่2ผู้ค้ำประกันที่เข้าทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นความเสียหายที่จะพึงเกิดขึ้นในอนาคตหาใช้ความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วไม่ส่วนสัญญาค้ำประกันข้อที่ว่าการที่บริษัทยังคงให้ลูกจ้างทำงานต่อไปแม้เมื่อลูกจ้างได้ทำผิดหน้าที่และเกิดความรับผิดขึ้นแล้วก็ดีหาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่นั้นหมายความว่าถ้าจำเลยที่1ผู้เป็นลูกจ้างทำความเสียหายในระหว่างที่จำเลยที่2ค้ำประกันอยู่แต่โจทก์ยังคงให้จำเลยที่1ทำงานต่อไปหรือไม่ได้บังคับเอาค่าเสียหายจำเลยที่2ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ยังไม่พ้นจากความรับผิดหาได้มีความหมายว่าจำเลยที่2จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายย้อนหลังไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 715, 728 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 143
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่1ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันหนี้ขายลดตั๋วเงินจำนวน89,051.47บาทนับแต่วันที่7มิถุนายน2529จนกว่าจะชำระเสร็จโดยไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในเงินต้นดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าใดในเมื่อจำเลยที่1ต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ17.5ต่อปีตามสัญญาค้ำประกันแล้วแต่ไม่ได้กำหนดให้ว่าต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่2ตามภูมิลำเนาที่อยู่ของจำเลยที่2สองครั้งแต่ไม่สามารถส่งได้โจทก์จึงบอกกล่าวการบังคับจำนองโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์เพื่อให้มีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา728ฉะนั้นค่าประกาศหนังสือพิมพ์จึงถือได้ว่าเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองตามมาตรา715(3)โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าประกาศหนังสือพิมพ์400บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5ต่อปีจากจำเลยที่2