คำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2539
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177 - 5188/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ม. 72, 73
พระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510มาตรา73(3)มีความหมายว่าการได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่นั้นไม่ทำให้ผู้นั้นได้สิทธิครอบครองที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรด้วยแต่หากมีผู้เข้าไปขัดขวางการทำแร่ในเขตประทานบัตรโดยไม่มีอำนาจโดยชอบแล้วผู้ได้รับประทานบัตรก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้นั้นได้และเมื่อสิ้นอายุประทานบัตรแล้วมิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองผู้ถือประทานบัตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ใดให้ออกจากที่ดินในเขตประทานบัตรได้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่7ถึงที่12หลังจากที่ประทานบัตรสิ้นอายุอันมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิใดๆในที่พิพาทแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่7ถึงที่12ส่วนจำเลยที่1ถึงที่6ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องก่อนที่จะสิ้นอายุประทานบัตร3วันในระหว่างพิจารณาประทานบัตรของโจทก์สิ้นอายุแล้วและโจทก์มิได้ดำเนินการขอต่ออายุประทานบัตรหรือขอประทานบัตรใหม่จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรอีกต่อไปการโต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงสิ้นสุดลงโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่1ถึงที่6ได้เช่นกัน พระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510มาตรา72มีความหมายว่าแม้ประทานบัตรสิ้นอายุแล้วผู้ถือประทานบัตรก็ต้องมีหน้าที่กลบถมขุมเหมืองหรือทำที่ดินให้เป็นตามสภาพเดิมแต่ถ้าหากประทานบัตรได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้วหรือทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ในเขตประทานบัตรตั้งอยู่ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นเมื่อตามประทานบัตรที่พิพาทข้อ6ข้อกำหนดเกี่ยวกับการถมขุมหลุมหรือปล่องที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองไว้ว่าให้ปฏิบัติตามคำสั่งของทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ตามความในมาตรา72และไม่ปรากฏตามคำฟ้องว่าทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ได้มีคำสั่งให้โจทก์ผู้ถือประทานบัตรดำเนินการเป็นประการใดแล้วโจทก์จึงยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการกลบถมขุมเหมือง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5167/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคแรก
ฎีกาของจำเลยคงอ้างเหตุอย่างเดียวกับที่อุทธรณ์โดยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าเป็นการไม่ชอบหรือผิดพลาดข้อไหนอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5157/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1382 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 249 วรรคหนึ่ง
ที่ดินพิพาทเป็นทางเท้าซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถใช้สัญจรไปมาได้พฤติการณ์ของโจทก์ที่ครอบครองใช้สอบในที่ดินพิพาทโดยเพียงแต่นำตู้กระจกที่ใส่สินค้าออกไปวางขายในช่วงเช้าแล้วนำเข้าเก็บเมื่อปิดร้านค้าครั้นปิดร้านค้าแล้วก็มิได้สงวนสิทธิในที่ดินพิพาทแต่อย่างใดคงปล่อยให้คนสัญจรไปมาดังเช่นทางเท้าทั่วไปดังนี้แม้โจทก์จะวางตู้กระจกขายสินค้ามาเป็นเวลาช้านานก็คงเป็นเพียงการถือวิสาสะเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในบางเวลาเป็นการชั่วคราวเท่านั้นจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของอันจะมีลักษณะเป็นการครอบครองอย่างปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382 โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองและโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์การที่โจทก์ฎีกาว่าป.ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ก่อสร้างตึกแถวยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วนั้นจึงเป็นการฎีกาในเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5155/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 59, 145 ประมวลกฎหมายที่ดิน ม. 83
ตามเจตนารมณ์ของการอายัดที่ดินตามประมวลที่ดินมาตรา83มีความมุ่งหมายเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในอันที่จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแล้วการอายัดที่ดินจึงมีผลเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินทุกประเภทที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขออายัดได้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะประเภทที่พิพาทกันเท่านั้นและคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่228/2530ข้อ12(2)ที่เปิดช่องให้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้ในระหว่างที่การอายัดยังมีผลบังคับในกรณีที่ศาลสั่งหรือจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ไม่เสียหายแก่ผู้ขออายัดแต่ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ได้ทำสัญญาตกลงกันให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ยินยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ส. ชนะคดีแพ่งหมายเลขดำที่425/2531นั้นข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้ยันกันเองระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดก.