คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4989/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227

พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่1และที่2ร่วมกันมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่เมื่อไม่มีพยานหลักฐานรู้เห็นเลยว่าจำเลยที่1และที่2ได้ร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนการที่ค้นพบเฮโรอีน2ถุงเล็กๆน้ำหนักเพียง1.3กรัมซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์ของกลางจะฟังว่าจำเลยที่1และที่2ร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 149, 150, 224, 654

ข้อกำหนดข้อ5ระบุถึงการชำระเงินในกรณีที่ไม่ได้เป็นไปตามปกติโจทก์อาจจะคิดเงินจากจำเลยทั้งสามจำนวน300บาทที่จะทดแทนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของโจทก์หรือจำนวน500บาทเมื่อเช็คหรือดราฟท์แต่ละฉบับไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ภายในเวลา3เดือนสำหรับข้อกำหนด6ระบุถึงค่าปรับในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้ทั้งนี้โจทก์จะเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสามได้ต่อเมื่อโจทก์ไม่ได้รับการชำระเงินค่าสินค้าและค่าบริการครบจำนวนตามที่แสดงไว้ในใบเก็บเงินในวันปิดบัญชีรายเดือนในเดือนถัดไปซึ่งเป็นจำนวนยอดเงินค้างชำระจากงวดก่อนโดยค่าปรับประกอบด้วยค่าทดแทนการออกเงินทุนเพิ่ม1เปอร์เซ็นต์และค่าปรับเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายจากการเรียกเก็บเงิน2.5เปอร์เซนต์เห็นได้ว่ากิจการของโจทก์เป็นการให้บริการแก่สมาชิกไม่มีลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินค่าปรับตามข้อกำหนดดังกล่าวไม่ใช่ดอกเบี้ยสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประเภทหนึ่งไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224และมาตรา654และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5004

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5004/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 66, 164 เดิม, 165 เดิม, 369 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172

ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายถึงข้อหาว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาจึงทำบันทึกข้อความยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์และจำเลยที่2ถึงที่4เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่1โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่จำเลยที่1ทำไว้กับโจทก์กับบันทึกข้อตกลงยอมรับชำระหนี้แก่โจทก์และสัญญาค้ำประกันจำเลยที่1ที่จำเลยที่2ถึงที่4ทำไว้ต่อโจทก์และคำขอบังคับคือโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวนตามฟ้องดังนี้คำฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งขัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นข้อหาแล้วส่วนในช่องข้อหาแม้โจทก์จะระบุข้อหาไว้ไม่ละเอียดเท่าที่ปรากฏตามเนื้อความในคำฟ้องก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเคลือบคลุมส่วนข้อที่ว่าจำเลยได้รับหรือใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์ไปกี่ครั้งครั้งละจำนวนเท่าใดและโจทก์ชำระเงินให้แก่ธนาคารไปก่อนแล้วเป็นจำนวนเท่าใดเพื่อแสดงว่าได้รับเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใดนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1ได้ทำสัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศไว้กับโจทก์และจำเลยที่2ได้เข้าค้ำประกันจำเลยที่1แต่จำเลยที่1และที่2ไม่ชำระหนี้จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องได้จำเลยที่1และที่2จึงไม่อาจโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์ดำเนินกิจการตามสัญญาดังกล่าวนอกขอบวัตถุประสงค์ได้และสัญญาสัญญามิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อการสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงมีผลใช้บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1มิได้ตกเป็นโมฆะ สัญญาขอวงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศกำหนดให้จำเลยที่1เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเองมิได้ตั้งโจทก์ให้เป็นตัวแทนในการสั่งสินค้าจากต่างประเทศจำเลยที่1เพียงแต่ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารและจำเลยที่1ขอใช้วงเงินสินเชื่อในการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวเงินสินเชื่อนั้นจึงมิใช่เงินทดรองที่โจทก์ออกไปก่อนในการเป็นตัวแทนจำเลยที่1ในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศและเงินค่าตอบแทน1เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเลตเตอร์ออฟเครดิตก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินค่าบำเหน็จในการเป็นตัวแทนหรือเป็นสินจ้างในการงานที่โจทก์รับทำสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมิได้มีกำหนดอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(1)และ(7)เดิมแต่เป็นกรณีไม่มีบทบัญญัติกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความทั่วไปคือ10ปีตามมาตรา164เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1251 วรรคสอง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4)

กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องเลิกกันเมื่อปรากฏว่าข้อสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์หรือข้อความในหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์ไม่มีข้อกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำหน้าที่ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ได้ในกรณีหุ้นส่วนผู้จัดการถึงแก่ความตายการจัดการชำระบัญชีจึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1251วรรคสองซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะซึ่งต้องทำโดยพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นผู้มีส่วนได้เสียในการนี้เท่านั้นที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ชำระบัญชีเมื่อปรากฏว่าผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์และผู้จัดการมรดกของช.หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ประชุมลงคะแนนเสียงตั้งบ. เป็นผู้ชำระบัญชีของโจทก์เสียเองจึงเป็นการตั้งผู้ชำระบัญชีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายบ. จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีของโจทก์ที่จะมีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 172 วรรคสอง, 226 (2)

โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินโจทก์ซึ่งซื้อมาจากเจ้าของเดิมอยู่ติดกับที่ดินจำเลยและมีที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะระหว่างที่ดินโจทก์กับทางสาธารณะมีที่ดินจำเลยคั่นอยู่และมีทางพิพาทจากที่ดินโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยไปออกสู่ทางสาธารณะก่อนโจทก์ซื้อที่ดินเจ้าของเดิมได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินโจทก์สู่ทางสาธารณะโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภารจำยอมติดต่อกันมาเกินกว่า10ปีทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นและตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์และเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวก็ได้ใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะติดต่อกันตลอดมาต่อมาจำเลยนำเสาปูนมาปักกั้นทางพิพาทจึงขอให้จำเลยเปิดทางพิพาทเช่นนี้จะเห็นได้ว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวทางพิพาทอาจเป็นทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมซึ่งต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาว่าที่ดินจำเลยและที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะหรือเจ้าของเดิมก็ได้ใช้ทางพิพาทติดต่อกันก่อนขายให้โจทก์เป็นเวลานานเกินกว่า10ปีแล้วทางพิพาทจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความจำเลยจึงไม่มีสิทธิมาปิดกั้นทางพิพาทคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยเพียงแต่ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพียง2ประเด็นขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มอีก1ข้อคือ"บริเวณที่ดินที่เป็นทางพิพาทตามฟ้องเป็นของจำเลยหรือไม่"หากศาลไม่อนุญาตขอถือเอาคำแถลงนี้เป็นคำโต้แย้งคำสั่งศาลศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า"ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงประเด็นที่กำหนดไว้เดิมจึงไม่อนุญาติ"จำเลยก็หาได้โต้แย้งคำสั่งศาลในเรื่องนี้อีกแต่อย่างใดไม่ฉะนั้นจะถือเอาคำแถลงของจำเลยฉบับนั้นเป็นคำโต้แย้งไม่ได้จำเลยจึงอุทธรณ์ในปัญหานี้ไม่ได้เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4982

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979 - 4982/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1600, 1651 (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ม. 34

แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่ล. เจ้ามรดกทำไว้กับโจทก์ทั้งห้าก่อนที่ล. จะถึงแก่ความตายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายมีเพียงบุคคลสิทธิโจทก์ทั้งห้ายังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่1ที่2กับจำเลยที่3ก็ตามแต่ตามฟ้องของโจทก์ก็ได้อ้างถึงสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นที่โจทก์ทั้งห้าได้ฟ้องกองมรดกของล. โดยทายาทผู้รับมรดกและจ.ผู้จัดการมรดกคนเดิมของล. ให้โอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ทั้งห้าแม้ต่อมาจ. ถูกศาลชั้นต้นเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้จำเลยที่1และที่2เป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวก็ยังมีผลผูกพันถึงจำเลยที่1ที่2และจำเลยที่3ผู้ได้รับที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของล.เพราะจ. ผู้จัดการมรดกคนเดิมกระทำไปในฐานะผู้จัดการมรดกของล. จำเลยที่1และที่2ผู้จัดการมรดกคนใหม่จึงต้องมีหน้าที่เช่นเดียวกับจ. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของล. ให้แก่ทายาทหรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อไว้ก่อนตายด้วยส่วนจำเลยที่3ผู้รับโอนที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมของล. เป็นผู้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมจึงต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1600,1601และ1651(2)จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทตามที่ล.เจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ทั้งห้าและศาลได้พิพากษาให้โอนตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แม้โจทก์จะมิได้ขอให้จำเลยที่3ร่วมกับจำเลยที่1และที่2จัดการโอนที่ดินพิพาทด้วยแต่เจตนาการฟ้องของโจทก์ทั้งห้าก็เพื่อต้องการให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของล. โอนที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยที่3รับโอนที่ดินพิพาทมาตามพินัยกรรมแล้วจึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่3ร่วมกับจำเลยที่1และที่2โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งห้าได้แม้จำเลยที่3จะเป็นวัดเพราะเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่3ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อไว้ก่อนตายมิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่วัดที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.2505มาตรา34