เท่านั้นดังนั้นหากส. ชนะคดีผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัดก.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145ทั้งข้อตกลงนี้ไม่ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีอันอาจจะเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ดังนั้นหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายสมชายชนะคดีและปรากฎว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่ส. ส. ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องฟ้องบังคับให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. จดทะเบียนสิทธิการเช่าให้ซึ่งจะทำให้ส. ได้รับความเสียหายและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจำเลยที่2ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจึงมีอำนาจปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทของโจทก์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5139/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 29, 30, 32
โจทก์ร่วมถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายปรากฏว่าผู้ร้องเป็นภริยาจำเลยอาจทำให้พยานหลักฐานโจทก์เสียหายได้จึงไม่เป็นการสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2539
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 24 วรรคท้าย, 36
แม้จำเลยที่ 1 จะเคยมีสำนักงานอยู่ที่เลขที่ 1745/11 ถนนปิ่นเกล้า - นครชัยศรี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ก็ตามแต่สำนักงานดังกล่าวมิใช่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้ ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ทั้งปรากฏว่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเลขที่1745/11 ดังกล่าวก็ได้ถูกเพลิงไหม้ตั้งแต่ต้นปี 2536 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2536 ต่อโจทก์ และในการยื่นแบบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2536 นั้นจำเลยที่ 1 ระบุว่า อยู่บ้านเลขที่ 19/1 ถนนพญาไท แขวงพญาไท เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร อันเป็นการที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบถึงบ้านเรือนหรือสำนักการค้าของตนที่โจทก์จะติดต่อกับจำเลยที่ 1 ได้หลังจากที่ได้เกิดเพลิงไหม้โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1745/11 สำหรับสำนักงานชั่วคราวซึ่งอยู่ด้านหลังอาคารห้างสรรพสินค้า ว. พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้นำใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินไปส่งและปิดไว้นั้น ก็ได้ความว่าไม่มีป้ายชื่อแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ให้เช่าโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1745/11 และไม่ปรากฏว่ามีธุรกิจอย่างอื่นในสถานที่ดังกล่าวอีก เมื่อโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่ให้เช่าได้ถูกเพลิงไหม้ไปแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องมีสำนักงานไว้ณ สถานที่นั้นอีก นอกจากนั้นสำนักงานชั่วคราวที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์นำแบบภ.ร.ด.8 (ใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน) ไปปิดประกาศไว้นั้นเป็นสำนักงานของห้างสรรพสินค้า ว.ผู้เช่าซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยที่ 1จึงฟังไม่ได้ว่า สำนักงานชั่วคราวที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์นำใบแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินไปปิดไว้ เป็นบ้านเรือนหรือสำนักการค้าของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินไปให้จำเลยที่ 1 ผู้รับประเมินทรัพย์สินได้ทราบโดยชอบ ตามมาตรา 24 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวจำเลยทั้งสี่จึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินตามประเมินและค่าเพิ่มแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5134/2539
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142
ข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นฎีกาตามคำร้องของโจทก์ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ผิดคน จำเลยที่ 4 จึงมิใช่ผู้ค้ำประกันที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลฎีกายกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 แม้คู่ความมิได้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1713
ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713หาจำต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรงของผู้ตายทุกกรณีไม่เมื่อผู้ร้องเป็นบุตรของนายบ. กับนางน. โดยนายบ.อยู่กินฉันสามีภริยากับนางจ.และนางน. ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5หลังจากนางน. มารดาผู้ร้องถึงแก่ความตายนายบ. และนางจ. ร่วมกันยึดถือทำกินที่ดินมือเปล่า4แปลงเมื่อนายบ. ถึงแก่ความตายก็ยังไม่มีการแบ่งที่ดินกันแต่ก่อนที่นางจ. จะถึงแก่ความตายได้ขอออกโฉนดในที่ดิน4แปลงดังกล่าวเป็นชื่อของนางจ. เองดังนี้ผู้ร้องจึงมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วยส่วนหนึ่งในที่ดินทั้ง4แปลงอันเป็นทรัพย์มรดกของนายบ. และนางจ. ผู้ตายถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1713แล้วผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางจ. ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5132/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1373 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84, 182, 183