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1300, 1600, 1651 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 145, 142 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ม. 34

ล. เจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไว้กับโจทก์ก่อนที่ ล. จะถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีเพียงบุคคลสิทธิยังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนที่จะมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ล. กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม โจทก์ฟ้องโดยอ้างถึงสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาล ซึ่งเดิมโจทก์ได้ฟ้องกองมรดกของ ล. โดยทายาทและจ. ผู้จัดการมรดกคนเดิมของ ล. ให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับ ล. และทายาทและผู้จัดการมรดกของ ล. ได้ยินยอมโอนที่ดินให้โจทก์และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ต่อมา จ. ถูกศาลเพิกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกแทน คำพิพากษาตามยอมก็ยังมีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับที่ดินตามพินัยกรรม เพราะ จ. กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของ ล.และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้จัดการมรดกคนใหม่ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับ จ. ที่จะต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของล. ให้แก่ทายาทหรือมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เจ้ามรดกได้ก่อไว้ก่อนตายด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ได้รับโอนที่ดินมาตามพินัยกรรมของ ล. ก็ต้องรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่รับโอนมานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600,1601 และ 1651(2)จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินให้โจทก์ โจทก์มิได้ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2จัดการโอนที่ดินให้โจทก์ด้วย แต่เจตนาการฟ้องของโจทก์ก็เพื่อให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ล. โอนที่ดินเมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินมา จึงมีหน้าที่ต้องจัดการโอนที่ดินให้โจทก์ตามกฎหมายศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนที่ดินให้โจทก์ได้และแม้จำเลยที่ 3 จะเป็นวัด การที่ศาลให้จำเลยที่ 3โอนที่ดินซึ่งตกมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยพินัยกรรมเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้ของเจ้ามรดกที่ก่อไว้ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มิใช่การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือศาสนสมบัติกลางอันจะต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 34

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4755

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4755/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 618, 797

ผู้ขายสินค้าในต่างประเทศได้ว่าจ้างจำเลยที่2ผู้รับขนในต่างประเทศให้ขนส่งสินค้ามายังกรุงเทพมหานครจำเลยที่1เป็นผู้แจ้งกำหนดวันที่เรือจะเข้าให้ผู้รับตราส่งทราบติดต่อกรมศุลกากรกองตรวจคนเข้าเมืองกรมเจ้าท่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยค้ำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่าจ้างบริษัทอื่นให้ขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าลงเรือฉลอมเพื่อนำไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับใบตราส่งเพื่อนำไปรับสินค้าการที่จำเลยที่2ซึ่งเป็นผู้รับขนในต่างประเทศไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยจึงย่อมไม่สามารถจะดำเนินการติดต่อและค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องว่าจ้างบริษัทอื่นให้ขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือเล็กและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งเพื่อนำไปรับสินค้าได้การกระทำดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญในการรับขนทางทะเลจำเลยที่1จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่2อันเป็นการขนส่งโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618แล้วหาใช่เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่2ไม่จำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2539

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142, 145 วรรคสอง (2)

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีซึ่งตามกฎหมายจะเพิกถอนไม่ได้เว้นแต่จะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดสืบโดยคำพิพากษาของศาลในลำดับที่สูงกว่าทั้งเป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินและอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดนอกจากอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีก่อนอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทและขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วยังขอให้พิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดอยู่และขอให้ขับไล่จำเลยด้วยพอแปลความหมายแห่งคำฟ้องได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นบุคคลภายนอกมีความประสงค์ให้ศาลมีคำสั่งพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยและคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา145วรรคสอง(2)ศาลอุทธรณ์ภาค2จึงมีอำนาจพิพากษาให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กรณีไม่ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค2พิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4964

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4964/2539

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 86 วรรคสอง, 142

เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งสามไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำการโดยสุจริตหรือคบคิดกันฉ้อโกงโจทก์หรือไม่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสามก่อนการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบโจทก์และจำเลยทั้งสามจึงเป็นการมิชอบ โจทก์กล่าวในคำฟ้องด้วยว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันทำสัญญาซื้อขายเป็นการฉ้อฉลโจทก์อันหมายถึงการกระทำโดยไม่สุจริตหรือฉ้อโกงโจทก์นั่นเองที่ศาลอุทธรณ์ภาค3วินิจฉัยว่าจำเลยที่1โอนขายทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่2และที่3เป็นการกระทำโดยสุจริตหรือไม่จึงมิได้เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้อง

« »
ติดต่อเราทาง LINE