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นการกำหนดเพื่อให้ได้ความชัดในประเด็นพิพาทของคู่ความส่วนการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นใดก่อนหรือหลังย่อมเป็นไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินกระบวนพิจารณาแต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นต้องวินิจฉัยจากถ้อยคำพยานที่คู่ความนำสืบมาประกอบกันโดยพิจารณาตามภาระหน้าที่ในการพิสูจน์ของแต่ละฝ่ายหาใช้ว่าฝ่ายใดมีหน้าที่นำพยานเข้าสืบก่อนแล้วจะต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของฝ่ายนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ โจทก์ฟ้องว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่1กึ่งหนึ่งอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของสามีโจทก์ที่1ตกได้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยในฐานะทายาทคนละส่วนเท่าๆกันจำเลยต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินพิพาทจำเลยครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวตามข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์สินและจำเลยครอบครองมาด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า10ปีแล้วจึงได้สิทธิครอบครองโจทก์มิได้ดำเนินคดีภายในกำหนด1ปีฟ้องโจทก์ขาดอายุความจึงเป็นเรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างว่าบ้านและที่ดินพิพาทได้มีการแบ่งปันตกเป็นของจำเลยโดยชอบจนกระทั่งจำเลยได้มาซึ่งสิทธิครอบครองตามน.ส.3ก.แม้จำเลยเป็นผู้มีชื่อในน.ส.3กและได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1373ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่จำเลยยังต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์สินตามข้อตกลงของทายาทโดยชอบและได้ครอบครองเพื่อตนและโดยสุจริตอันเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมาใหม่อีกด้วยดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า"โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์พิพาทตามฟ้องหรือไม่และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่"แล้วให้จำเลยเป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อนทั้งสองประเด็นโดยที่ประเด็นข้อหลังภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณาความแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5078/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 7, 640, 680, 691 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 55, 142, 183
จำเลยที่1ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ในฐานะส่วนตัวของโจทก์เองส่วนปัญหาที่ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของสมาชิกกลุ่มสวัสดิการซึ่งสมาชิกของกลุ่มต่างเป็นเจ้าของร่วมกันนั้นแม้จะรับฟังว่าเป็นความจริงก็เป็นกรณีที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกส่วนหนึ่งเมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ปัญหาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการดำเนินการของกลุ่มสวัสดิการเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์พ.ศ.2505นั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่มีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้เพราะโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะเป็นตัวแทนของกลุ่มสวัสดิการแต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ที่จำเลยที่1กู้ยืมไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่2ค้ำประกันไม่เกี่ยวกับการดำเนินการของกลุ่มแต่อย่างใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ สำหรับจำเลยที่1นั้นปรากฏตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.17.2และจ.3ว่าจำเลยที่1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้จำนวนแน่นอนเฉพาะสัญญากู้เอกสารหมายจ.1เท่านั้นคืออัตราชั่งละ1บาทต่อเดือนหรือร้อยละ15ต่อปีส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ระบุเพียงว่ายอมให้ดอกเบี้ยทุกเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จไม่ชัดแจ้งแน่นอนว่าเป็นดอกเบี้ยอัตราเท่าใดต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ผู้ให้กู้จึงมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ7.5ต่อปีสำหรับเงินกู้ตามเอกสารหมายจ.2และจ.3ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา7เท่านั้น ส่วนจำเลยที่2ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่1เฉพาะตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.1และจ.2เท่านั้นส่วนสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.3จำเลยที่2ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญากู้เอกสารหมายจ.3ด้วยจึงไม่ถูกต้องทั้งปรากฏด้วยว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมายจ.4และจ.5มีข้อความเพียงว่าถ้าจำเลยที่1ไม่ชำระหนี้จำเลยที่2จะเป็นผู้ชำระแทนจำเลยที่2ไม่ได้ยอมรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่2ร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ด้วยจึงไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน